ฤดูหีบอ้อยเริ่มแล้ว มิตรผลให้คาถารักษ์โลก 'นะโม ตัดสด' ซื้อใบอ้อยเกษตรกร

ฤดูหีบอ้อยเริ่มแล้ว มิตรผลให้คาถารักษ์โลก 'นะโม ตัดสด' ซื้อใบอ้อยเกษตรกร

การเผาใบอ้อยแม้จะให้ความสะดวก แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์อย่างมาก กลุ่มมิตรผลรณรงค์เกษตรกรเก็บเกี่ยวอ้อยสดแทนการเผา และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบอ้อยจากวิธีการเกษตรที่ยั่งยืน

ฤดูหีบอ้อย หรือที่เรียกว่า "ฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย" เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวอ้อยจากไร่เพื่อนำมาผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปฤดูหีบอ้อยจะเริ่มต้นในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีและยาวไปจนถึงต้นปีถัดไปเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อ้อยเติบโตเต็มที่และมีปริมาณน้ำตาลในต้นอ้อยสูงสุด

กลุ่มมิตรผลเดินหน้าส่งเสริมการตัดอ้อยสด และโดยในฤดูหีบอ้อย 2567/2568 นี้ มีนโยบายรับการซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 900 บาท และตั้งเป้ารับซื้อถึง 700,000 ตัน มุ่งหวังที่จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ซึ่งคืออ้อยที่ถูกเผาทิ้งในไร่อ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว กระบวนการนี้มักเกิดขึ้นเพื่อทำให้การเก็บเกี่ยวเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

โดยปีนี้มาพร้อมกับแคมเปญ “นะโม ตัดสด” คาถารักษ์โลกแห่งการเริ่มต้นที่ยั่งยืน เพื่อสื่อถึงความตั้งใจในการรณรงค์ให้เกษตรกรเริ่มต้นฤดูหีบอ้อยในเดือนธันวาคม ย้ำจุดยืนการเป็นผู้บุกเบิกรับซื้อใบอ้อยที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และคำนึงถึงการตัดอ้อยสดสะอาด คุณภาพดี เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มรายได้จากการขายใบอ้อยเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตมาจากภาคเกษตรของไทย

ช่วยเรา ช่วยไร่ ช่วยโลก 

"บรรเทิง ว่องกุศลกิจ" ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า คาถา “นะโม ตัดสด” เป็นการสร้างสีสันในการรณรงค์ตัดอ้อยสดให้เกษตรกรได้รับรู้และเข้าใจประโยชน์ของการตัดอ้อยสด รวมถึงสร้างการรับรู้เป็นวงกว้างในสังคมตลอดฤดูกาลหีบอ้อย 2567/2568 นี้ เพื่อช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยเรา ช่วยไร่ และช่วยโลก 

การรณรงค์ตัดอ้อยสดผ่านการรับซื้อใบอ้อยของกลุ่มมิตรผล ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์การสร้างความยั่งยืน “Mitr Phol Triple Grows: Grow for Generation, Grow for Green, Grow Together” เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณค่าสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับสังคมไปด้วยกัน

ฤดูหีบอ้อยเริ่มแล้ว มิตรผลให้คาถารักษ์โลก \'นะโม ตัดสด\' ซื้อใบอ้อยเกษตรกร

ที่สำคัญกลุ่มมิตรผลส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร ผ่านโครงการ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” มานานกว่าทศวรรษ เริ่มตั้งแต่การวางผังแปลง การปรับปรุงดิน การปลูก ดูแลรักษาให้อ้อยมีผลผลิตที่ดี จนถึงการเก็บเกี่ยว โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ใบอ้อยสด เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล

"บรรเทิง" กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง รวมปริมาณทั้งสิ้นกว่า 1.7 ล้านตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 2.5 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายใบอ้อยเท่านั้น แต่ยังสร้างความตระหนักรู้และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นได้

“ใบอ้อยที่ซื้อจะใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงส่งเสริมในการนำใบอ้อยบางส่วนไปใช้คลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินตามธรรมชาติ และเพื่อลดการเผาในภาคเกษตร เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสถานการณ์ฝุ่น”

ทำไร่อ้อยได้โดยไม่เผา

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังได้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และชาวไร่อ้อยในพื้นที่ อาทิ การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการดำเนินงานวิจัย เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ในการทำไร่อ้อยได้โดยไม่เผา

ทั้งยังสามารถพัฒนาคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจับมือกับหน่วยงานภาครัฐและผู้นำชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดไฟไหม้ในไร่อ้อยแบบบูรณาการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและป้องการเกิดอ้อยไฟไหม้ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ฤดูหีบอ้อยเริ่มแล้ว มิตรผลให้คาถารักษ์โลก \'นะโม ตัดสด\' ซื้อใบอ้อยเกษตรกร

สถิติ และผลกระทบสภาพภูมิอากาศ

เมื่อต้นปี 2024 กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูล ฤดูการผลิตปี 2566/67 นับตั้งแต่วันเปิดหีบอ้อย (10 ธันวาคม 2023) ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณอ้อยถูกลักลอบเผา 19.55 ล้านตัน และมีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,159 จุด หรือคิดเป็น 6.45%

จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ 33,448 จุด จะเห็นได้ว่ามีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมนอกพื้นที่ปลูกอ้อยสูงถึง 31,289 จุด หรือคิดเป็น 93.55% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ

นอกจากนั้น Think Global Health ระบุว่า สภาพอากาศจากการเผาใบอ้อยเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพที่รุนแรง รวมถึงโรคทางเดินหายใจและการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรในประเทศไทย แต่ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อุตสาหกรรมอ้อยยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลัก สร้างรายได้ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และให้การจ้างงานมากกว่า 1.5 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศ

ความท้าทายคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำไร่อ้อย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ให้เหตุผลในการเผ่าอ้อยว่า การเผามีต้นทุนถูกกว่า เร็วกว่า และใช้แรงงานน้อยกว่าเครื่องจักรเก็บเกี่ยว ซึ่งใช้งานน้อยกว่าร้อยละ 10 ของเวลาทั้งหมด

จึงเป็นภารกิจสำคัญของภาครัฐและเอกชนที่อาจต้องหากลไกอื่นใด เพื่อสนับสนุนวิธีการกำจัดขยะเกษตรแบบไม่เผา ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้ผันผวนและมีต้นทุนการผลิตน้อย ด้วยการเสนอทางเลือกในการยังชีพที่ยั่งยืน

 

 

อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, Think Global Health