ระบบสาธารณสุขกาซาล่มสลาย โรงพยาบาลพังยับ ผู้ป่วยนับแสนขาดการรักษา
![ระบบสาธารณสุขกาซาล่มสลาย โรงพยาบาลพังยับ ผู้ป่วยนับแสนขาดการรักษา](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/01/8yuUlwnNpn9zAORAgs4V.webp?x-image-process=style/LG)
ชาวปาเลสไตน์กำลังเดินทางกลับ “ฉนวนกาซา” แต่โรงพยาบาลและคลินิกถูกทำลายกลายเป็นเศษซากปรักหักพัง ซากเศษหลายล้านตันปนเปื้อนสารพิษ อีกทั้งยังมีวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดและร่างของผู้เสียชีวิตปะปนอยู่ในกองเศษปูน ผู้คนนับหมื่นได้รับบาดเจ็บ บางคนกลายเป็นผู้พิการ
KEY
POINTS
- ตลอดระยะเวลา 15 เดือน ของการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว
ชาวปาเลสไตน์กำลังเดินทางกลับ “ฉนวนกาซา” หลังจากอิสราเอลและกลุ่มฮามาสบรรลุข้อตกลงหยุดยิง 6 สัปดาห์ แต่โรงพยาบาลและคลินิกถูกทำลายกลายเป็นเศษซากปรักหักพัง ซากเศษหลายล้านตันปนเปื้อนสารพิษ อีกทั้งยังมีวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดและร่างของผู้เสียชีวิตปะปนอยู่ในกองเศษปูน ผู้คนนับหมื่นได้รับบาดเจ็บ บางคนกลายเป็นผู้พิการ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 15 เดือน ของการทำสงครามได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 47,000 ราย ทำให้ชาวกาซา 90% ต้องอพยพ และหลายพื้นที่กลายเป็นซากปรักหักพัง น้ำสะอาดมีไม่เพียงพอ และท่อระบายน้ำซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องสุขภาพของประชาชน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
คณะช่วยเหลือกำลังเร่งจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็นส่งเข้าไปที่กาซา ในช่วงที่อิสราเอลและฮามาสหยุดยิงกันอยู่ พร้อมวางแผนหาวิธีการฟื้นฟูให้ยั่งยืนที่สุด
“ตอนนี้คนในพื้นที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก พวกเขาต้องการบริการสาธารณสุขทุกอย่างเท่าที่จะนึกออก พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษามานานกว่าหนึ่งปีแล้ว” ยารา อาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการด้านสุขภาพระดับโลกและนักวิชาการรับเชิญที่ศูนย์สุขภาพและสิทธิมนุษยชน FXB แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าว
ฉนวนกาซาเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง
เครดิตภาพ: REUTERS/Mohammed Salem
ระบบสาธารณสุขอยู่ในสภาพย่ำแย่
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก โรงพยาบาล 36 แห่งในกาซาส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายหรือบางส่วนถูกทำลายจากระเบิดของอิสราเอล มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังเปิดดำเนินการ ขณะที่คลินิกสุขภาพเกือบสองในสามแห่งไม่ได้เปิดให้บริการ อีกทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ถูกทำลายและไม่มีทดแทน เนื่องจากราคาแพงและยากต่อการนำเข้า
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน และหลายคนไม่ได้รับการดูแลระยะยาว ซ้ำร้ายยังมีผู้ป่วยประมาณ 30,000 รายที่ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจากอาการบาดเจ็บที่เปลี่ยนชีวิต เช่น การตัดแขนตัดขา
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า เมื่อสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว องค์การจะร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อให้บริการที่สำคัญในพื้นที่ เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและการบาดเจ็บ การดูแลสุขภาพเบื้องต้น และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต รวมถึงเพิ่มความจุเตียงในโรงพยาบาลในภาคเหนือและภาคใต้ของกาซา พร้อมนำตู้คอนเทนเนอร์สำเร็จรูปมาช่วยรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลและคลินิกที่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งต้องการคนงานต่างชาติ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพนักงานอีกด้วย
“ปาเลสไตน์ต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูงในราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลเป็นมากกว่าแค่สถานที่ ดังนั้นจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นฟู” อาซีกล่าว
เครดิตภาพ: REUTERS/Dawoud Abu Alkas
อิสราเอลระบุว่า ฮามาสต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุข เพราะกลุ่มฮามาสมักใช้โรงพยาบาลเป็นที่ซ่อนหรือรวบรวมกำลังพล และในช่วงที่หยุดยิงกันนี้ อิสราเอลได้อนุญาตให้มีการเพิ่มเสบียงและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงยุติสงครามอย่างถาวร และอิสราเอลยังไม่ได้ประกาศวิสัยทัศน์หลังสงคราม รวมถึงแผนการฟื้นฟูและทำความสะอาดพื้นที่
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้บาดเจ็บจากสงครามประมาณ 110,000 คน และมีราว 25% ที่บาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ และมีอีกกว่า 12,000 คนที่ต้องย้ายออกเพื่อไปรักษาดูแลเฉพาะทาง ในขณะนี้มีเด็กหลายพันคนสูญเสียแขนขาไปจากสงคราม จนต้องใส่ขาเทียมและการดูแลระยะยาว
มาร์ก ซินแคลร์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเด็กจากดูไบ เป็นอาสาสมัครในฉนวนกาซามานานกว่าทศวรรษ กล่าวว่ามูลนิธิ Little Wings Foundation ที่เขาร่วมก่อตั้งร่วมมือกับกองทุนบรรเทาทุกข์เด็กปาเลสไตน์และบริษัทขาเทียมจากเยอรมนี ในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเปลี่ยนเป็นห้องผ่าตัด และผลิตขาเทียม โดยเขาหวังว่าจะเริ่มฝึกอบรมแพทย์และผลิตขาเทียมในเขตเวสต์แบงก์ และย้ายการผ่าตัดไปยังกาซาได้
ขณะที่ อาซี จากฮาร์วาร์ด กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้คนหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ร้ายแรง อีกทั้งสมองเสียหายจนต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต รวมถึงมีผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์และรับยาอย่างเป็นประจำ แต่บางคนไม่ได้รับยาหรือพบแพทย์มามากกว่าหนึ่งปี
เครดิตภาพ: REUTERS/Dawoud Abu Alkas
ภัยคุกคามจากโรคติดต่อและซากปรักหักพัง
ในตอนนี้กาซาต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาลถูกทำลาย ไม่มีวัคซีนฉีดให้เด็ก และอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ โดยอาซี ผู้อำนวยการร่วมของโครงการปาเลสไตน์เพื่อสุขภาพและสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เด็ก ๆ หลายคนประสบภาวะทุพโภชนาการและความเครียดทางจิตใจ ถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลเป็นพิเศษ
กาซาเผชิญกับการระบาดของโรคโปลิโอเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ และมีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ดังนั้นจึงชัดเจนว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีความเสี่ยงต่อโรคติดต่ออื่น ๆ พอ ๆ กัน ซึ่งอาซีระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ที่แออัด มีแต่ขยะและน้ำเสียบนท้องถนน ไม่ถูกสุขอนามัยถือว่าเป็นหายนะด้านสุขภาพทุกแง่มุมอย่างแท้จริง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์ที่กลับบ้านในฉนวนกาซาจะเสี่ยงต่อการหายใจเอาฝุ่นเข้าไป หรือสัมผัสเศษซากที่ปนเปื้อนสารเคมีพิษ แร่ใยหิน และซากศพมนุษย์ รวมถึงระเบิดที่ยังทำงานอยู่ โดยโฆษกโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ต้องควบคุมอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อยู่อาศัยที่กลับมาสัมผัสกับมลพิษที่เป็นอันตรายโดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่ให้มลพิษแพร่กระจาย โดยองค์กรมีแผนจะเริ่มการประเมินภาคพื้นดินภายใน 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับความปลอดภัย
พอล วอล์กเกอร์ ประธานกลุ่มอนุสัญญาอาวุธเคมีและอดีตเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการกองทัพประจำสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า อันดับแรกควรเป็นการให้ทีมผู้เชี่ยวชาญค้นหาและเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด จากนั้นจึงทดสอบสารพิษในอากาศ น้ำ และดิน
“ฉันรู้ว่าผู้คนต่างกระตือรือร้นที่จะสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ แต่การกลับบ้านตอนนี้อาจอันตรายมาก เพราะเมื่อทำงานบนซากปรักหักพัง จะต้องมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนชะลอการกลับดินแดน เพราะแม้ว่าพวกเขาจะไม่รู้เลยว่าจะกลับไปแล้วเจอกับอะไร แต่พวกเขาจำเป็นต้องกลับไปที่บ้านเกิด เพื่อนำร่างของคนที่รักกลับมา หรือเพื่อดูว่าบ้านของพวกเขายังอยู่รอดหรือไม่ หรือเพื่อไปดูให้เห็นว่าพวกเขาไม่เหลืออะไรอยู่เลย
ที่มา: AP News, The New York Times
เครดิตภาพ: REUTERS/Mohammed Salem