ปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่คุ้มทุน สู้โซลาร์เซลล์ไม่ได้

เตรียมปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิวานปาห์ หลังจากเปิดใช้งานเพียง 11 ปี เนื่องจากสู้ราคาโซลาร์เซลล์ที่ถูกกว่าไม่ไหว
KEY
POINTS
- เตรียมปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิวานปาห์ ในปี 2026 เพราะสู้ราคาแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้
- โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้มีนก และเต่าตายไปหลายพันตัว
- แสงระยิบระยับจากกระจกนับแสนแผ่นของโรงไฟฟ้าทำให้ผู้คนสัญจรตาพร่า จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
เตรียมปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิวานปาห์ หลังจากเปิดใช้งานเพียง 11 ปี เนื่องจากมีแหล่งพลังงานสะอาดอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่า และถูกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังกล่าวโทษโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้มีนก และเต่าตายไปหลายพันตัว
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิวานปาห์ เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2014 บนพื้นที่ของรัฐบาลกลางประมาณ 5 ตารางไมล์ใกล้ชายแดนแคลิฟอร์เนีย-เนวาดา แม้ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับพลังงานสะอาดในขณะนั้น แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้กลับไม่สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่าได้
ในตอนนี้ Pacific Gas & Electric ผู้จัดหาแก๊สธรรมชาติ และไฟฟ้า และ บริษัทพลังงาน NRG Energy Inc ผู้เป็นเจ้าของร่วม ตกลงที่จะยุติสัญญาโรงไฟฟ้าอิวานปาห์ หากหน่วยงานกำกับดูแลอนุมัติข้อตกลงดังกล่าว จะส่งผลให้โรงไฟฟ้า 2 แห่งจากทั้งหมด 3 แห่งปิดตัวลงในปี 2026 โดยสัญญาคาดว่าจะมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2039
ส่วน Southern California Edison บริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้า ที่ซื้อพลังงานจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้เช่นกัน กำลังหารือกับเจ้าของโรงงาน และกระทรวงพลังงานของสหรัฐเกี่ยวกับสัญญาของบริษัท
สู้โซลาร์เซลล์ไม่ได้
โรงไฟฟ้าอิวานปาห์ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “พลังงานแสงอาทิตย์แบบรวมความเข้มข้น” หรือ CSP (Solar-Concentrated Solar) เป็นระบบที่สร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยใช้กระจกหรือเลนส์เพื่อรวมแสงอาทิตย์เป็นบริเวณกว้างเข้าสู่ตัวรับ ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีแผ่นกระจกขนาดเท่าประตูโรงรถราว 350,000 บาน คอยสะท้อนแสงแดดไปยังหม้อน้ำบนหอคอยสูงเกือบ 140 เมตร เมื่อพลังงานจากดวงอาทิตย์เข้มข้นมากพอ จะเปลี่ยนน้ำนี้ให้เป็นไอน้ำซึ่งจะขับเคลื่อนกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า
จุดขายสำคัญประการหนึ่งของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์นี้คือ ความสามารถในการกักเก็บความร้อน ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในตอนกลางคืนหรือเมื่อไม่มีแสงแดดโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยเงินกู้ค้ำประกันมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ จากกระทรวงพลังงาน และจากบริษัทสาธารณูปโภคอย่าง Pacific Gas & Electric Company และ Southern California Edison ซึ่งทั้งสองบริษัทได้ทำข้อตกลงระยะยาวเพื่อซื้อพลังงานจากอิวานปาห์
เจนนี่ เชส นักวิเคราะห์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์จาก BloombergNEF กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ค่อนข้างยุ่งยากและไม่เคยทำงานได้ดีอย่างที่ตั้งใจไว้
“โรงไฟฟ้าประเภทนี้รวมเอาชิ้นส่วนกลไกที่ซับซ้อนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของกังหัน และการบำรุงรักษาชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวหลายชิ้น ไหนจะต้องคอยปรับกระจกให้หันตามดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก” เชส กล่าว
แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คือ นวัตกรรมที่เรียกว่า “แผงโซลาร์เซลล์” ที่มีราคาถูกกว่ามาก และใช้งานได้ดี เพราะตอนที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น ไม่มีใครคิดว่าแผงโซลาร์เซลล์จะมีราคาถูกขนาดนี้ แต่ตอนนี้ในบางประเทศแผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกพอๆ กับรั้วบ้าน และมีแบตเตอรี่ที่จุไฟได้มากขึ้น
โฆษกของ NRG กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทอื่น โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์แบบโฟโตวอลตาอิค เช่น แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และการจัดเก็บแบตเตอรี่ถูกพัฒนาไปไกลขึ้นทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุ้มทุน และยืดหยุ่นมากขึ้นในการผลิตพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ ขณะที่โพสต์บนเว็บไซต์ของ PG&E ระบุว่า
“เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีของอิวานปาห์ไม่สามารถสู้เทคโนโลยีโฟโตวอลตาอิคที่มีราคาถูกกว่าได้”
ดังนั้นในเดือนมกราคม NRG ได้สรุปการเจรจากับ PG&E เพื่อยุติข้อตกลงการซื้อขายพลังงานที่ควรจะสิ้นสุดในปี 2039 ซึ่งจะช่วยให้ชาวแคลิฟอร์เนียประหยัดเงินได้อย่างมาก
โรงไฟฟ้าทำลายสิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้าอิวานปาห์แห่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสมอมา แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะตั้งอยู่ในทะเลทรายโมฮาวีที่กว้างใหญ่ และมีแสงแดดสาดส่องตลอดเวลา แต่ทะเลทรายแห่งนี้ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าทะเลทรายที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย ถึงผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าจะตกลงใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้อง และย้ายสัตว์เหล่านี้ไปอยู่ที่อื่น นักสิ่งแวดล้อมหลายคนเชื่อว่าไม่ควรอนุมัติโรงงานแห่งนี้
นอกจากนี้ แสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากกระจกแผ่นใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ปีกหลายพันตัวถูกเผาตาย อีกทั้งยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ และพืชพันธุ์ในทะเลทรายที่หายากอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดการคัดค้านต่อต้านตลอดมา
“โครงการนี้เป็นการสูญเสียทางการเงิน และหายนะด้านสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างโครงการได้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยอันบริสุทธิ์ของทะเลทรายที่ไม่สามารถทดแทนได้” จูเลีย โดเวลล์ นักรณรงค์อาวุโสของ Sierra Club องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว
นอกจากการฆ่าสัตว์ปีก และเต่าหลายพันตัวแล้ว โดเวลล์ ยังกล่าวว่า ในช่วงแรก ๆ ที่เปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้เกิดปัญหาผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าปริมาณที่คาดเอาไว้ เป็นเพราะแสงแดดไม่ส่องแสงมากเท่าที่คาดไว้
ผู้ใช้รถใช้ถนนเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกระจกนับแสนแผ่นที่คอยสะท้อนแสงอาทิตย์ตลอดเวลา โดยแสงระยิบระยับเหล่านี้ทำให้ผู้คนสัญจรตาพร่า จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
หากข้อตกลงของ PG&E ได้รับการอนุมัติ NRG กล่าวว่าจะมีการปลดประจำการหน่วยต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้นำโรงงานนี้ไปใช้ผลิตพลังงานหมุนเวียนอื่นได้ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะทำอย่างไรกับอุปกรณ์ที่อยู่ในโรงไฟฟ้า
ที่มา: AP News, CNN, New York Post
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์