ตรวจจับรถควันดำแก้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไม่ได้ผล เพราะอะไร

ตรวจจับรถควันดำแก้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไม่ได้ผล เพราะอะไร

ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เพราะได้ทำลายสุขภาพของประชาชนคนเมืองมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีแล้ว และนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2567 ต่อต้นปี 2568 ดัชนีคุณภาพอากาศขึ้นสีแดงอยู่บ่อยครั้งเกิน จนน่าเป็นห่วงผู้ที่เปราะบางหรืออ่อนไหวต่อสารมลพิษอากาศนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือแม้กระทั่งคนพิการ

มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นบ่งชัดว่า สาเหตุหนึ่งคือควันดำที่มาจากรถดีเซลทั้งขนาดเล็กและใหญ่จำนวนหลายล้านคันที่วิ่งอยู่ในเมืองอยู่ทุกวันโดยเฉพาะในช่วงที่สภาพจราจรติดขัด

การกำจัดหรือจำกัดการใช้รถควันดำบนถนน ผ่านการตรวจจับควันดำที่ปล่อยออกมาทางท่อไอเสีย จึงเป็นมาตรการที่ทั้งนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเห็นความสำคัญที่ต้องจัดการให้ได้ และก็ได้มีปฏิบัติการเช่นนั้นมาอยู่ทุกปีที่มีปัญหาเรื่อง PM2.5

แม้กระทั่งกรุงเทพมหานครเองก็ได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานของตนมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในตัวในการจัดการกับปัญหานี้ ให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ทำไมถึงตรวจควันดำกันแล้ว ปัญหาจึงไม่จบ ปัญหานี้อยู่ที่ตัวหนังสือ คืออยู่ที่กฎหมาย กฎหมายแรกที่จะพูดถึงคือพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งมีอายุมากถึง 45 ปีแล้ว

มาตรา 10 ทวิ ในกฎหมายฉบับนี้ บ่งว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี เกินเกณฑ์ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด มาใช้ในทางเดินรถ ซึ่งก็คือถนนนั่นเอง

ถ้าอ่านเฉพาะ มาตรา 10 ทวิ นี้เราก็น่าจะมีความเข้าใจได้ว่า ปัญหาน่าจะหมดไปได้ไม่ยาก แต่ปัญหาในทางปฏิบัติจริง คือ มีพระราชบัญญัติจราจรทางบกที่ออกมาใหม่เพิ่มเติมใน พ.ศ. 2565 ซึ่งก็มีอายุเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น

มาตรา 143 (1)  ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้กำหนดว่า ในกรณีที่รถมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง ถ้านำมาใช้ต่อไปจะเกิดอันตรายได้โดยชัดแจ้ง ก็ให้เจ้าพนักงานจราจรสั่งห้ามการใช้รถนั้นได้ ซึ่งฟังดูดีมากเมื่อคิดไปถึงเนื้อหาใน มาตรา 10 ทวิ ที่เพิ่งกล่าวมา ควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตามใน พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับใหม่นี้มีมาตรา 143(2) ด้วย มีข้อความว่าในกรณีที่รถมีสภาพไม่ถึงกับไม่ปลอดภัยในการใช้ ก็ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจในการสั่งระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราวได้ แล้วให้เจ้าของรถ ผู้ครอบครองรถ หรือผู้ขับขี่รถ นำรถนั้นไปซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน ทั้งนี้ (ตรงนี้อ่านดี ๆนะครับ) ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน และไม่เกิน 60 วัน

ในระยะเวลาระหว่างกาลดังกล่าวนั้น อนุญาตให้เอารถนั้นไปใช้ได้ไปพลางก่อน ตรงนี้ละที่คือปัญหาหลัก

เพราะนั่นหมายความว่ารถควันดำที่เกินมาตรฐานแม้จะได้รับคำสั่งห้ามใช้รถ แต่ก็ยังสมารถนำรถไปใช้ต่อไปได้ อีกอย่างน้อย 15 วัน หรืออาจยาวนานไปถึง 60 วันก็ยังได้ แล้วแต่ว่าเจ้าพนักงานจราจรผู้นั้นจะระบุในคำสั่งห้ามใช้รถและให้ผู้ขับขี่รถนำรถนั้นไปซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยเวลากี่วัน

ไม่ต้องให้ยาวนานถึง 60 วันหรอก เพียงให้ใช้ไปพลางก่อนยาวนานแค่ 30 วัน ก็แน่นอนที่จะหมดช่วงฝุ่นสูงนั้นไปแล้ว ทำให้มาตรการการตรวจจับรถควันดำไร้ประสิทธิผลโดยสิ้นเชิง  

ทั้งนี้ ในการออกคำสั่งห้ามใช้รถ เนื่องจากปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน ของเจ้าพนักงานจราจรทุกวันนี้เป็นการออกคำสั่งห้ามใช้รถตามมาตรา 143(2) เป็นหลัก

ความตั้งใจที่จะลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ด้วยการกำจัดหรือลดรถควันดำออกไปจากถนน จึงไม่สำเร็จด้วยประการฉะนี้

ถ้าจะให้สำเร็จ เจ้าพนักงานจราจรควรจะต้องออกคำสั่งห้ามใช้รถที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน โดยใช้มาตรา 10 ทวิและมาตรา 143 (1) ควบคู่ไปด้วย เนื่องจากถ้านำรถมาใช้ไปพลางต่อไปได้ ก็จะปล่อยควันดำที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนที่รับสัมผัสได้โดยชัดแจ้ง

เรานักวิชาการสามคนคงไม่มีทางอื่น นอกจากต้องทั้งร้องเรียนและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่แก้ไม่ยากนี้ ให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด แบบที่ฝรั่งเรียกว่า ASAP

ขอขอบคุณแทนประชาชนคนไทยที่ต้องทนดมฝุ่นอยู่ทุกวัน

ผู้ร่วมเขียน :-

- ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ 

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา

อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

- รศ.ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล

สมาคมคุณภาพอากาศ ภูมิอากาศ และสุขภาวะ (ประเทศไทย)