‘ปลูกต้นไม้’ ที่ ‘ขั้วโลกเหนือ’ ไม่ช่วยแก้โลกร้อน ซ้ำปล่อยคาร์บอนมากกว่าเดิม
การศึกษาวิจัยใหม่เตือนว่า การปลูกต้นไม้ในบางพื้นที่อาจทำให้ภาวะโลกร้อนแย่ลง โดยเฉพาะในภูมิภาค “อาร์กติก”
KEY
POINTS
- การปลูกป่าในอาร์กติกจะทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในดินจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ ยิ่งทำให้ปัญหาภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- การปลูกต้นไม้จะทำให้พื้นผิวโลกมืดลง หิมะไม่สามารถสะท้อนแสงแดดได้ ทำให้ค่าสะท้อนแสงลดลง เหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 50% และทำให้หิมะละลายมากขึ้น
- เนื่องจากหิมะและน้ำแข็งสีอ่อนจะสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ แต่ใบไม้สีเข้มจะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์
“การปลูกต้นไม้” มักถูกมองว่าเป็นวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ “ภาวะโลกร้อน” เนื่องจาก “ต้นไม้” สามารถดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมาก จนเกิดโครงการปลูกป่าเพิ่มขึ้นมากมายทั่วโลก แต่การศึกษาวิจัยใหม่เตือนว่า การปลูกต้นไม้ในบางพื้นที่อาจทำให้ภาวะโลกร้อนแย่ลง โดยเฉพาะในภูมิภาค “อาร์กติก”
ตามรายงานของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดยผศ.เจปเป คริสเตนเซน จากมหาวิทยาลัยออร์ฮุส ระบุว่า การปลูกป่าในภูมิภาคอาร์กติก เช่น อะแลสกา กรีนแลนด์ และไอซ์แลนด์ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของระบบนิเวศทางที่อ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นสูงและมีปริมาณมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้โลกร้อนได้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “ค่าสะท้อนแสงอาทิตย์” ซึ่งหมายถึงปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวโลกกลับออกไปสู่อวกาศ
ในบริเวณขั้วโลก หิมะปกคลุมพื้นดินบริเวณทุ่งทุนดราเป็นเวลาหลายเดือนทุกปี หิมะมีสีขาวเหล่านี้จะช่วยสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบได้ประมาณสามในสี่ส่วน ดังนั้นจึงมีค่าสะท้อนแสงอาทิตย์สูง
แต่การปลูกต้นไม้จะทำให้พื้นผิวโลกมืดลง หิมะไม่สามารถสะท้อนแสงแดดได้ ทำให้ค่าสะท้อนแสงลดลง เหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 50% และทำให้หิมะละลายมากขึ้น
เมื่อคำนึงถึงทั้งค่าสะท้อนแสงและคาร์บอนที่ต้นไม้อาจดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศและกักเก็บคาร์บอนแล้ว การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือกลับส่งผลให้สภาพอากาศอบอุ่นขึ้น
นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณอาร์กติกและกึ่งอาร์กติก (sub-Arctic) มีลักษณะทางนิเวศวิทยาที่ไม่เหมือนใคร เพราะคาร์บอนส่วนใหญ่ในบริเวณดังกล่าวอยู่ในดิน ซึ่งมีมากกว่าปริมาณคาร์บอนที่มีในต้นไม้ทั้งหมดบนโลกรวมกัน รวมถึงป่าฝนทุกแห่งในเขตร้อน ดังนั้นการปลูกต้นไม้ในอาร์กติกอาจทำให้คาร์บอนบางส่วนถูกปล่อยออกมาจากผืนดิน
ขณะที่ ต้นไม้เจริญเติบโตจะปล่อยน้ำตาลออกจากราก ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ในบริเวณใกล้เคียงมีพลังงานที่จำเป็นในการย่อยสลายคาร์บอนในดินที่สะสมมาเป็นเวลาหลายพันปี กระบวนการนี้เป็นการหมุนเวียนของคาร์บอนในดินเก่า ส่งเสริมการปลดปล่อยคาร์บอน และเพิ่มความเป็นประโยชน์ของไนโตรเจนโดยผ่านกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน ซึ่งเรียกว่า “Priming Effect”
ป่าไม้ในบริเวณอาร์กติกยังมีแนวโน้มที่จะถูกรบกวนจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ไฟป่าเผาป่าในเขตหนาวเกือบทั้งหมด ในทุกสองสามทศวรรษหรือทุกศตวรรษ และต่อให้ไม่ถูกเผา ต้นใหม่เหล่านี้ก็ต้องเจอกับแมลงศัตรูพืชและสภาพอากาศที่เลวร้ายอยู่ดี ซึ่งความเสี่ยงทั้งหมดนี้ล้วนจะเพิ่มขึ้นเมื่ออาร์กติกอุ่นขึ้น
ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม โครงการปลูกป่าในอาร์กติกจะทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในดินจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกเหนือจากผลกระทบต่อสภาพอากาศแล้ว การปลูกป่าในละติจูดสูงอาจสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพของอาร์กติก และท้าทายการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม เช่น การเลี้ยงกวางเรนเดียร์และการล่ากวางเรนเดียร์
“การกักเก็บคาร์บอน” เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาสภาพอากาศ แต่บรรดานักวิจัยระบุว่าในเขตละติจูดสูงควรใช้ “วิธีจัดการการสะท้อนแสงอาทิตย์” มากกว่า เนื่องจากหิมะและน้ำแข็งสีอ่อนจะสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ แต่ใบไม้สีเข้มจะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นความร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมดุลของพลังงานมากกว่าการกักเก็บคาร์บอน
การศึกษานี้เรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตของระบบนิเวศอย่างครอบคลุมมากขึ้น แทนที่จะเน้นเฉพาะการกักเก็บคาร์บอนเท่านั้น
“แนวทางแบบองค์รวมมีความจำเป็นหากเราต้องการการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความเป็นจริง” มาร์ก มาเซียส-โฟเรีย ผู้เขียนร่วมและนักวิจัยจากสถาบันวิจัยขั้วโลกสก็อตต์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว และกล่าวเสริมว่า
“การปลูกป่าในอาร์กติกเป็นวิธีแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่หลอกตัวเองเท่านั้น”
นักวิจัยเสนอให้ใช้ สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่ยั่งยืน เช่น กวางเรนเดียร์ เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกว่า และมีหลักฐานสนับสนุนมากมายที่แสดงว่า สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ส่งผลดีต่อชุมชนพืชและสภาพหิมะมากกว่า และช่วยให้เกิด “การเย็นตัวสุทธิ” (Net Cooling)
กิจกรรมของสัตว์กินพืช รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ในฤดูหนาว ช่วยลดอุณหภูมิของดิน ลดควายร้อนในหิมะ และรักษาชั้นดินเยือกแข็ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิโลก นอกจากนี้ สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ไม่เพียงแต่ช่วยลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของภูมิภาคอาร์กติก อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับชุมชนพื้นเมืองและชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย
“ความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชนในท้องถิ่นไม่ใช่ผลพลอยได้จากการใช้วิธีแก้ปัญหาตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งพื้นฐานที่สมควรได้อยู่แล้ว” มาเซียส-โฟเรียกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าความพยายามเหล่านี้ต้องให้ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำแก้ปัญหา
แม้ว่าการปลูกต้นไม้จะมีคุณค่าในหลายบริบท แต่การนำไปปฏิบัติในภูมิภาคอาร์กติกและอนุอาร์กติกอาจเพิ่มภาวะโลกร้อนโดยไม่ได้ตั้งใจ วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือ ต้องใช้รูปแบบที่เป็นไปตามธรรมชาติ และทำงานร่วมกับระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่น เพื่อปรับสมดุลและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
ที่มา: Earth, University of Cambridge, The Conversation