โมแดลดอยตุง จัดการขยะยั่งยืน ส่งต่อความสำเร็จชุมชนสู่ บิ๊กคอร์ป zero waste
“การจัดการขยะ” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองและชุมชน ในปัจจุบันประเทศไทยมีขยะจำนวน 27 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 9 ล้านตันมีการนำไปใช้ประโยชน์ จำนวน 10 ล้านตันมีการจัดการที่ดีโดยการฝังกลบ ส่วนอีก 7 ล้านตันยังมีระบบการจัดการที่ไม่เหมาะสม
KEY
POINTS
- “การจัดการขยะ” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองและชุมชน
- ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะจำนวน 27 ล้านตันต่อปี อีก 7 ล้านตันยังมีระบบการจัดการที่ไม่เหมาะสม
- มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเอาแนวคิดและวิธีในการจัดการขยะมาใช้ในพื้นที่ดอยตุง อย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง 24 ชุมชน
- ปัจจุบันในบทบาทที่ปรึกษามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯช่วยให้ 4 บริษัทขนาดใหญ่นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ มุ่งสู่ zero waste
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเอาแนวคิดและวิธีในการจัดการขยะมาใช้ในพื้นที่ดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายอย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียงได้อย่างประสบผลสำเร็จ และในปัจจุบันโมเดลจัดการขยะจากโครงการพัฒนาดอยตุงได้ถูกขยายผลโดยมี 4 บริษัทขนาดใหญ่ที่ขอให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯนำเอาองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญที่ใช้ในโครงการพัฒนาดอยตุง หรือใช้ “ดอยตุงโมเดล”มาใช้ในการเป็นที่ปรึกษาบริหารจัดการขยะในองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่อง “zero waste”
ดร. ธนพล ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2555 ทางโครงการดอยตุงเริ่มดำเนินการคัดแยกขยะที่ศูนย์จัดการขยะ ผลจากการดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปี สามารถลดปริมาณขยะไปสู่บ่อฝังกลบได้เฉลี่ย 40% และในช่วงปี 2559-2560 เฉลี่ยลดขยะได้กว่า 15% จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2561-ปัจจุบัน ไม่มีขยะถูกส่งไปยังบ่อฝังกลบอีก หรือมีอัตรา 0 % ต่อมาโครงการได้ขยายส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังหมู่บ้าน ในอำเภอแม่ฟ้าหลวง
ซึ่งขณะนี้มี 24 หมู่บ้าน ที่สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกวิธี โดยเมื่อมูลนิธิฯ ดำเนินการในพื้นที่โครงการได้สำเร็จแล้ว มูลนิธิฯ ได้ขยายผลสู่หมู่บ้านในเขต องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง 24 หมู่บ้าน และโรงเรียนในเขตรับผิดชอบ 8 โรงเรียน ผ่านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มมูลค่าให้ขยะ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายไม่มีขยะสู่บ่อฝั่งกลบในพื้นที่ขยายผลภายในปี 2568
“ในปัจจุบัน โครงการพัฒนาดอยตุง ได้เปิดให้บริการเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานและบริษัทเอกชนในด้านการบริหารจัดการขยะ ซึ่งในขณะนี้มีสี่บริษัทที่ทางโครงการฯได้นำ“ดอยตุงโมเดล” ด้านการกำจัดขยะ ไปช่วยในการบริหารจัดการขยะ คาดว่าในอนาคตจะมีบริษัทเอกชนหลายบริษัทที่สนใจโมเดลของดอยตุง”
ดร. ธนพลกล่าวว่ากลยุทธ์หลักของการจัดการขยะตามดอยตุงโมเดล อยู่ที่ “การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง” และสามารถแยกขยะได้มากถึง 44 ประเภท ทั้งนี้การคัดแยกขยะสามารถสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ ความสามารถในการบริหารจัดการขยะเป็นหนึ่งใน “ดอยตุงโมเดล” และกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นที่เรียนรู้ของผู้ที่สนใจแก้ปัญหาขยะ ต้องเดินทางมาศึกษา การคัดแยกขยะที่ครบวงจรจากที่นี่
"ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะจำนวน 27 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 9 ล้านตันมีการนำไปใช้ประโยชน์ จำนวน 10 ล้านตันมีการจัดการที่ดีโดยการฝังกลบ ส่วนอีก 7 ล้านตันยังมีระบบการจัดการที่ไม่เหมาะสม หากสามารถนำเอาความรู้เรื่องการจัดการขยะไปใช้ในวงกว้างได้จะลดปัญหาขยะของประเทศลงไปได้มาก"
นายวสันต์ พรมมาลี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 บ้านห้วยน้ำขุ่น หนึ่งใน 24 หมู่บ้านในเขตพื้นที่พัฒนาดอยตุง ที่สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกวิธี เปิดเผยว่าเนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภูเขา และเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ไม่มีพื้นที่ในการฝังกลบขยะ ทางอบต. บ้านห้วยน้ำขุ่น ได้เช่าพื้นที่เพื่อนำขยะไปฝังกลบนอกพื้นที่ โดยกำหนดเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนก.ย.2562- ก.ย. 2563 แต่ปรากฏว่าบ่อฝังกลบขยะเต็มภายในเวลาเพียงหนึ่งปี
หลังจากที่มีการบริหารจัดการขยะตามแนวทางของโครงการพัฒนาดอยตุง ได้ปิดบ่อฝังกลบขยะ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2563 เนื่องจากไม่มีขยะฝังกลบ คือขยะมีอัตราเป็นศูนย์ หลังจากที่ได้คำแนะนำในการจัดการขยะจากโครงการดอยตุง
ผู้ใหญ่บ้านวสันต์กล่าวว่า ในปลายปี 2562 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการขยะระดับหมู่บ้าน ซึ่งในระยะเวลาเพียงสามเดือน สามารถบริหารจัดการขยะได้อย่างถูกวิธี โดยหากหมู่บ้านใดไม่สามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้องจะใช้วิธีการตักเตือนและปรับ แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมายังไม่มีการปรับลูกบ้าน มีเพียงการตักเตือนเท่านั้น
ปัจจุบันพื้นที่หมู่ 17 บ้านห้วยน้ำขุ่น มีจำนวน 210 ครัวเรือนและมีผู้อาศัยทั้งหมด 1,200 คน โดยนายวสันต์ได้นำลูกบ้านให้มีการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง โดยตั้งแต่ปี 2562 มีการฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ ติดตั้งระบบถังขยะในทุกครัวเรือน ประกอบด้วยขยะหกประเภท แยกขยะนำใส่ถุงใสมาทิ้งที่จุดรับบริจาคขยะเพื่อให้อบต. นำไปจัดการต่อ
เมื่อปี 2564 หมู่ที่ 17 ของหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่นได้รางวัลชนะเลิศในการบริหารจัดการขยะจากโครงการ พัฒนาดอยตุง และได้รางวัลอันดับสองในระดับประเทศจากการบริหารจัดการขยะอัตราเป็น 0% (Zero waste) ในปี 2565 และเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการนำพระราชดำริมาใช้ในการบริหารจัดการขยะ และเป็นพื้นที่ต้นแบบในการดูงาน และการศึกษาเรื่องการจัดการขยะ
ในปัจจุบันอบต. แม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวงได้กำหนดตารางในการเก็บขยะ โดยทุกวันจันทร์จะมีการเก็บขยะเปื้อนหรือเปื้อนมากๆเช่นพลาสติกหรือขยะอื่นๆที่เปียกน้ำหรือเปื้อนมาก โดยทุกหมู่บ้านจะต้องมาส่งขยะภายใน 10 โมง ถ้ามาสายก็จะไม่รับ สำหรับทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่สองและสี่ของทุกเดือนจะเป็นการเก็บขยะประเภทขยะเชื้อเพลิงขยะพลังงาน ทุกวันพุธเป็นการเก็บขยะประเภทขยะห้องน้ำและทุกวันศุกร์แรกของทุกเดือนจะเป็นขยะประเภทอันตราย
นอกจากนี้ได้มีเงินบริจาคจำนวนห้าล้านบาทจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ สำหรับอบต. แม่ฟ้าหลวงในการจัดตั้ง ศูนย์จัดการขยะชุมชนตำบลแม่ฟ้าหลวงซึ่งมีเครื่องจักรในการแยกขยะ เครื่องล้าง พลาสติกเปื้อน และเครื่องบดแก้ว เพื่อนำไปใช้ใหม่ ผลจากการกำจัดขยะในตำบลแม่ฟ้าหลวงปี 2567 มีการจัดการขยะจำนวน 177 ตัน ที่ไม่ต้องไปฝังกลบในบ่อ มีการรับคณะศึกษาดูงานจำนวน 10 คณะรวม 262 คน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 380 ตันเทียบเท่ากับป่า 394 ไร่ เกิดการจ้างงานเป็นมูลค่าประมาณ 900,000 บาท
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินการโครงการจัดการขยะที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้จัดระบบการคัดแยกขยะที่ปลายทางในปี 2555 ที่ศูนย์จัดการขยะดอยตุง ซึ่งมีขยะถูกทิ้งในบ่อฝังกลบ 40% มูลนิธิฯ ดำเนินการต่อเนื่องในการลดขยะสู่บ่อฝั่งกลบ และสามารถบรรลุเป้าหมายให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ไม่มีขยะสู่บ่อฝั่งกลบในปี 2561
ในปี 2561 มูลนิธิฯ ได้จัดการขยะจากต้นทางโดยการคัดแยกขยะตามการนำไปใช้ประโยชน์ แบ่งขยะออกเป็นหกชนิดได้แก่ วัสดุรีไซเคิล ขยะย่อยสลายได้ ขยะเปื้อน ขยะพลังงาน ขยะห้องน้ำห้องน้ำ ขยะอันตราย และได้แยกละเอียดตามการใช้ประโยชน์เป็น 44 ชนิด เมื่อแยกขยะตามประเภทที่คัดแยกแล้ว มูลนิธิฯ มีวิธีการจัดการขยะแต่ละประเภทเพื่อไม่ให้มีขยะสู่บ่อฝั่งกลบและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเส้นทางขยะของโครงการพัฒนาดอยตุง ประกอบด้วยการนำไปจำหน่ายร้านรับซื้อของเก่า การล้างและปั่นแห้งเพื่อจำหน่าย การนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล การเผาด้วยเตาเผาขยะมลพิษต่ำ