แคลิฟอร์เนียกับการต่อสู้กับ 'ภูมิอากาศวิปริต' เหตุไฟป่า 8 พันครั้งในปี 2024

แคลิฟอร์เนียกับการต่อสู้กับ 'ภูมิอากาศวิปริต' เหตุไฟป่า 8 พันครั้งในปี 2024

ในขณะที่โลกร้อนขึ้น ปรากฏการณ์ที่รู้จักกันในนาม "ภูมิอากาศวิปริต" ก็เกิดบ่อยขึ้น เพิ่มความรุนแรงของภัยพิบัติ เช่น ไฟป่าและน้ำท่วมฉับพลัน เหตุพายุไฟในรัฐแคลิฟอร์เนียเผยให้เห็นความเปราะบางของสิ่งแวดล้อมและความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ไฟป่าหลายจุดได้ปะทุขึ้นในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส (L.A. County) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2025
  • ปี 2024 เพียงปีเดียว Cal Fire ได้รายงานเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับไฟไหม้มากกว่า 605,868 ครั้ง โดยเป็นเหตุไฟป่ากว่า 8,024 ครั้ง
  • รัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน คือ ฤดูร้อนที่แห้งและร้อน ฤดูหนาวที่มีฝนตก
  • ภูมิอากาศวิปริต การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสุดขั้ว ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนียหลายปีที่ผ่านมา ทำให้โอกาสที่จะเกิดภัยธรรมชาติ อันตราย เช่น ไฟป่าและน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงมากขึ้น

เมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา ไฟป่าหลายจุดได้ปะทุขึ้นในพื้นที่ Santa Monica Mountains ของเทศมณฑลลอสแอนเจลิส (L.A. County) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นับเป็นไฟป่าที่ทำลายล้างที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Los Angeles หรือแอลเอ (L.A.) กินพื้นที่เกือบ 3,000 เอเคอร์ในเขตชายฝั่งแปซิฟิกพาลิเซดส์ (Pacific Palisades) ทางตะวันตกของเมืองลอสแองเจลิส

เหตุไฟไหม้ 6 แสนครั้ง

ในปี 2024 เพียงปีเดียว กองดับเพลิงของรัฐแคลิฟอร์เนีย (Cal Fire) ได้รายงานเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับไฟไหม้มากกว่า 605,868 ครั้ง เป็นเหตุไฟป่ากว่า 8,024 ครั้ง มีพื้นที่ถูกไฟไหม้มากกว่า 1 ล้านเอเคอร์ สิ่งก่อสร้างเสียหาย 432 แห่งและถูกทำลาย 1,716 แห่ง ขณะที่เริ่มต้นปี 2025 ผ่านมาเพียง 10 วัน มีการตอบสนองฉุกเฉินทั้งหมด 13,926 ครั้งที่ถูกลงทะเบียนโดย Cal Fire โดยเป็นเหตุไฟป่าทั้งหมด 92 ครั้ง ได้เผาผลาญพื้นที่ 29,053 เอเคอร์ทั่วรัฐ สิ่งก่อสร้างกว่า 10,000 แห่งได้รับผลกระทบ

แคลิฟอร์เนียกับการต่อสู้กับ \'ภูมิอากาศวิปริต\' เหตุไฟป่า 8 พันครั้งในปี 2024

ฝนตกในฤดูหนาว

ด้วยภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนของรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีลักษณะสุดขั้ว ฤดูร้อนไม่มีฝนตก และปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่จะตกในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้แคลิฟอร์เนียมีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติรุนแรงมาเป็นเวลานาน

เมื่อบวกกับ “ภูมิอากาศวิปริต” คือ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสุดขั้วระหว่างสภาพอากาศที่เปียกชื้นและแห้งแล้งรุนแรง (Weather Whiplash) ที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันมีสาเหตุจากมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ตามผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature) ทำให้โอกาสที่จะเกิดภัยธรรมชาติ อันตราย เช่น ไฟป่า และน้ำท่วมฉับพลัน รุนแรงมากขึ้น

ภูมิอากาศวิปริต

ปีก่อนภาคใต้ของแคลิฟอร์เนียจมอยู่ใต้น้ำ และเกิดดินโคลนถล่มหลายร้อยแห่ง เพราะฝนที่ตกหนักจากปัจจัย “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” (Atmospheric River) เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 และตกหนักที่สุดในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทำให้หญ้าและพุ่มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากนั้นภัยแล้งได้แผ่ปกคลุมพื้นที่ ในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดครั้งหนึ่งของภูมิภาค ต่อด้วยฤดูฝนที่แห้งแล้งที่สุด

สภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้พืชพรรณทั้งหมดที่เติบโตจากฝนที่ตกหนักในฤดูหนาวที่ผ่านมากลายเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก จนทำให้เกิดสัปดาห์หายนะที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา

โดยไฟป่าในสัปดาห์นี้ได้รับแรงกระตุ้นจากพายุลมซานตาแอนา (Santa Ana) ที่รุนแรงผิดปกติ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสียหายให้กับไฟป่าที่อันตรายอยู่แล้ว เปลวไฟถูกพัดจากบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่งด้วยลมกระโชกแรงถึง 100 ไมล์ต่อชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถควบคุมเพลิงไหม้ที่เคลื่อนตัวเร็วได้

นายแกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ฤดูไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียธรรมเนียมจะถึงจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่หญ้าและพุ่มแห้งปะทะกับลม Santa Ana และจะตามมาด้วยฤดูหนาวที่มีฝนช่วยดับไฟมาถึง แต่ไฟป่าลอสแอนเจลิสครั้งล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นว่า "ไม่มีฤดูไฟป่าอีกต่อไปในโลกที่กำลังร้อนขึ้น" เพราะในช่วงเวลานี้ของปีตามปกติไม่ใช่ฤดูไฟป่า

พยากรณ์อากาศจากศูนย์ดับเพลิงระหว่างหน่วยงานแห่งชาติเตือนว่าฤดูหนาวที่ถึงแม้มีฝนตกในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้รุนแรงเกินปกติ นอกจากนี้ ฤดูไฟไหม้ในพื้นที่สูงจะเริ่มเร็วขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้การคาดการณ์เหตุการณ์ดังกล่าวยากขึ้นไปอีก

ภูมิอากาศวิปริตในระดับโลก

รัฐแคลิฟอร์เนียไม่ใช่ที่เดียวที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกก็เผชิญกับวิปริตภูมิอากาศเช่นกัน เช่น

  • ออสเตรเลีย: ประเทศนี้ประสบกับภัยแล้งรุนแรงตามด้วยน้ำท่วมอย่างรุนแรง เช่น น้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์ในปี 2010-2011 ที่ตามมาหลังจากภัยแล้งที่ยาวนาน
  • อินเดีย: รัฐมหาราษฏระประสบกับภัยแล้งในปี 2015-2016 ตามด้วยฝนมรสุมหนักในปี 2019
  • แอฟริกาใต้: ภูมิภาคนี้ประสบกับการสวิงระหว่างภัยแล้งและฝนตกหนัก ซึ่งมีผลกระทบต่อการเกษตรและการจัดหาน้ำ

 

 

 

อ้างอิง : CAL Fire, Statista, CNN