‘เช่าเสื้อผ้า’ เทรนด์แฟชั่นที่ดีต่อโลก ทางออกลดคาร์บอนของวงการแฟชั่น ?

‘เช่าเสื้อผ้า’ เทรนด์แฟชั่นที่ดีต่อโลก ทางออกลดคาร์บอนของวงการแฟชั่น ?

“ธุรกิจเช่าเสื้อผ้า” ช่วยให้วงการแฟชั่นสามารถรับผิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก ที่เกิดจาก “ฟาสต์แฟชั่น” แต่แนวทางนี้มีประโยชน์ต่อโลกจริงหรือไม่?

KEY

POINTS

  • ธุรกิจบริการให้เช่าเสื้อผ้า เป็นการให้ผู้บริโภคสามารถเช่าเสื้อผ้าได้เป็นระยะเวลาจำกัด และส่งคืนเสื้อผ้าได้หลังจากใช้งาน แทนที่จะซื้อเสื้อผ้าและใส่เพียงไม่กี่ครั้งแล้วก็ทิ้ง
  • ตลาดการเช่าเสื้อผ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดในปี 2024 คาดว่าจะสูงถึง 1,770 ล้านดอลลาร์ และจะทะลุ 2,470 พันล้านดอลลาร์ในปี 2029
  • การวิจัยล่าสุดพบว่า ในบางครั้งการเช่าเสื้อผ้าอาจไม่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน หรือทำให้ปริมาณคาร์บอนแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากการเช่าเสื้อผ้าอาจกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งที่ควรจะลดลง

ธุรกิจเช่าเสื้อผ้า” แทนการซื้อกำลังมาแรงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยอัตราการเติบโต 10% ต่อปี ขณะเดียวกันก็ช่วยให้วงการแฟชั่นสามารถรับผิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก ที่เกิดจาก “ฟาสต์แฟชั่น” แต่แนวทางนี้มีประโยชน์ต่อโลกจริงหรือไม่? คำตอบนั้นซับซ้อนกว่าที่คิด

อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ธุรกิจบริการให้เช่าเสื้อผ้าจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยให้วงการแฟชั่นมีทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า โดยผู้บริโภคสามารถเช่าเสื้อผ้าได้เป็นระยะเวลาจำกัด และส่งคืนเสื้อผ้าได้หลังจากใช้งาน แทนที่จะซื้อเสื้อผ้าและใส่เพียงไม่กี่ครั้งแล้วก็ทิ้ง นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ชอบแต่งตัว แต่ก็รักษ์โลกและต้องการลดปริมาณคาร์บอนไปพร้อมกัน

บริการตามพื้นฐานของการเข้าถึง” หรือ ABS (Access-based Services) ถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดง่าย ๆ นั่นคือ แทนที่จะเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากสินค้าชั่วคราว โดยแลกกับการจ่ายเงินสนับสนุน ทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินค้าเหล่านั้นอีกต่อไป ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เห็นได้จากการเติบโตของแอปพลิเคชันเรียกรถ บริการเช่าที่พัก เช่าเครื่องใช้ในครัวเรือน และมาจนถึงให้เช่าเสื้อผ้า

การศึกษาวิจัยที่ดำเนินการร่วมกันโดยโรงเรียนธุรกิจ EDHEC ของฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัย UCL Louvain ของเบลเยียม พบว่า ในบางครั้งการเช่าเสื้อผ้าอาจไม่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน หรือทำให้ปริมาณคาร์บอนแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากการเช่าเสื้อผ้าอาจกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งที่ควรจะลดลง

บริการให้เช่าเสื้อผ้า เรามักจะคุ้นเคยกับการเช่าชุดสำหรับใช้ในอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน กีฬาสี หรืองานเลี้ยงแฟนซี แต่ปัจจุบันพร้อมให้บริการสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เมื่อสามารถเช่าเสื้อผ้าได้ง่าย ราคาถูก และมีให้เลือกหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนยอมจ่ายค่าเช่าจำนวนมาก หรือแม้แต่ขอซื้อเสื้อผ้าที่เช่ามาโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง 

ยิ่งไปกว่านั้น บางคนนำเงินที่เหลือจากการเช่าชุดไปซื้อสินค้าอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในบ้าน หรือแม้แต่ไปท่องเที่ยว ล้วนแต่ส่งผลให้การบริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า ไม่ใช่ผู้ใช้บริการเช่าเสื้อผ้าทุกคนที่จะมีพฤติกรรมสร้างผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติมากขึ้น แต่มีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่จะเพิ่มปริมาณคาร์บอน กลุ่มแรกคือ “ผู้แสวงหาสิ่งบันดาลใจและความสุข” (stimulation and pleasure seekers) พวกเขาแสวงหาความแปลกใหม่และความหลากหลาย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว การเช่าเสื้อผ้าจะกระตุ้นความต้องการอยากเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลา ซึ่งอาจเพิ่มการบริโภค

กลุ่มที่สองคือ “เยาวชนที่ไม่สนใจชีวิตในเมือง” (urban apathetic youth) ถึงแม้จะไม่ได้มีแรงจูงใจในการแสวงหาความสุขเป็นพิเศษ แต่พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะซื้อเสื้อผ้าประเภทอื่นเพิ่มขึ้นหลังจากเช่าเสื้อผ้า โดยกลุ่มนี้มักเป็นคนในเมือง ที่มักเป็นโสดและมีการศึกษา คิดเป็นประมาณ 18% ของผู้ใช้บริการ และมีแนวโน้มสร้างผลกระทบทางอ้อมเป็นพิเศษ

ตลาดการเช่าเสื้อผ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดในปี 2024 คาดว่าจะสูงถึง 1,770 ล้านดอลลาร์ และจะทะลุ 2,470 พันล้านดอลลาร์ในปี 2029 ตามรายงานของ Mordor Intelligence ซึ่งบริษัทอย่าง Rent the Runway, Gwynnie Bee และ Tuileries เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ แต่บริษัทใหม่ ๆ หลายแห่งกำลังเข้ามาในตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเสนอการสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงเสื้อผ้าได้หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดนี้ไม่ได้รับประกันว่าการเช่าเสื้อผ้าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากใช้ไม่ถูกต้อง ก็อาจกลายเป็นช่องทางกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง

การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า แม้การเช่าเสื้อผ้าจะมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็อาจส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ได้เช่นกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้สูงสุด บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องคิดกลยุทธ์ใหม่ แทนที่จะส่งเสริมประโยชน์จากการเช่าเสื้อผ้าเพียงด้านสุขนิยม ด้วยความหลากหลายและความแปลกใหม่ บริษัทต่าง ๆ ควรเน้นที่ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง และส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น

แพลตฟอร์มต่าง ๆ ควรสนับสนุนการเช่าผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากแบรนด์ และแบรนด์ที่ให้ความสำคัญทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ขณะที่การจำกัดจำนวนชิ้นในการเช่าแต่ละครั้ง รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาในการเช่าก็เป็นวิธีที่ช่วยได้เช่นกัน

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแฟชั่นที่ยั่งยืน บริษัทและผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้แนวทางที่รับผิดชอบมากขึ้น โดยบริษัทให้เช่าเสื้อผ้าต้องมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ผู้บริโภค เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจใช้บริการ ด้วยข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับรอยเท้าคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาเช่า ผู้บริโภคจะสามารถเข้าใจผลกระทบที่แท้จริงได้ดีขึ้น และส่งเสริมการปฏิบัติที่รับผิดชอบมากขึ้น

การเช่าเสื้อผ้าอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแทนการซื้อแบบดั้งเดิม แต่ไม่ควรมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะถึงแม้จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลกระทบย้อนกลับ ที่อาจรุนแรงกว่าประโยชน์ที่ควรได้หลายเท่า


ที่มา: Fashion UnitedForbesThe Conversation