ไทยเลิกเป็น 'ถังขยะโลก' สั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติก 1 ม.ค. 2568

ไทยเลิกเป็น 'ถังขยะโลก' สั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติก 1 ม.ค. 2568

ประเทศไทยได้ก้าวสำคัญโดยการห้ามนำเข้าขยะพลาสติก เพื่อต่อสู้กับมลพิษที่เป็นพิษและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับความพยายามระดับโลก ในการแก้ไขวิกฤตพลาสติก และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีแนวทางสากลที่ประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ

KEY

POINTS

  • กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้า
  • ที่ผ่านมาขยะพลาสติกถือเป็นของมีค่าสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลและเป็นวัตถุดิบสำคัญ
  • ในไทยมีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ
  • ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ
  • การหารือสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty) เพื่อจัดการขยะพลาสติกเมื่อปีที่แล้ว ที่เกาหลีใต้ ประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถตกลงกัน
  • การสัมผัสกับไมโครพลาสติกนั้นมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก

กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เป้าหมายหลักคือการป้องกันภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพของประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เคยมีใบอนุญาตนำเข้าขยะจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าภายใต้มาตรา 152 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร ที่อนุญาตการนำเข้าในกรณีเฉพาะ

ที่ผ่านมาขยะพลาสติกถือเป็นของมีค่าสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลและเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งในไทยมีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น การที่ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะในครั้งนี้ นอกจากนั้น จะทำให้ราคาขยะในประเทศมีราคาสูงขึ้น ช่วยแรงงานที่เป็นคนเก็บขยะให้มีรายได้เพิ่มอีกด้วย

การห้ามนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์โดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายปีของ และเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกจากยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น หลังจากที่จีนห้ามการนำเข้าขยะในปี 2561

โดยข้อมูลจากศุลกากรของไทยระบุว่า ระหว่างปี 2561 ถึง 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติกมากกว่า 1.1 ล้านตัน แค่ในปี 2561 ปีเดียว ปริมาณการนำเข้าพุ่งสูงถึง 8 เท่าจาก 69,500 ตัน เป็น 552,912 ตัน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดมายังประเทศไทย โดยมีการส่งออกประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมในปี 2022

นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่รับขยะพลาสติกนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ตุรกี, อินเดีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกนับตั้งแต่ที่จีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2561

เสียงคัดค้านจากผู้นำเข้า

รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  และยังมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในระหว่างปี 2561-2562

อย่างไรก็ดี การประกาศห้ามนำขยะพลาสติกประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้การดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกล่าช้าออกไป

จนกระทั่งในปี 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 72 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด และในที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก โดยจะมีผล 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

BCG Economy Model

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้กล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมากับขยะพลาสติก ประกอบกับปริมาณขยะพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาเศษพลาสติกทั้งที่นำเข้าและที่มีอยู่ในประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจร

โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลการนำเข้าเศษพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการนำเศษพลาสติกภายในประเทศมาหมุนเวียนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง BCG Economy Model (Bio - Circular - Green Economy Model)

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติกทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลเศษพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดปริมาณขยะพลาสติกเหลือทิ้ง ตลอดจนช่วยลดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

บังคับใช้-เฝ้าระวังเข้มงวด

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ Ecological Alert and Recovery - Thailand (EARTH) กล่าวว่า การห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดควรถือเป็นชัยชนะของภาคประชาสังคมในการป้องกันไม่ให้ขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทย

“การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและการร่วมมือกับทางการอย่างเข้มแข็งจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการห้ามดังกล่าวได้รับการบังคับใช้”

นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ

"รัฐบาลไทยควรประเมินและตรวจหาพิกัดศุลกากรที่มีความเสี่ยงในประเด็นนี้ เพื่อพิจารณาขยายขอบเขตของการห้ามนำเข้าหากเหมาะสม ในการทำงานเหล่านี้ ภาครัฐควรเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีการสื่อสารการดำเนินงานต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส”

สนธิสัญญาขยะพลาสติกโลกยังล้มเหลว

การหารือสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty) เพื่อจัดการขยะพลาสติกเมื่อปีที่แล้ว ประเทศต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันได้ในถ้อยคำสุดท้ายของสนธิสัญญาหลังจากการเจรจาที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

ประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศสนับสนุนร่างข้อความที่รวมถึงการลดการผลิตพลาสติกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่มากกว่า 400 ล้านตันต่อปี และการเลิกใช้สารเคมีและผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบางประเภท แต่การต่อต้านการลดการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และรัสเซีย ทำให้ผู้เจรจาต้องยอมรับความพ่ายแพ้

การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาณานิคมขยะ ประเทศไทยควรใช้โอกาสและบทบาทนี้ในการผลักดันการควบคุมและยับยั้งปัญหาการค้าขายขยะข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

ไมโครพลาสติกทำลายสุขภาพ

ศ.สตีฟ เฟล็ตเชอร์ ผู้อำนวยการสถาบัน Revolution Plastics Institute แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การไม่สามารถตกลงกันในสนธิสัญญาเพื่อยุติมลภาวะจากพลาสติกเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์

"ปัจจุบัน มลภาวะจากพลาสติกได้รับการยอมรับว่าไม่เพียงแต่เป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤตด้านสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย ความจำเป็นในการดำเนินการระดับนานาชาติที่เด็ดขาดเพื่อจัดการกับมลภาวะจากพลาสติกไม่เคยเร่งด่วนเท่านี้มาก่อน"

เฟล็ตเชอร์ กล่าวด้วยว่าความขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในการเจรจาสนธิสัญญาเกี่ยวกับการลดการผลิตได้ขัดขวางความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงระดับโลกเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่าการสัมผัสกับไมโครพลาสติกนั้นมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก รวมถึงความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น การศึกษาบางกรณีชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกมีบทบาทในโรคสมองเสื่อม บทความดังกล่าวระบุ

 

 

 

 

อ้างอิง : The Guardian, Green Peace, กรมการค้าต่างประเทศ