ความหวังบนขอบฟ้า ความพยายามของไทยในการจัดการ PM2.5

ความหวังบนขอบฟ้า ความพยายามของไทยในการจัดการ PM2.5

เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว กฎหมายอากาศสะอาดต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริงเกินกว่ามาตรการผลกระทบระยะสั้น

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยได้เผชิญกับมลพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นวิกฤตที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภา

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับมลพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นวิกฤตที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและ 64 จังหวัดมีคุณภาพอากาศที่ไม่ปลอดภัย เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระแก้ว ระยอง อุดรธานี เชียงใหม่ ในบางวัน PM2.5 แตะถึง 180-200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ซึ่งเกินเกณฑ์ปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) มากกว่า 14 เท่า เมื่อ PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคละเอียดที่ลึกเข้าไปในปอดและกระแสเลือด จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็งปอด

ปัญหา PM2.5 รุนแรงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ โดยจากรายงานการประเมินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยฉบับปี 2566 โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิเคราะห์ระบบประยุกต์ (IIASA) และ UNEP ระบุว่า อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อย PM2.5 มากที่สุดในช่วงปี ค.ศ. 2015-2030 ได้แก่ ภาคครัวเรือนหรือที่อยู่อาศัย เช่น การใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดเพื่อประกอบอาหาร และภาคเกษตร เช่น การเผาพืชไร่เพื่อลดต้นทุนและเวลา

รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างในการต่อสู้กับมลพิษ PM2.5 เช่น กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำมาตรการที่ครอบคลุมตามสโลแกน “ตรวจ ใช้หลีก เลี่ยง ลด ปิด” ที่สนับสนุนให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นจากแอปพลิเคชันต่างๆ ใช้หน้ากาก หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด และปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจมาตรการที่เป็นนวัตกรรม เช่น การพ่นสเปรย์ไอน้ำในอากาศเพื่อลดอนุภาคฝุ่น และการเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ในช่วงที่มลพิษสูง

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษก็มีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร เฝ้าระวัง และคาดการณ์สถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการติดต่อให้ดำเนินการตามแผนงานของแต่ละพื้นที่ มาตรการเร่งด่วนจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบในการปฏิบัติ และได้จัดทำมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองปี 2568 โดยตั้งเป้าหมายเข้มข้นขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่ามีแหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจร และขนส่ง โรงงาน

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมาร์ และ สปป.ลาว เพื่อลดการเผาป่าและฝุ่นควันข้ามพรมแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส ระหว่างปี 2567-2573 ส่วน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ดูว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ก็กำลังจะเข้าสภาวาระเดือน กุมภาพันธ์นี้ หากไม่มีอะไรสะดุด
แม้จะมีความพยายามของรัฐบาล การต่อสู้กับมลพิษ PM2.5 ยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ ความท้าทายหลักอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายและการสร้างความตระหนักรู้ในประชาชน แต่การเผาชีวมวลและการปล่อยไอเสียจากอุตสาหกรรม ถูกฝังลึกในวิถีชีวิตของชุมชน ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลงในทันที

เมื่อเราดูประเทศจีนเป็นตัวอย่าง จีนเคยเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับมลพิษร้ายแรงจากการบริโภคน้ำมันในปริมาณมหาศาล เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ในปี 2013 คุณภาพอากาศแย่ลงมากจนระดับ PM2.5 พุ่งสูงถึง 101.56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนสามารถจัดการกับมลพิษได้อย่างมาก ด้วยการดำเนินการเชิงรุก ตามรายงานจาก 'ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด' (CREA) คุณภาพอากาศของจีนดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มี PM2.5 ลดลง 2.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2023 ที่มีระดับมลพิษทางอากาศ PM2.5 อยู่ที่ 38.98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ

ถึงแม้จีนยังไม่ได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับมลพิษในวันเดียว แต่จีนได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และโปรแกรมที่ครอบคลุมหลายชุดเพื่อต่อสู้กับวิกฤตินี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ การขยายตัวของรถไฟในเขตเมือง ระบบขนส่งที่เน้นรถยนต์ของประเทศได้เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางที่ยั่งยืน และโครงการริเริ่มอื่นๆ อีกหลายโครงการ เช่น เขตปล่อยมลพิษต่ำ (LEZ) แผนห้าปี และแรงจูงใจในการใช้รถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) มีส่วนอย่างมากในการลดระดับมลพิษในประเทศจีน