เปิดเหตุผล '8 ประเทศกำลังพัฒนา' บรรลุเป้า Net Zero แซงหน้าประเทศขนาดใหญ่

เปิดเหตุผล '8 ประเทศกำลังพัฒนา' บรรลุเป้า Net Zero แซงหน้าประเทศขนาดใหญ่

ในยุคที่ทุกประเทศต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างไรก็ตาม 8 ประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศขนาดใหญ่ไปแล้วในเรื่องการบรรลุเป้าหมายนี้

KEY

POINTS

  • มีความจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงร้อยละ 45 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2010 เพื่อให้โลกร้อนอยู่ต่ำกว่า 1.5°C
  • มี 8 ประเทศที่บรรลุเป้าหมาย N

นักวิเคราะห์ของสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประเมินคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันทั้งหมดจากประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงปารีสปี (Paris Agreement) 2015 ว่า หลายประเทศยังอยู่ห่างไกลอย่างมากจากเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ตามการวิเคราะห์ล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจะต้องลดลงร้อยละ 43 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2019

รายงานฉบับใหม่เผยให้เห็นว่า เรายังไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ แม้กระทั่งใกล้เคียงก็ไม่ได้ ทั้งนี้ รายงานจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ เว้นแต่ทุกประเทศจะมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โลกจะเผชิญกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 2.1-2.9 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ.2100 ซึ่งในระดับนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าสภาพภูมิอากาศจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง และเกิดความวุ่นวาย

ไซมอน สติลล์ เลขาธิการฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ กล่าวว่า เรายังห่างไกลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกประเทศต้องเพิ่มระดับ และความเร็วที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของตนตั้งแต่ตอนนี้ และนำไปปฏิบัติภายในแปดปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม มี 137 ประเทศทั่วโลก กำลังพยายามจะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซสุทธิอย่างท้าทายภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งข้อมูลปลายปี 2024 มี 8 ประเทศที่บรรลุเป้า Net Zero, Negative Carbon, และ Carbon Neutral ก่อนกำหนด แซงหน้าหลายๆ ประเทศ คือ ภูฏาน คอโมโรส กายอานา ซูรินาเม กาบอง มาดากัสการ์ นีอูเอ และปานามา

อย่างไรก็ตาม มีประเทศกว่า 48 ประเทศที่ยังไม่ได้พยายามบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ 60 ประเทศที่กำลังหารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในขณะที่อีก 90 ประเทศที่เหลือได้ให้คำมั่นหรือบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปแล้ว

ซึ่งการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จะเกิดขึ้นเมื่อแต่ละประเทศไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศมากไปกว่าที่สามารถดูดซับได้ ขณะที่การเป็นคาร์บอนเชิงลบ (Negative Carbon) คือ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศมากกว่าปริมาณที่ปล่อยออก และการเป็นคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral) คือ การที่สามารถสร้างสมดุลการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยการชดเชยด้วยวิธีต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน การปลูกป่า หรือการซื้อเครดิตคาร์บอน โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซจริงๆ ถึงศูนย์

ปกติแล้วเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และร่ำรวยที่สุดมักเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีขนาดเล็ก และประเทศกำลังพัฒนามักมีกิจกรรมทางอุตสาหกรรมน้อยกว่า ประชากรน้อยกว่า และการบริโภคพลังงานต่อหัวน้อยกว่า ซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

8 ประเทศ บรรลุเป้า Net Zero แล้ว

ตามข้อมูลของ The Eco Experts เมื่อเดือนธันวาคม 2024 มี 8 ประเทศที่แสดงถึงความมุ่งมั่น และการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นแบบอย่างให้ประเทศขนาดใหญ่ควรเร่งดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่ละประเทศข้างล่างนี้บรรลุเป้าหมายก่อนกำหนด ที่ตั้งไว้ปี 2050 ยกเว้นภูฏานที่ตั้งเป้าไว้ 2000

เปิดเหตุผล \'8 ประเทศกำลังพัฒนา\' บรรลุเป้า Net Zero แซงหน้าประเทศขนาดใหญ่

ภูฏาน

ราชอาณาจักรภูฏานเข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นลบ' ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ด้วยอัตราการปลูกป่าที่สูงถึง 72% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 7 ล้านตันต่อปี ประเทศนี้เน้นย้ำการเกษตร และป่าไม้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งออกพลังงานหมุนเวียนให้กับอินเดียเป็นหลัก

ภูฏานซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนแทนการตัดไม้ทำลายป่า อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครองครอบคลุมพื้นที่ธรณีวิทยาสองในห้าของประเทศ ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินที่อยู่อาศัย ทำให้สัตว์ป่าสามารถเคลื่อนตัวไปมาระหว่างเส้นทางได้โดยไม่ถูกมนุษย์ขัดขวาง

คอโมโรส

คอโมโรสเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย นอกชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา ทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ ประเทศนี้ เข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นลบ'

เพราะมีนโยบายคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรเกษตร ประมง และปศุสัตว์อย่างเข้มงวด ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสามารถคุมการปล่อยก๊าซให้อยู่ในระดับต่ำ

กายอานา

กายอานาเข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นศูนย์' ประเทศนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงิน 200 ล้านดอลลาร์ จากนอร์เวย์ในการลดการตัดต้นไม้ และพัฒนาแผนงานที่สนับสนุนการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน 

กายอานาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของอเมริกาใต้ ล้อมรอบด้วยป่าฝนอเมซอนประเทศนี้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว และตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีก 70% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ประเทศนี้ได้กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหม่ของโลก ซึ่งอาจท้าทายสถานะของประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้

ซูรินาม

ซูรินามเข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นศูนย์' เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศกายอานาที่เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทั้งสองประเทศต่างก็ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ซึ่งทำให้ประเทศทั้งสองแห่งนี้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนได้ โดยป่าปกคลุมพื้นที่ถึง 97.4% ของพื้นที่ทั้งหมด ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 14 ล้านตันที่ซูรินามผลิตขึ้นในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้กำลังดำเนินการเพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงด้านคาร์บอนเชิงลบให้มากยิ่งขึ้นด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากแหล่งผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50%

กาบอง

กาบองอยู่ในทวีปในแอฟริกากลาง เข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนนิวทรัล' ประเทศนี้มีพื้นที่ป่าครอบคลุมกว่า 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ประเทศนี้เป็นผู้นำในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และลดการตัดไม้ทำลายป่า กาบองยังคงรักษาสภาพคาร์บอนต่ำโดยการปกป้องผืนป่าคองโก และลดการทำลายป่าผ่านการกำหนดข้อบังคับต่างๆ

ป่าเป็นหนึ่งในแหล่งดูดซับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยกาบองปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงเล็กน้อยแต่ดูดซับได้ในปริมาณมาก สหประชาชาติเรียกกาบองว่าเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

มาดากัสการ์

เกาะมาดากัสการ์ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดีย และพึ่งพาการเกษตร และการประมงเป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจหลัก เข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นศูนย์'

แม้ว่าปัจจุบันเกาะนี้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่การตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศหายไปถึงหนึ่งในสี่นับตั้งแต่ปี 2000 ตามรายงานของ Global Forest Watch หากอัตราการสูญเสียต้นไม้ในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป มาดากัสการ์จะกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม มาดากัสการ์ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 14 ภายในปี 2030 ในขณะเดียวกันก็เพิ่มอัตราการดูดซับก๊าซเรือนกระจกประจำปีเป็น 61 ล้านตัน และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 79 และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลต่อสถานะการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ

นีอูเอ

เกาะนีอูเออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีพื้นที่เพียง 261.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าลอนดอนประมาณ 6 เท่า

ประเทศนี้เข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นศูนย์' โดยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12,000 ตันต่อปีด้วยการรักษาป่าไม้ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของเกาะ และตั้งเป้าที่จะใช้ไฟฟ้าหมุนเวียน 80% ภายในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียง 2% ในปี 2022

มีการประมง การเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลัก โดย Nationally Determined Contribution (NDC) ของประเทศระบุว่าเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนสุทธิ โดยมีส่วนสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเพียง 0.0001%

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่เปิดรับความเสี่ยงทำให้เกาะแห่งนี้เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเป็นกรดของมหาสมุทร และภัยคุกคามจากพายุไซโคลนที่เพิ่มมากขึ้น

ปานามา

ปานามาเข้าสู่สถานะ 'คาร์บอนเป็นศูนย์' เป็นประเทศมีพื้นที่แผ่นดินประมาณ 65% ปกคลุมด้วยป่าฝน ซึ่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 26 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณ 21 ล้านตันที่ประเทศปล่อยออกไป รัฐบาลมีแผนที่จะปลูกป่าทดแทน 50,000 เฮกตาร์ภายในปี 2050 เพื่อยกระดับสถานะของปานามาในฐานะแหล่งดูดซับคาร์บอน และได้ประเมินว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้มีการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีก 2.6 ล้านตันทุกปี ปานามาได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนพลังงานลง 24% ภายในปี 2050

ปานามามีแผนพลังงานแห่งชาติที่กำหนดให้ 70% ของการใช้พลังงานของประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี ค.ศ.2050โดยใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านพลังงานไฮโดร, ลม, แสงอาทิตย์, และชีวมวล

ประเทศเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่น และการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด แสดงถึงการพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นแบบอย่างให้ประเทศขนาดใหญ่ควรเร่งดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

 

 

อ้างอิง : The Eco Experts, World Bank, Visual Capitalist

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์