"ธุรกิจไทย2025: ทำไมการพัฒนาบรรษัทภิบาลคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด?”

"ธุรกิจไทย2025: ทำไมการพัฒนาบรรษัทภิบาลคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด?”

ท่ามกลางวิกฤตความเชื่อมั่นที่ตลาดทุนทั่วโลกกำลังเผชิญ ปี 2568 ได้กลายเป็น ‘ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจ’ หลายประเทศกำลังเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบเพื่อสร้างความโปร่งใสและความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจโลก

ธุรกิจไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความท้าทายนี้ได้ นี่คือโอกาสสำคัญที่จะยกระดับบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีโลก จากการศึกษาของ Bain & Company พบว่า บริษัทที่มีคะแนนบรรษัทภิบาลที่สูงจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาบรรษัทภิบาลสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้จริง และยังช่วยดึงดูดผู้ลงทุนที่มองหาธุรกิจที่มีความยั่งยืนในระยะยาว

สถานการณ์ปัจจุบัน: ความท้าทายที่ธุรกิจไทยต้องเผชิญ

แนวทางการประเมิน ESG ได้กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดทุนที่ผู้ลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับข้อมูล ESG มากขึ้น ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ระบุว่า ปัจจุบันกองทุน ThaiESG มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) กว่า 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 462% จากปีก่อนหน้า สะท้อนแนวโน้มการลงทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในธุรกิจที่มุ่งมั่นดำเนินการด้าน ESG อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีคะแนน ESG เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ข้อมูลจากการประเมิน SET ESG Ratings ‘67) แต่ยังมีช่องว่างที่ต้องพัฒนาอีกเมื่อเทียบกับบริบทสากล โดยเฉพาะในมิติ Governance ซึ่งถือเป็นแต้มต่อสำคัญที่สามารถสร้างความแตกต่างในเวทีโลก นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ด้านความยั่งยืนที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข้อมูล มิเช่นนั้นอาจส่งผลให้ถูกมองว่าอวดอ้างเกินจริง (Greenwashing) และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ธุรกิจไทยจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ

โอกาสการลงทุนเพื่ออนาคต: เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นความได้เปรียบ

แม้การพัฒนาบรรษัทภิบาลมาพร้อมกับต้นทุนการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Cost of Compliance) ที่มีนัยสำคัญ เช่น การพัฒนาระบบและบุคลากรเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่หากมองผ่านเลนส์ของการลงทุนระยะยาว พบว่าบรรษัทภิบาลที่แข็งแกร่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งสามารถกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ระดมทุนได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนระดับโลก และสร้างความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยแนวทางการพัฒนาบรรษัทภิบาลเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอาจแตกต่างไปจากเดิม เช่น พัฒนาระบบการกำกับดูแลที่โปร่งใส/ตรวจสอบได้ ใช้นวัตกรรม AI ในการกำกับดูแลข้อมูลขององค์กร สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความยั่งยืน (Ethical Culture) เป็นต้น

บทสรุป: คำถามที่ต้องตอบ

เมื่อการอยู่รอดของธุรกิจวันนี้คือความสามารถในการจัดการความเสี่ยงในอนาคต คำถามสำคัญที่ผู้นำองค์กรและกรรมการต้องพิจารณาคือ

· องค์กรของเราพร้อมแล้วหรือยังสำหรับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจที่จะเข้มข้นขึ้นในอนาคต?

· องค์กรจะสามารถเปลี่ยนความท้าทายด้านต้นทุนให้เป็นโอกาสในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไร?

· และที่สำคัญที่สุด การพัฒนาในบรรษัทภิบาลวันนี้จะช่วยกำหนดอนาคตของธุรกิจไทยในเวทีโลกอย่างไร?

“คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจไม่ชัดเจนในวันนี้ แต่สิ่งที่แน่นอนคือการเริ่มต้นพัฒนาบรรษัทภิบาลตั้งแต่วันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะกำหนดว่าองค์กรของเราจะเป็นผู้นำหรือผู้ตามในโลกธุรกิจยุคใหม่”