‘มลพิษทางอากาศ’ ทำสมองทำงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ หลุดโฟกัส อ่านสีหน้าไม่ออก 

‘มลพิษทางอากาศ’ ทำสมองทำงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ หลุดโฟกัส อ่านสีหน้าไม่ออก 

“มลพิษทางอากาศ” สามารถส่งผลต่อการทำงานของสมอง เช่น การตีความอารมณ์ การมีสมาธิกับงาน และการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมในสถานการณ์ทางสังคม

KEY

POINTS

  • การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงแม้เพียงช่วงสั้น ๆ ทำให้สมองทำงานแย่ลง ไม่มีสมาธิทำงาน หลุดโฟกัส
  • แยกไม่ออกว่าใบหน้าที่เห็นกำลังแสดงอารมณ์หวาดกลัวหรือมีความสุข ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติต่อผู้อื่นในชีวิตจริง
  • คุณภาพอากาศที่ไม่ดีทำให้พัฒนาการทางสติปัญญาและผลผลิ

มลพิษทางอากาศ” กลายเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสามารถทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจ แต่ดูเหมือนว่ามลพิษทางอากาศสร้างอันตรายได้มากกว่านั้น เพราะการวิจัยล่าสุด พบว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศอาจทำให้ “สมอง” ทำงานแย่ลง

ตามผลการวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมและแมนเชสเตอร์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications พบว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงแม้เพียงช่วงสั้น ๆ ก็อาจทำให้การทำงานของสมองที่จำเป็นต่อกิจกรรมประจำวันลดลงได้ ซึ่งรวมไปถึงการตีความอารมณ์ การมีสมาธิกับงาน และการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมในสถานการณ์ทางสังคม ส่งผลต่อความสามารถของบุคคลในการจดจ่อกับงาน หลีกเลี่ยงสิ่งที่รบกวนสมาธิ

นักวิจัยให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง โดยใช้ควันเทียน หรืออากาศบริสุทธิ์ จากนั้นประเมินประสิทธิภาพการรับรู้ทั้งก่อนและหลังสัมผัสมลพิษ 4 ชั่วโมง โดยเน้นที่งานที่วัดความจำในการทำงาน ความสนใจเฉพาะเจาะจง การจดจำอารมณ์ ความเร็วของจิตพลศาสตร์ และสมาธิอย่างต่อเนื่อง

“ผู้เข้าร่วมที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศไม่สามารถตัดสิ่งเร้าที่รบกวนสมาธิออกไปได้ นั่นหมายความว่าในชีวิตประจำวัน คุณอาจเสียสมาธิกับสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น การซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวอย่างที่ดี อาจหมายความว่า ในขณะที่คุณเดินอยู่ในร้านค้า คุณจะซื้อของแบบไม่ได้วางแผนไว้ก่อน (Impulsive Buying) เพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่ได้จดจ่อกับเป้าหมายในการทำงานของคุณได้” ดร.โธมัส ฟาเฮอร์ตี้ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าว

แม้ว่าความจำในการทำงานจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ความสนใจเฉพาะเจาะจงและการจดจำอารมณ์กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากสัมผัสกับอากาศที่เป็นมลพิษ โดยความบกพร่องเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ว่าผู้เข้าร่วมจะหายใจทางปากหรือทางจมูก 

นอกจากนี้ การศึกษายังพบอีกว่าผู้เข้าร่วมมีผลการทดสอบมีการรับรู้ทางอารมณ์แย่ลงหลังจากสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ โดยพวกเขาแยกไม่ออกว่าใบหน้าที่เห็นกำลังแสดงอารมณ์หวาดกลัวหรือมีความสุข ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติต่อผู้อื่นในชีวิตจริง

“มีการศึกษาวิจัยเชิงเชื่อมโยงที่ศึกษาเรื่องมลพิษทางอากาศในระยะสั้นกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น อาชญากรรมรุนแรง ดังนั้นสามารถเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ในระดับหนึ่ง กล่าวได้ว่าสาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์บางประการ” ดร.ฟาเฮอร์ตี้กล่าว

การศึกษาพบว่า ในแต่ละส่วนของสมองนั้นสามารถทนทานต่อการสัมผัสมลพิษแตกต่างกันออกไป โดยหน่วยความจำในการทำงานทนทานต่อการสัมผัสมลพิษในระยะสั้นได้ดีกว่าส่วนอื่น ๆ ในขณะที่บางฟังก์ชัน เช่น การเลือกสนใจข้อมูลและการจดจำอารมณ์ มีความเสี่ยงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเลือกสนใจข้อมูล (Selective Attention) เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจและพฤติกรรมที่มุ่งเป้าหมาย เช่น การเดินในร้านขายของชำ ซึ่งการทำงานของสมองในส่วนนี้จะช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับการเลือกซื้อของ และเพิกเฉยต่อสิ่งเร้าอื่น ๆ ขณะที่การรับรู้อารมณ์ช่วยให้บุคคลสามารถตีความสัญญาณทางสังคม และชี้นำการตอบสนองที่เหมาะสมในการโต้ตอบระหว่างบุคคลได้

มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า มลพิษทางอากาศภายนอกอาคารทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 4.2 ล้านคนต่อปีทั่วโลก

ศ.ฟรานซิส โพป ผู้ร่วมเขียนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมกล่าวว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีทำให้พัฒนาการทางสติปัญญาและผลผลิตของคนงานลดลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจในโลกเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องใช้สมองในการทำงาน

“ประสิทธิภาพที่ลดลงส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับผลกระทบอันเป็นอันตรายของมลพิษต่อสุขภาพสมอง โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีมลพิษสูง” ศ.โพปกล่าว

นักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสำรวจว่าแหล่งมลพิษต่าง ๆ ส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง เช่น เด็กและผู้ใหญ่สูงอายุ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีกฎระเบียบคุณภาพอากาศที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องจัดการกับแหล่งที่มาของมลพิษ บังคับใช้การควบคุมการปล่อยมลพิษ และส่งเสริมเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น 

ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ทุกคนสามารถลดการสัมผัสมลพิษได้โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ใช้เครื่องฟอกอากาศ และสนับสนุนให้มีสภาพแวดล้อมในเมืองที่สะอาดขึ้น แม้ว่ามาตรการส่วนบุคคลจะพอบรรเทาได้ แต่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระบบเพื่อให้แน่ใจว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้นอย่างยั่งยืน

การศึกษานี้ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิธีที่การสัมผัสมลพิษทางอากาศ แม้ในระยะสั้นสามารถส่งผลต่อการทำงานของจิตใจซึ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวันได้ ตั้งแต่การโฟกัสที่ลดลง ไปจนถึงความยากลำบากในการตีความทางอารมณ์ ผลกระทบทางปัญญาเหล่านี้เน้นย้ำถึงอันตรายที่ซ่อนเร้นของอากาศที่เป็นมลพิษ และเป็นการย้ำเตือนว่าอากาศที่สะอาดเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาการทำงานของสมองและความเป็นอยู่โดยรวม ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ


ที่มา: EarthIndependentThe Guardian