รวมปรากฏการณ์ธรรมชาติ สุดเหลือเชื่อตลอดปี 2024
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม “ปรากฏการณ์ธรรมชาติ” สุดเหลือเชื่อจากทั่วโลกตลอดปี 2024 ที่เป็นผลมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ปี 2024 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นปีแรกที่มีอุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี และเกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติแปลก ๆ อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็นตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นเพราะ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเป็นผลจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
‘ทะเลทรายซาฮารา’ กลายเป็นสีเขียว
พื้นที่บางส่วนของ “ทะเลทรายซาฮารา” มีพืชพรรณต่าง ๆ งอกงามอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นสีเขียวจนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่ควรจะเป็นเช่นนี้
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดพายุพัดผ่านมาในพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา จนดาวเทียมของนาซาได้บันทึกภาพพืชพรรณที่บานสะพรั่ง ทั้ง ๆ ที่พื้นที่บริเวณนี้ไม่ควรมีเป็นสีเขียวด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ด้วย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเหตุการณ์นี้จาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
พื้นที่แห้งแล้งที่ไม่มีฝนตกในโมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และลิเบีย กำลังเริ่มมีสีเขียวขึ้น จากการงอกงามของไม้พุ่มและต้นไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำ หลังจากที่เกิดฝนตกหนัก
ตามข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศของ NOAA พบว่า ร่องมรสุมเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากกว่าปรกติ แต่ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพายุพัดเข้าสู่ทะเลทรายซาฮาราตอนใต้ รวมถึงบางส่วนของไนเจอร์ ชาด ซูดาน และภูมิภาคเหนือไกลของลิเบีย ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น 2-6 เท่า
อ่านต่อ: ‘ทะเลทรายซาฮารา’ มีต้นไม้ขึ้นเขียว จนผิดธรรมชาติ หลังพายุถล่ม ‘แอฟริกา’
‘ทุ่งดอกไม้’ บานเต็มทะเลทราย
“ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ทำให้เกิดความร้อนถล่มทั่วเอเชียมาแล้วในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในอีกซีกโลกหนึ่งเอลนีโญกลับช่วยให้ดอกไม้บานสะพรั่งเต็มพื้นที่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในชิลี
“ทะเลทรายอาตากามา” ทางตอนเหนือของชิลี ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ทะเลทรายที่แห้งแล้งแห่งนี้กลับมามีสีสันสดใสอีกครั้ง ด้วยดอกไม้นานาพรรณที่เบ่งบานทอดยาวหลายร้อยกิโลเมตร
เมื่อมีระดับฝนและอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยชุบชีวิตพืชทะเลทรายที่หลับใหลให้กลับขึ้นมาชีวิตอีกครั้ง จนได้รับขนานนามว่า “Desierto Florido” หรือ ทะเลทรายที่เต็มไปด้วยดอกไม้
ทะเลทรายกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าเหมืองแร่ แหล่งเศรษฐกิจสำคัญของอเมริกาใต้ ที่กำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามเป็นพิเศษจากการขุดแร่หิน การรักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
‘หิมะตก’ กลาง ‘ทะเลทราย’ ในซาอุดีอาระเบีย
เกิดฝนตกและลูกเห็บตกหนักในภูมิภาคอัลจาวฟ์ของซาอุดีอาระเบีย ทำให้เกิด “หิมะตก” ใน พื้นที่ทะเลทรายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ชาวบ้านต่างโพสต์รูปภาพและวิดีโอทะเลทรายที่ปกคลุมไปด้วยหิมะลงบนโซเชียลจนกลายเป็นไวรัล
สำนักข่าวซาอุดีอาระเบียกล่าวว่าสภาพอากาศที่ผิดปกตินี้ ทำให้แม่น้ำและน้ำตกในภูมิภาคมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ลำธารในภูมิภาคก็กลับมาไหลอีกครั้ง หลังจากพายุลูกเห็บที่พัดกระหน่ำ
ตามข้อมูลศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติระบุว่าสภาพอากาศที่แปลกประหลาดนี้ เป็นผลจากความกดอากาศต่ำที่หายากเหนือทะเลอาหรับ ซึ่งพาความชื้นเข้ามา เมื่อเผชิญกับความร้อนที่รุนแรงของทะเลทราย ก็ก่อให้เกิดสภาพอากาศที่ผิดปรกติที่ไม่เคยเกิดทั้งฝนตก พายุลูกเห็บ และหิมะ ทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อภูมิภาค
อ่านต่อ: หิมะตกกลางทะเลทราย ครั้งแรกใน ‘ซาอุดีอาระเบีย’
‘แอนตาร์กติกา’ กลายเป็นสีเขียว
พืชพรรณขึ้นปกคลุมทวีป “แอนตาร์กติกา” อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่อง
“แอนตาร์กติกา” ทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งกำลังเปลี่ยนเป็น “สีเขียว” ด้วยพืชพรรณนานาชนิดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งสูงจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความกังวลว่าจะเกิด “หายนะ” ขึ้นกับทวีปนี้
นักวิทยาศาสตร์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลวิเคราะห์ระดับพืชพรรณบนคาบสมุทรแอนตาร์กติก ในบริเวณเทือกเขาที่ทอดยาวไปทางเหนือจนถึงปลายทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมาก
ตามการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์และเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ในอังกฤษ และคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience พบว่าพืชพรรณส่วนใหญ่ เช่น มอสส์ ได้เพิ่มขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายนี้มากกว่า 10 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
“มอสส์” มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนพื้นผิวหินให้กลายเป็นดิน ซึ่งอาจนำไปสู่พืชที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต อาจรวมถึงเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เข้ามาแย่งพื้นที่เติบโตของพืชและสัตว์ท้องถิ่นในแอนตาร์กติกาได้
อ่านต่อ: ‘แอนตาร์กติกา’ กลายเป็น ‘สีเขียว’ น้ำแข็งละลาย พืชพรรณขึ้นเต็ม เพราะ ‘โลกร้อน’
‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ไร้ ‘หิมะ’ ปกคลุม
“ภูเขาไฟฟูจิ” ยังคงไร้ “หิมะ” ปกคลุม ทำให้ปี 2024 เป็นปีที่หิมะตกบนภูเขาไฟฟูจิช้าสุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้ในรอบ 130 ปี ตามข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น
โดยเฉลี่ยแล้ว ภูเขาไฟฟูจิเริ่มจะมีหิมะเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ส่วนในปี 2023 มองเห็นหิมะปกคลุมบนยอดภูเขาไฟครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม แต่เนื่องจากอากาศอบอุ่นซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ ในตอนนี้ยังไม่พบหิมะตกบนภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น
จากข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นโคฟุระบุว่า จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม แล้วก็ยังไม่มีหิมะตกมาบนภูเขาไฟฟูจิ ทำให้กลายเป็นปีที่มีหิมะตกช้าที่สุด สถิติเดิมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งเคยเกิดขึ้นสองครั้งในปี 1955 และ 2016
ฤดูร้อนญี่ปุ่นในปี 2024 ถือเป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่ารุนแรงระดับเดียวกับปี 2023 เนื่องจากคลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ทั่วโลก
อ่านต่อ: ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ไม่มี ‘หิมะ’ ปกคลุม หิมะตกช้าสุดในรอบ 130 ปี