พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘อาหารทะเล’ ฝังอยู่ในเนื้อสัตว์ ล้างออกได้ไม่หมด

พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘อาหารทะเล’ ฝังอยู่ในเนื้อสัตว์ ล้างออกได้ไม่หมด

นักวิจัยพบสัตว์ทะเลหลายชนิดมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในเนื้อ ซึ่งเมื่อพวกมันกลายเป็น “อาหารทะเล” สามารถส่งต่อมาสู่มนุษย์ได้

KEY

POINTS

  • นักวิจัยพบสัตว์ทะเลหลายชนิดมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในเนื้อ และเมื่อพวกมันกลายเป็น “อาหารทะเล” สามารถส่งต่อมาสู่มนุษย์ได้ 
  • เมื่อนักวิจัยล้างเนื้อปลาและกุ้งเพื่อเอาสิ่งปนเปื้อนออก ก็ยังพบว่ามีไมโครพลาสติกหลงเหลืออยู่ในเนื้อ
  • นักวิจัยไม่แนะนำให้ทุกคนควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทะเล เพราะไมโครพลาสติกมีในอาหารชนิดอื่น ๆ ดังนั้นแค่งดกินอาหารทะเล ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย

ไมโครพลาสติก” อนุภาคขนาดเล็กที่หลุดออกมาจากเสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ แพร่กระจายอยู่ในทุกที่ในโลก โดยเฉพาะในทะเล ที่ตอนนี้พบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในร่างกาย ซึ่งเมื่อพวกมันกลายเป็น “อาหารทะเล” สามารถส่งต่อมาสู่มนุษย์ได้

การวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาชายฝั่งประยุกต์ของ มหาวิทยาพอร์ตแลนด์สเตท นำโดยเอลีส แกรเน็ก ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ ทำการตรวจสอบไมโครพลาสติกในปลามีครีบและสัตว์จำพวกกุ้งที่บริโภคกันทั่วไป 9 ชนิดในรัฐออริกอน พบอนุภาคต้องสงสัย 1,806 รายการใน 180 ตัวอย่างจากทั้งหมด 182 ตัวอย่าง โดยมีเส้นใยจากเสื้อผ้าสังเคราะห์สูงถึง 82% รองลงมาคือเศษไมโครพลาสติกอยู่ที่ 17% และอีก 0.7% มาจากฟิล์ม

กุ้งโอคัก” หรือ “กุ้งสีชมพู” (Pink Shrimp) มีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกอยู่ในเนื้อมากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาประกอบอาหารมากที่สุด เพราะกุ้งชนิดนี้กรองอาหารใต้ผิวน้ำ ขณะที่ปลาแซลมอนชินุกมีปริมาณอนุภาคไมโครพลาสติกน้อยที่สุดและมีความเข้มข้นต่ำที่สุด รองลงมาคือ ปลากะพงดำและปลาลิงคอด

“เราพบว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เราเก็บตัวอย่างมา กินเศษพลาสติกที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น” แกรเน็กกล่าว 

การศึกษาวิจัยอื่น ๆ พบว่ามีพลาสติกในปริมาณสูงในบริเวณที่แพลงก์ตอนสัตว์อาศัยอยู่ และมีลักษณะคล้ายกับแพลก์ตอน ด้วยเหตุนี้ทำให้กุ้งและปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาเฮอริง ที่กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร จึงเผลอกินอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจะมาจากร้านค้าหรือจากเรือประมง ต่างก็มีไมโครพลาสติกที่เกิดจากมนุษย์อย่างน้อย 0.3 อนุภาคต่อเนื้อเยื่อที่กินได้ 10 กรัม แต่สัตว์ทะเลที่ซื้อจากร้านค้ามีไมโครพลาสติกมากกว่าปลาที่ซื้อจากเรือประมงโดยตรง ซึ่งบ่งชี้ว่าสัตว์ทะเลปนเปื้อนมากขึ้น หลังจากขึ้นน้ำไปจนถึงมือผู้บริโภค

แม้ว่ากระบวนการแปรรูปอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเพิ่มเติม จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เก็บและถนอมอาหารทะเลได้อยู่บ้าง แต่เมื่อนักวิจัยล้างเนื้อปลาและกุ้งเพื่อเอาสิ่งปนเปื้อนออก ก็ยังพบว่ามีไมโครพลาสติกหลงเหลืออยู่ในเนื้อ

ขณะที่การวิจัยก่อนหน้านี้ของแกรเน็กที่ความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในหอยนางรมแปซิฟิกและหอยตลับตามแนวชายฝั่งออริกอน พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วหอยนางรมแต่ละตัวจะมีไมโครพลาสติกประมาณ 11 ชิ้น ในขณะที่หอยตลับแต่ละตัวจะมีไมโครพลาสติกประมาณ 9 ชิ้น ซึ่งไมโครพลาสติกที่พบเกือบทั้งหมดเป็นไมโครไฟเบอร์ โดยอาจมาจากเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์หรือธรรมชาติ และอุปกรณ์ตกปลาที่ชำรุด

“น่ากังวลมากที่ไมโครไฟเบอร์อาจจะเคลื่อนตัวจากลำไส้ไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งอาจรวมถึงมนุษย์ด้วย” อุสแซน แบรนเดอร์ นักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและรองศาสตราจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยออริกอนสเตท ผู้วิเคราะห์และตรวจสอบตัวอย่างพลาสติก

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สรุปว่า ทุกคนควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทะเล เพราะไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกที่ในสิ่งแวดล้อม ในอาหารชนิดอื่น ๆ ทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เกลือ เบียร์ น้ำผึ้ง เนื้อวัว ไก่ เบอร์เกอร์ผัก และเต้าหู้ ดังนั้นแค่งดกินอาหารทะเล ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย แต่แนะนำให้ซื้อปลาทั้งตัวจากตลาดท้องถิ่นเท่าที่เป็นได้ เพื่อลดจำนวนไมโครพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก

“หากเรายังคงใช้และทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยไมโครพลาสติกต่อไป  ไมโครพลาสติกเหล่านั้นจะเข้าสู่สิ่งแวดล้อม และย้อนกลับมาอยู่ในจานอาหารของพวกเรา” แกรเน็กกล่าว 

นักวิจัยเรียกร้องให้มีการคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อหยุดมลพิษไมโครพลาสติก โดยเฉพาะจากไมโครไฟเบอร์ ไม่ให้เข้าสู่แหล่งน้ำและทำลายระบบนิเวศทางทะเล และแนะนำผู้ผลิตและแปรรูปอาหารทะเล ให้เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบอื่น เช่น วัสดุธรรมชาติที่ทำจากขี้ผึ้ง แป้ง หรือน้ำตาล ซึ่งจะจำกัดการนำไมโครพลาสติกเข้าสู่อาหารทะเลปได้

นอกจากนี้ นักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องมีนโยบายระหว่างประเทศ เช่น การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาในระดับขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องนำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม

“หากเราไม่เปลี่ยนความสัมพันธ์กับพลาสติกและลดการผลิตพลาสติกลงอย่างมาก เราก็จะยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากพลาสติกต่อไป”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบไมโครพลาสติกในอาหาร การศึกษาในปี 2020 ค้นพบไมโครพลาสติกในอาหารทะเลทุกชิ้นที่ซื้อจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึก กุ้ง หอยนางรม ปู และปลาซาร์ดีน ถัดมาในปี 2021 นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้โพสต์วิดีโอลงบน TikTok ว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ในปลาชุบแป้งทอดที่ซื้อจากร้านอาหาร

ส่วนการศึกษาในโปรตุเกสแสดงให้เห็นว่าปลาน้ำจืดที่มีไมโครพลาสติกในร่างกาย ซึ่งรวมถึงโพลีเอทิลีนและโพลีเอสเตอร์ อาจทำให้สมองเสียหายและเป็นอันตรายต่อเซลล์ เนื้อเยื่อ และดีเอ็นเอได้ 

อย่างไรก็ตามวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่าเมื่อไมโครพลาสติกและสารปนเปื้อนอื่น ๆ เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพบ้าง แต่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับมะเร็ง สร้างความเสียหายแก่ดีเอ็นเอและเซลล์เช่นกัน


ที่มา: Daily MailEarthNewsweek