"ก่อกวน-เลี้ยงให้อ้วน-ลดอุณหภูมิ"ขั้นตอนฝนหลวงปราบฝุ่นPM2.5

"ก่อกวน-เลี้ยงให้อ้วน-ลดอุณหภูมิ"ขั้นตอนฝนหลวงปราบฝุ่นPM2.5

หลังปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2567 -16 ธ.ค.2567ที่ผ่านมาพบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ มีค่าฝุ่นละอองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปี2566

สำหรับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทั้งรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญอย่างมาก จึงส่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้เดินหน้าปฏิบัติการบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนืออย่างเอาจริงเอาจัง

 สำหรับแนวทางการปฏิบัติการได้น้อมนำตำราฝนหลวงพระราชทานมาปรับใช้ในการดัดแปรสภาพอากาศตามเทคนิคลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน การโปรยน้ำแข็งหรือการสเปรย์น้ำเพื่อระบายฝุ่นละอองและการปฏิบัติการก่อเมฆสำหรับช่วยดูดซับฝุ่นละอองแบบเชิงรุก ทั้งนี้ เป้าหมายหลักคือการคืนอากาศดีและสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน

ก่อนหน้านี้  อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าภารกิจการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5   ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พร้อมระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จึงได้มอบหมายกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ 6 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระยอง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแพร่ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละลองในอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งน้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในการปฏิบัติการแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแผนการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละลองในอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ โดยการต่อยอดตำราฝนหลวงพระราชทานสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงและปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ มีจำนวน 3 เทคนิค ได้แก่

1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย

2.การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่ เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง 

3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำเพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน

 ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรพร้อมปฏิบัติภารกิจทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองตามนโยบายจากรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลและพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพอากาศที่ดีท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและมีความสุข