ประวัติการณ์ใหม่ SET ESG Ratings บจ.คะแนนสูงทุกมิติ บริษัทเล็กติดชาร์ตเพียบ
ความสำคัญของ SET ESG Ratings ไม่สามารถมองข้ามได้ในภูมิทัศน์การลงทุนในปัจจุบัน ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รุนแรง การจัดอันดับนี้ผลักดันให้แต่ละองค์กรนำเสนอกรอบการทำงานเพื่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)
KEY
POINTS
- ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ SET ESG Ratings 2567 ประเมิน 4 ระดับ คือ BBB, A, AA, AAA รวม 228 บริษัท
- บจ. มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกมิติ เด่นเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้าน Climate และการตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutral และ Net Zero
- บจ. ขนาดกลางและเล็กผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43%
- SET ESG Ratings เป็นหนึ่งในนโยบายการลงทุนของกองทุน Thailand ESG Funds (TESG) และกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง หน่วยลงทุนประเภท ก. คิดเป็น AUM รวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท
- เตรียมปรับแนวทาง SET ESG Rating เป็นฟุตซี่ รัสเซล ของอังกฤษ ปี 2569
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) 228 บริษัท สำหรับปี 2567 ซึ่งเป็นการประกาศผลประเมิน 4 ระดับ คือ BBB, A, AA, AAA เป็นปีที่ 2 หลังจากเปลี่ยนจากการประกาศผลการประเมินแบบรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558
SET ESG Ratings คัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมการประเมิน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยมีการประเมินจากหลากหลายด้าน เช่น การประมาณการและการรักษาภาวะสิ่งแวดล้อม (Environmental Management), การประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Responsibility) การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) และการปฏิบัติตนในการทำธุรกิจ (Business Ethics)
บริษัทที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปีนี้ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14.87 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 82% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 12 ธันวาคม 2567)
เครื่องมือวิเคราะห์เพื่อลงทุน
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศผลประเมินรวมทั้งสิ้น 228 บริษัท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับเทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investment) ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในและต่างประเทศ
“ผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน ใช้ควบคู่กับข้อมูลอื่น ๆ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งนับวันปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) จะยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจ”
ปัจจุบันมีกองทุนบางประเภทที่ใช้ SET ESG Ratings เป็นหนึ่งในนโยบายการลงทุน เช่น กองทุน Thailand ESG Funds (TESG) มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุน (AUM) กว่า 14,545 ล้านบาท และกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง หน่วยลงทุนประเภท ก. มี AUM 150,000 ล้านบาท
ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนด้าน ESG เพิ่มขึ้น สอดรับกับทิศทางความตื่นตัวของ บจ. ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นถึงพัฒนาการทั้งในฝั่งของผู้ลงทุนและ บจ. อย่างต่อเนื่อง
บจ.ที่ผ่านเกณฑ์ 4 ระดับ
บจ.ที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 รวม 228 บริษัท ประกอบด้วย
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AAA มีจำนวนทั้งสิ้น 56 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AA มีจำนวนทั้งสิ้น 80 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ A มีจำนวนทั้งสิ้น 71 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ BBB มีจำนวนทั้งสิ้น 21 บริษัท
สามารถดูรายชื่อบริษัทได้จาก คลิ๊กที่นี่
บริษัทเร่งทำผลงานดีขึ้นทุกมิติ
นายศรพล กล่าวด้วยว่า ในปีนี้มี บจ. ขนาดกลางและเล็กที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่เกิน 10,000 ล้านบาทสามารถผ่านเกณฑ์ SET ESG Ratings ได้ถึง 106 บจ. เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น บจ. มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกมิติ ทั้ง E, S และ G โดยมีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า การวิเคราะห์ผลกระทบและบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
SET ESG Ratings คัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมการประเมิน และมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินผ่าน 50% ในมิติ E, S และ G และต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น เป็นบริษัทที่มีผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทหรือมีกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดเรื่อง ESG จากหน่วยงานทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB, CC, CF, CS เป็นต้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์ประเมินเป็นประจำทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและเทรนด์ ESG ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังติดตามคุณสมบัติของ บจ. ตลอดกระบวนการ หาก บจ. ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์หลังจากที่ประกาศเรตติ้งไปแล้วอาจถูกถอดออกจาก SET ESG Ratings ได้ รวมถึงการขึ้นข้อความเพื่อให้ผู้ใช้ SET ESG Ratings พิจารณาข้อมูล ESG ของบริษัทเป็นการเพิ่มเติม
เตรียมปรับแนวทางเป็น 'ฟุตซี่ รัสเซล'
เมื่อกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประกาศความร่วมมือกับ FTSE Russell (ฟุตซี่ รัสเซล) จากตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSEG) ในการนำกรอบการให้คะแนนความยั่งยืนใหม่มาใช้กับบริษัทจดทะเบียนในไทย แทนการจัดอันดับ SET ESG Rating ที่ใช้อยู่เดิม โดยการประเมินนำร่องจะเริ่มในปี 2567-2568 และจะเผยแพร่ผลคะแนน ESG ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
โดย SET ESG Rating จะเป็นการประเมินความยั่งยืนแบบสมัครใจ แต่ FTSE Russell ใช้การประเมินจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยสู่สาธารณะ (Public Disclosures) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กับกว่า 8,000 หลักทรัพย์ทั่วโลก
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำการประเมินทั้ง SET ESG Rating และ FTSE Russell ESG Scores ในช่วงนำร่อง 1-2 ปีนี้ โดยจะยังไม่มีการเผยแพร่ผลการประเมิน FTSE Russell เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีเวลาปรับตัวและแก้ไข
ในปีแรกจะประเมิน 192 บริษัทใน SET ESG Rating และ 35 บริษัทใน SET 100 ที่ยังไม่เคยถูกประเมิน รวมถึงเปิดโอกาสให้ SMEs สมัครใจเข้าร่วมการประเมินในปี 2568 ด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนบริษัทที่อยู่ใน SET ESG Rating จาก 192 เป็น 300-400 บริษัท