'แผงยาฟอยล์' กลายเป็น 'บล็อกปูพื้น' จุดประกายประโยชน์ 'ขยะกำพร้า'
“อาร์เอ็กซ์ กรุ๊ป” ร่วมกับกรีนโรด Upcycling “แผงยาอะลูมิเนียมฟอยล์” ขยะกำพร้าเป็น “บล็อกปูพื้น” สร้างที่จอดรถผู้พิการและทางเดินให้กับโรงพยาบาลดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 ตัน สร้างเป็นอิฐบล็อกได้จำนวน 5,000 ก้อน เพราะแผงยาที่ใช้แล้ว ไม่ได้สิ้นสุดแค่การรักษา
“ขยะกำพร้า” เป็นมูลฝอย ที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ไม่สะอาด มีการปนเปื้อน และไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจและภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ อย่างเช่น แผงยาอะลูมิเนียมฟอยล์
เป็นที่มาที่ทำให้ อาร์เอ็กซ์ กรุ๊ป (R.X. Group) บริษัทผู้ผลิตยาและบริการสุขภาพในประเทศไทย ริเริ่มการมองหาแนวทางที่จะจัดการกับขยะกำพร้าชนิดนี้อย่างเหมาะสม เนื่องจากในแต่ละวันโรงงานมีการผลิตเฉพาะ “ยาแอร์เอ็กซ์” ราว 2 ล้านเม็ดต่อวัน และมีเศษอะลูมิเนียมฟอยล์ที่ตัดทิ้งจากการใช้ทำแผงยาถึง 10 ตัน ไม่นับรวมที่ทำเป็นแผงยาแล้ว แต่กลับไม่มีใครรับซื้อเพื่อไปรีไซเคิล กระทั่งได้พาร์ตเนอร์เป็น “กรีนโรด” ให้มุมมองเรื่อง “Upcycling” สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นของใช้ได้หลายชนิด
อิฐบล็อกแผงยาอะลูมิเนียมฟอยล์
หทัยรัตน์ อุดมลาภธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อาร์เอ็กซ์จำกัด กล่าวว่า เหตุที่เลือกทำเป็น อิฐบล็อก เพราะถ้าทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ก็มีการทำจากขยะอื่นๆ มากอยู่แล้ว แต่หากทำเป็นบล็อกปูถนน ปูพื้นน่าจะดีกว่า เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งกรีนโรดมีงานวิจัยรองรับว่าบล็อกปูพื้นสามารถคงทนอยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี
โครงการ “แผงยาช่วยโลก” จึงเกิดขึ้น โดยใช้ขยะจากโรงงานของบริษัทฯ และรับบริจาค แผงยาอะลูมิเนียมฟอยล์ ที่ไม่มีพลาสติกผสมทุกชนิดยาและทุกยี่ห้อ มีการตั้งจุด Drop off รับบริจาคตามสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านยา คลินิก โรงพยาบาล บริษัทเอกชน และโรงภาพยนตร์ SFทั่วประเทศ ซึ่งขยะชนิดนี้ 2 ตัน สามารถทำเป็น อิฐบล็อก ได้ 5,000 ก้อน เมื่อรวบรวมได้จำนวนตามต้องการแล้วก็เข้าสู่กระบวนการขึ้นรูป ก่อนนำไปทำลานจอดรถสำหรับผู้พิการ 2 ช่อง และทางเดินให้กับโรงพยาบาลดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งอนาคตมีแผนศึกษาเพื่อจะขยายผลไปสู่การนับคาร์บอนเครดิตของขยะแผงยาอะลูมิเนียมฟอยล์ด้วย
ก่อเกิดประโยชน์ทางตรง-ทางอ้อม
“มุ่งเป้านำไปใช้ประโยชน์กับโรงพยาบาล ด้วยธุรกิจหลักของบริษัทฯ เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเป็นหลักเช่นกัน และเลือกดำเนินการที่โรงพยาบาลดอยหล่อ เพราะทราบว่าโรงพยาบาลจะไม่ผ่านมาตรฐานโรงพยาบาลถ้าไม่มีที่จอดรถผู้พิการ บวกกับเห็นว่าทางเดินภายในโรงพยาบาลยังเป็นดินถม มีความขรุขระ แอ่งน้ำขัง สร้างความลำบากในการเดินทางให้กับผู้ป่วยและญาติ” หทัยรัตน์ กล่าว
ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ มิใช่เพียงแต่สร้างประโยชน์โดยตรงจาก “ขยะแผงยา” ทำเป็นอิฐบล็อกปูพื้นเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์ทางอ้อม โดยเฉพาะการสร้างความรับรู้เรื่องการแยกขยะให้กับชาวบ้านใน อ.ดอยหล่อ ด้วย จากการที่ได้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านมี การคัดแยกขยะ ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าใช้จ่ายจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ลดลงกว่า 1 แสนบาท นอกจากนี้ ลดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ลดลงมาก
เลิกใช้พลาสติกท่ามกลางเสียงค้าน
นอกจากนี้ อาร์เอ็กซ์ กรุ๊ป ยังดำเนินการเรื่อง “ลดการใช้พลาสติก” ซึ่งแต่ละปีบริษัทฯ ใช้พลาสติกในการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ เฉพาะยาแอร์เอ็กซ์ตัวเดียวถึง 3,000 กิโลกรัม จึงเริ่มปรับจากยาตัวนี้ก่อน โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หลังมีการยกเลิกการใช้พลาสติกในส่วนนี้ สามารถลดขยะพลาสติกไปได้ถึง 24,000 กิโลกรัม
หทัยรัตน์ เล่าว่า ช่วงแรกเริ่มที่จะมีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ได้รับเสียงคัดค้านทั้งจากคู่ค้าและเซลของบริษัทที่เกรงว่าผลิตภัณฑ์จะดูไม่พรีเมียมแล้วจะขายไม่ได้ราคา ไม่กันฝุ่น ลูกค้าจะไม่ซื้อ แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าคนซื้อยาไม่ได้ซื้อเพราะแพ็กเกจมีการใช้พลาสติกห่อหุ้มแน่นอน และหากดำเนินการสำเร็จก็จะเป็นการเปลี่ยนบรรทัดฐานใหม่ด้วย จึงตัดสินใจเดินหน้าเรื่องนี้
“แม้มีเสียงค้าน แต่เราเชื่อว่าแบรนด์ยาแอร์เอ็กซ์มีความมั่นคงเพียงพอ แม้จะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ด้วยการเลิกใช้พลาสติกหุ้ม คนก็จะยังเลือกซื้อ และก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะยอดขายไม่ได้ลดลง และขณะนี้เหลือเพียงยาปฏิชีวนะเท่านั้นที่ยังมีการใช้พลาสติก ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเลิกใช้เช่นกัน” หทัยรัตน์ กล่าว
ต้องมองมิติสังคม
ไม่เฉพาะแต่ด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น “มิติทางสังคม” เป็นสิ่งที่ อาร์เอ็กซ์ กรุ๊ป ให้ความสำคัญเช่นกัน ที่ผ่านมา สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเด็กออทิสติก ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพ พรสวรรค์ในด้านศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นระเบียบ ขณะที่จากเด็กราว 3 แสนคน มีเพียง 3%ที่มีงานทำ
บริษัทฯ ได้เข้าไปขอให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น โลโก้ไอศกรีมแอร์เอ็กซ์ หมวก ร่ม กระเป๋า กระติกน้ำตั้งแต่ต้นปี 2567 ขายผลิตภัณฑ์ได้ 8,000 กว่าชิ้น นอกจากนี้ยังนำภาพที่เด็กวาดไปจัดประมูลภายในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้าของบริษัทฯ ด้วย ช่วยสร้างรายได้ให้กับเด็ก และในปี 2568 บริษัทฯ จะต่อยอดเรื่องความยั่งยืน โดยดำเนินโครงการ make it right ส่งเสริมให้คนไทยใช้ยาอย่างถูกต้อง ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) จัดทำคลิปวิดีโอสั้น หรืออินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย ในการให้ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้องและไม่ทำให้เชื้อดื้อยา
ธุรกิจต้องเริ่มขยับก้าวแรก
หทัยรัตน์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการของ อาร์เอ็กซ์ เพียง 1 บริษัท ยังสามารถลดปริมาณขยะได้มากเช่นนี้ หากธุรกิจและบริษัทต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นจะสามารถขับเคลื่อนความยั่งยืนให้กับโลกได้ ทางตรงกันข้ามหากมีบริษัทที่ไม่ตระหนักในเรื่องนี้ จะสร้างผลกระทบในทางเสียหายต่อโลก จึงอยากให้มีการเริ่มต้นก้าวแรกซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุดที่ภาคธุรกิจจะต้องใส่ใจเรื่องนี้
“ต้องการเป็นบริษัทยาแรกที่จุดประกายธุรกิจในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะทำให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง ต้องให้ความสำคัญกับคน ต้องให้มี Eco conscious ให้รู้สึกว่าต้องรักษ์โลก ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสังคม เศรษฐกิจ ความยั่งยืนจะต่อยอดตามมาเอง และจาก 1 จะกระจายต่อยอด” หทัยรัตน์ กล่าว