ถอดบทเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย เตรียมแนวทางแก้ไขเพื่อปี 2568
ปี 2024 ได้นำเสนอความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ตั้งแต่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ไปจนถึงมลพิษที่เพิ่มขึ้น และการเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อเราทบทวนปัญหาเหล่านี้ จะเห็นได้ชัดว่าการเข้าใจและแก้ไขสาเหตุของปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต
ในปี 2567 ประเทศไทยต้องเผชิญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ตั้งแต่น้ำท่วมรุนแรง คลื่นความร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2568 เรามาทบทวนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา พร้อมกับเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนและความปลอดภัยให้กับสิ่งแวดล้อมและประชาชนไทยในระยะยาว
เมื่อมองไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติที่ยั่งยืน ลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กร และชุมชน
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้ถอดบทเรียนสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย และสิ่งแวดล้อมโลกตลอดปี 2567 และคาดการณ์สถานการณ์ปี 2568 สรุปได้ดังนี้
PM2.5 ในไทย จากการเผาของประเทศเพื่อนบ้าน
ต้นปีเราประสบปัญหากับมลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่มาจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งบนเนินเขา ในพื้นที่ป่า และการเผาของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้เกิดหมอกควันข้ามพรมแดน ในพื้นที่ภาคกลางก็เกิดปัญหาจากการเผาพื้นที่โล่ง มลพิษจากโรงงาน และในส่วนของกรุงเทพมหานครส่วนมากจากมลพิษทางการจราจร ที่มีผู้ใช้ยานพาหะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการปล่อยควันรถบนท้องถนน และการเผสาในพื้นที่เกษตรในบริเวณชานเมืองและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่มีลักษณะอากาศนิ่ง และไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายตัวของอากาศ
มลพิษจากขยะชุมชน
อีกประเด็นที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาด้านมลพิษจากขยะชุมชน โดยประเทศไทยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีขยะประมาณ 24 -25 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 พบว่าปัญหาขยะเพิ่มขึ้นถึง 28- 29 ล้านตันต่อปี หากการบริหารจัดการขยะบนฝั่งไม่ถูกต้อง จะมีขยะไหลลงแหล่งน้ำ ทะเลและเป็นปัญหาสะสม โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่สะสมในห่วงโซ่อาหาร และกลับเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ในปีหน้าก็จะมีกติกาโลกเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติกออกมาควบคุมด้วยที่ประเทศไทย จะต้องเตรียมความพร้อม
สภาพอากาศแปรปรวน
นอกจากนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม สำคัญในปีนี้เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแปรปรวนสภาพอากาศ ส่งผลต่อความแห้งแล้งในช่วงต้นปี และน้ำท่วมช่วงปลายปีในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย และพื้นที่ภาคใต้ วิกฤตที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นทั้งความถี่ และความรุนแรง โดยน้ำท่วมที่เชียงรายได้นำพาตะกอนมาจำนวนมาก จะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณในการฟื้นฟูจำนวนมาก
ส่องปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง สามารถแยกได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ ในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาภาวะมลพิษ
ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยปัจจุบันพบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โดยตามความตกลงปารีสเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มีเป้าหมายหลักในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม โดยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลายส่งผลสู่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และในอนาคตอาจเกิดเป็นวิกฤตต่าง ๆ ที่ตามมาได้ รวมถึงยังมีผลกระทบต่อการแปรปรวนสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อย่าง เอลนีโญ หรือลานีญา เป็นต้น
ขณะเดียวกันทั่วโลกยังให้ความสำคัญในเรื่องความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเปรียบเทียบกับช่วงก่อนพัฒนาอุตสาหกรรม ประมาณ 280 ppm ซึ่งตอนนี้พบในปริมาณ 420 ppm ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก สำหรับประเทศไทยพบว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ถึง 1% ของทั่วโลก แต่กลับอยู่ในอันดับ 9 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญไทยให้ความสําคัญในการจัดการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากปัญหาโลกร้อน ส่งผลถึงมหาสมุทรด้วยเช่นกันเมื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้ความเป็นกรดสูงขึ้น และอุณหภูมิของทะเลมหาสมุทรก็สูงขึ้นด้วย ผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ เกิดปะการังฟอกขาว ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวมถึงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบพะยูนตายไปกว่า 30 ตัว สาเหตุส่วนหนึ่งจากการสูญเสียแหล่งอาหาร คือหญ้าทะเลที่ได้
ตายเป็นบริเวณกว้างมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทรัพยากรประมง และสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะพะยูนที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงความน่ากลัวจากภัยของโลกร้อนที่ส่งผลกระทบมาถึงความสูญเสียความหลากหลายชีวภาพ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ข้อมูลเสริมว่า ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่หันมาให้ตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยได้บูรณาการประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเรื่องการค้าและการลงทุน โดยสิ่งที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประการสำคัญคือ การผลิตและการบริโภคที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานสะอาด ความตื่นตัวมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบแนวโน้มในการใช้รถ EV ที่และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม ในขณะเดียวกันเรื่องการจัดเก็บพลังงานเพื่อให้เกิดความเสถียรมากพอ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ ความมั่นคงทางพลังงาน และการรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันพลังงานทางเลือกที่ประเทศต่างๆ เห็นว่าจะเป็นทางออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) หรือ Small Modular Reactor เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก ซึ่งหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และแถบยุโรป เริ่มมีการศึกษาแล้ว ขณะที่ประเทศไทยก็ต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมในหลายมิติ เพื่อให้การวางแผนระยะยาวและให้เกิดการสมดุลทั้งในเรื่องการลดพลังงานจากน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ขณะเดียวกันพลังงานทดแทนก็ต้องเข้ามาช่วยเสริมในสิ่งที่ถูกลดลงไป
ในขณะเดียวกันทั่วโลกก็มีการพูดถึง และตื่นตัวในเรื่องคาร์บอนเครดิต เพื่อให้การซื้อขายอย่างมีกฏระเบียบที่ชัดเจน เราจะมีการดำเนินการให้เหมาะสม ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯอยู่ในระหว่างการดำนเนินการออกระเบียบ เพื่อให้มีความชัดเจน รวมทั้งการซื้อ - ขาย มีการแลกเปลี่ยนอย่างไร ทั้งในและต่างประเทศ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม และสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อลดความกังวลของฝ่ายที่เข้าใจว่าเป็นกระบวนการฟอกเขียวของผู้ประกอบการ
ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย สำหรับเป้าหมายของประเทศไทยในตอนนี้ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 แม้จะเป็นเวลาอีกราว 20 – 30 ปี แต่จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เพื่อมีเป้าหมายและการดำเนินงานความเป็นกลางไปสู่เป้าหมายโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยส่วนหนึ่งต้องมีพื้นที่สีเขียวเพื่อมาดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ตามยุทธศาสตร์ชาติจะมีพื้นที่สีเขียวของประเทศไทยประมาณ 55% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งหากสามารถสร้างได้ทั้ง ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าในเมือง จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาได้กว่า 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งการดำเนินงานในการลดการปล่อย โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการลด และหากได้รับความร่วมมือกับภาคภาคเอกชนจะสามารถขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมายตามกรอบเวลาได้ เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพื่อทางเลือก แต่คือทางรอด ทุกคนสามารถสำรวจกิจกรรมที่สามารถทำได้ ทั้งในการลดการใช้พลังงาน ลดของเสียต่าง ๆ ปลูกต้นไม้ในบ้าน หรือหลายพื้นที่เปิดโอกาสให้ปลูกต้นไม้ สามารถที่จะช่วยโลกและช่วยตัวเราเองได้