‘โลกร้อน’ ดัน ‘เงินเฟ้อ-ราคาอาหาร’ พุ่งสูง อากาศสุดขั้ว ทำให้ผลิตพืชผลไม่พอ

‘โลกร้อน’ ดัน ‘เงินเฟ้อ-ราคาอาหาร’ พุ่งสูง อากาศสุดขั้ว ทำให้ผลิตพืชผลไม่พอ

การศึกษาวิจัยใหม่พบว่า “ภาวะโลกร้อน” เชื่อมโยงกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ประเทศโลกที่สามได้รับผลกระทบมากที่สุด

KEY

POINTS

  • ภายในปี 2035 อัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 0.8-0.9% เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ถ้าหากยังไม่มีนโยบายด้านสภาพอากาศมาหยุดยั้ง หรือเกิดขึ้นสายเกินไป อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอาจสูงถึง 3.23 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลก 1.18% ภายในปี 2035
  • ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

การศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและธนาคารกลางยุโรป ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Communications, Earth and the Environment พบว่าราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อโดยรวมเพิ่มขึ้น เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยนักวิจัยคำนวณได้ว่า ภายในเวลาประมาณ 10 ปี ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 1.5-1.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยจะสูงขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนอยู่แล้ว เช่น ตะวันออกกลาง

หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 0.8-0.9% ภายในปี 2035 เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และภายในปี 2060 สภาพอากาศจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยราคาอาหารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2-4.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นั่นหมายถึงอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 1.1-2.2% ตัวเลขอาจดูเล็กน้อย แต่สำหรับธนาคารที่ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อแล้วตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญมาก 

แม็กซ์ คอตซ์ หัวหน้าคณะนักวิจัยด้านสภาพอากาศจากสถาบันพ็อทซ์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบต่อสภาพอากาศ ในเยอรมนี กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะมีผลต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนสามารถทำลายสวัสดิการของมนุษย์ สวัสดิการทางเศรษฐกิจได้”

จนถึงปัจจุบัน ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศมักจะเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่หลักฐานบ่งชี้ว่าถ้าหากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรง และยังไม่มีนโยบายด้านสภาพอากาศมาหยุดยั้ง หรือเกิดขึ้นสายเกินไป อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอาจสูงถึง 3.23 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลก 1.18% ภายในปี 2035

ผลการวิจัยดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์ดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือนและข้อมูลสภาพอากาศใน 121 ประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้ในการหาว่าอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างไร จากนั้นจึงนำไปรวมกับแบบจำลองสภาพอากาศที่คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นในอนาคตในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าภายใต้สถานการณ์การปล่อยมลพิษต่าง ๆ

แม้ว่าตัวเลขข้างต้นจะพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อในบริบทของสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ เพราะในตอนนี้แทบยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ผู้วิจัยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมสูงขึ้น แม้แต่ในสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารจะเพิ่มขึ้น 0.9% จนถึงปี 2035

โดยปรกติแล้ว เมื่อนักเศรษฐศาสตร์พูดถึงภาวะเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มักจะพูดถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดความพยายามในการควบคุมภาวะโลกร้อน แต่คอตซ์กล่าวว่านั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น

“เราทราบถึงผลกระทบด้านผลผลิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น จากคลื่นความร้อน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ส่งผลต่อเงินเฟ้อในทุกด้าน รวมถึงราคาอาหารด้วย”

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี 2022 ซึ่งทำให้เกิดผลผลิตทางอาหารลดลง จนราคาอาหารเพิ่มขึ้นสองในสามอัตราเปอร์เซ็นต์ ในโรมาเนีย ฮังการี และบางประเทศในยุโรปใต้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อโดยรวมพุ่งสูงขึ้นประมาณหนึ่งในสามอัตราเปอร์เซ็นต์

นักวิจัยเตือนว่าแม้ว่าราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยและยากจน แต่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

นอกจากนี้ แบบจำลองยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนด้วยอุณหภูมิตลอดทั้งปีในภูมิภาคละติจูดต่ำ ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเท่านั้นในภูมิภาคละติจูดสูง ผลกระทบที่ไม่สมส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากปัญหาอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การอพยพ และความมั่นคงด้านอาหาร เป็นจุดติดขัดอย่างต่อเนื่องในการเจรจาข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม

นอกเหนือจากอันตรายทางกายภาพ (physical hazards) แล้ว วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเพิ่มความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงพลังงานอย่างไม่เป็นระบบ อาจทำให้ราคาสินค้าไม่มั่นคงมากขึ้น

เมื่อรวมกันแล้ว แรงผลักดันเหล่านี้เสี่ยงต่อการกลับทิศของเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยซึ่งกำหนด “ภาวะชะลอตัวครั้งใหญ่” ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อแรงกระแทกด้านอุปทานเชิงบวกนำไปสู่การขยายตัวของผลผลิตโดยมีต้นทุนที่ต่ำลงซึ่งยึดตามความคาดหวังด้านเงินเฟ้อและทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ 

ในทางกลับกัน โลกอาจเผชิญกับ “การพลิกกลับครั้งใหญ่” หรือ “ความผันผวนครั้งใหญ่” ที่มีลักษณะเฉพาะ จนเกิดความผันผวนในการผลิตสินค้าและอาหาร ตามมาด้วยความไม่แน่นอนของราคาที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยรวมแล้ว นักวิจัยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าโดยไม่คำนึงถึงเส้นทางการปล่อยมลพิษ แต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น โครงการทำความเย็นในอวกาศ อาจช่วยจำกัดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกได้
 

ที่มา: ForbesGreen Central BankingIndependent