เมกะเทรนด์ความยั่งยืนปี 2025 ตลาดคาร์บอนเครดิต-พลังงานไฮโดรเจน 'มาแรง'
ในปี 2025 ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่คำพูดเก่าๆ แต่เป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังก่อรูปอนาคตของโลก ขณะที่ภาคธุรกิจ รัฐบาล และบุคคลพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมในด้านต่างๆ เช่น คาร์บอนเครดิตและพลังงานไฮโดรเจน กำลังเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนี้
KEY
POINTS
- ตลาดคาร์บอนได้รับแรงผลักดันระดับโลกผ่านโครงการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อตกลงปารีส
- ขนาดตลาดคาร์บอนเครดิตระดับโลก โตจาก 3.98 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2023 เป็น 5.26 แสนดอลลาร์ ในปี 2024
- เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเบื้องหลังความพยายามด้านความยั่งยืนในปี 2025
- แต่อัตราการนำ AI ไปใช้ลดคาร์บอนยังต่ำ โดยวิจัยพบ 2,000 องค์กรใหญ่สุดในโลก มีเพียง 14% ใช้ AI
- Green Hydrogen เป็นแนวโน้มสำคัญในปี 2025 โครงการไฮโดรเจนสีเขียวขนาดใหญ่หลายโครงการใน สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย กำลังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย
ปี 2025 ภูมิทัศน์ด้านความยั่งยืนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องรับมือความท้าทายและโอกาสใหม่ ตั้งแต่เรื่องกฎระเบียบการส่งออก CBAM เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และการมุ่งเน้นด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ปีนี้กลายเป็นปีสำคัญสำหรับตลาดคาร์บอน การลงทุนสีเขียว และการปรับตัวของแต่ละประเทศให้สอดคล้องกฎระเบียบใหม่ทั่วโลก
ฟอรั่มผู้นำในปีที่ผ่านมา เช่น การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP29) ที่กรุงบากู เน้นความเร่งด่วนของการเชิงปฏิรูป ในขณะที่กระแสทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเลือกตั้งสหรัฐแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด
ตลาดคาร์บอนโต
ในปี 2025 ตลาดคาร์บอนจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยรับแรงผลักดันระดับโลกผ่านโครงการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อตกลงปารีส ที่ผลักดันให้รัฐบาลและภาคเอกชนเข้าร่วมตลาดคาร์บอนมากขึ้น หลายประเทศและบริษัทกำหนดเป้าหมายเน็ตซีโรทะเยอทะยานขึ้น และให้คำมั่นชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการคาร์บอนในตลาดคาร์บอนตามอัธยาศัย (VCM) เพิ่มขึ้น
จากรายงานของ The Business Research ระบุว่า ขนาดตลาดคาร์บอนเครดิตระดับโลกเติบโตแบบทวีคูณช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเติบโตจาก 3.98 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2023 เป็น 5.26 แสนดอลลาร์ ในปี 2024
การเติบโตนี้เป็นผลจากข้อตกลงด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) โครงการพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์และปลูกป่าทดแทน โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
และคาดว่าขนาดตลาดเครดิตคาร์บอนจะเติบโตถึง 1.47 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2028 เป็นผลจากการลงทุนด้านการเงินเพื่อสภาพอากาศ การขยายระบบซื้อขายคาร์บอน โครงการกำหนดราคาคาร์บอนทั่วโลก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน
นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 350 ล้านบาท โดยซื้อขายไปแล้วประมาณ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สำหรับภาพรวมสถิติตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยปี 2024 มีมูลค่าการซื้อขาย 85.79 ล้านบาท และปริมาณซื้อขายที่ 686,079 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ผู้ซื้อจะซื้อเพื่อกิจกรรม CSR
ดังนั้น แนวโน้มการเติบโตในภาคนี้อาจไม่สูงมาก แต่เมื่อ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลบังคับใช้ จะมีมาตรการบังคับในการจำกัดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคลที่ปล่อยสูง (Emission Trading Scheme : ETS) ระบบนี้จะเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยใช้คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจแปลงเป็นสิทธิได้ 15% ซึ่งจะกระตุ้นดีมานด์ภาคบังคับ ทำให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจสูงขึ้น
Deep Tech ขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืน
เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเบื้องหลังความพยายามด้านความยั่งยืนในปี 2025 โดยขอบเขตที่เทคโนโลยีเชิงลึกเข้าช่วยได้ คือ พลังงานหมุนเวียน ซึ่งอัลกอริทึม AI ขั้นสูงจะเพิ่มประสิทธิภาพของกริดพลังงาน เพื่อให้แน่ใจว่าการกระจายพลังงานมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย
นอกจากนั้นยังใช้ในนวัตกรรมในแหล่งพลังงานสะอาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ที่ปรับปรุงใหม่และแบตเตอรี่ความจุสูง จะทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้าถึงมากขึ้น
ส่วนคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจำลองและการสร้างแบบจำลองสำหรับการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ ช่วยให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแม่นยำและทันเวลา
ขอบเขตที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและการจัดการทรัพยากร ความก้าวหน้าในชีวเทคโนโลยีจะนำไปสู่การพัฒนาพืชที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและใช้ทรัพยากรน้อยลง เอไอและหุ่นยนต์จะปฏิวัติการทำฟาร์ม
นายคาร์ลอส อักจิโอ ผู้บริหารระดับสูงด้านกลยุทธ์มูลค่า AI จาก Accenture ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า AI เป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีเชิงลึก เป็นคันโยกที่มีแรงมหาศาลสำหรับการลดคาร์บอน แต่อัตราการนำ AI ไปใช้ลดคาร์บอนยังต่ำ โดยวิจัยพบ 2,000 องค์กรใหญ่สุดในโลก มีเพียง 14% ใช้ AI สำหรับการลดคาร์บอน เรียกองค์กรเหล่านี้ว่า “Reinventors” พวกเขาตระหนักว่า AI ไม่เพียงช่วยลดคาร์บอน แต่ขยายขนาดธุรกิจ ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 10% สูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้านี้มีค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 หากไม่ปรับปรุงการใช้พลังงานของ AI อาจเทียบเท่ากับการปล่อย CO2 ของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งอาจปล่อย CO2 ได้ถึง 700 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้
หลายชาติเร่งพัฒนาไฮโดรเจน
แรงผลักดันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ส่งผลให้ Green Hydrogen เป็นแนวโน้มสำคัญในปี 2025 เราจะได้เห็นรัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ ลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวเพิ่มขึ้น ในปี 2025 คาดว่าจะได้เห็นโครงการไฮโดรเจนสีเขียวขนาดใหญ่หลายโครงการ ที่อยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decisions หรือ FIDs) เช่น ของสหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย
นายเจอริน ราช ผู้อำนวยการประจำเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน บริษัท Black & Veatch จำกัด กล่าวว่า ไฮโดรเจนสีเขียว (ผลิตโดยพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ไม่ปล่อยคาร์บอน) มีต้นทุนพลังงานที่ได้จากสูงกว่าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติมาก ดังนั้นอาจดีที่จะเริ่มเรียนรู้การใช้ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (ผลิตจากก๊าซธรรมชาติผ่านกระบวนการ SMRs) ก่อนเปลี่ยนไปใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเต็มที่
ไฮโดรเจนมีความท้าทายในการเก็บรักษาและขนส่ง ทำให้แอมโมเนียกลายเป็นสื่อกลางที่น่าสนใจสำหรับการขนส่งไฮโดรเจน ในภูมิภาคนี้มีผู้เล่นหลายรายกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนจริงจัง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังพิจารณาใช้ไฮโดรเจนในโรงไฟฟ้าพลังงานร่วม
ขณะที่มาเลเซียกำลังแปลงไฮโดรเจนเป็นแอมโมเนียหรือผสมกับโทลูอีนเพื่อสร้าง MCH และส่งออกไปเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น สิงคโปร์ก็กำลังลงทุนในไฮโดรเจนอย่างหนัก สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (SMRs) และพลังงานนิวเคลียร์
การลงทุน-การเงินสีเขียว
การเงินที่ยั่งยืนกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับ ESG และพันธบัตรสีเขียวกลายเป็นจุดสนใจ ตลาดพันธบัตรสีเขียวคาดว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยตามรายงานของ Markets and Data ตลาดการเงินสีเขียวทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น 12.22% ตั้งแต่ปี 2024 ถึงปี 2031 ขนาดตลาดอยู่ที่ประมาณ 3.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และคาดว่าจะสูงถึง 9,446.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2031
จากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี ระบุว่าการลงทุนและการเงินสีเขียวในอาเซียนพัฒนาการดี โดยออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวตั้งแต่ปี 2559-2566 รวม 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มี 6 ประเทศออกผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวสม่ำเสมอ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการทั้งการเติบโตของตลาดและความหลากหลายของเครื่องมือทางการเงินใน 6 ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสีเขียว หุ้นกู้สีเขียว พันธบัตรสีเขียว และศุกูกสีเขียว รวมทั้งเห็นพัฒนาการของผู้เล่นที่มีบทบาทในตลาดและการจัดสรรเงินทุนไปในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้น