เทรนด์พลังงานนิวเคลียร์ 2025 นวัตกรรมที่จะพลิกโฉมโลก

เทรนด์พลังงานนิวเคลียร์ 2025 นวัตกรรมที่จะพลิกโฉมโลก

ภาคพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตในปี 2025 โดยมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (SMRs) และการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์

KEY

POINTS

  • องค์

ในปี 2025 ความต้องการแหล่งพลังงานที่สะอาด และยั่งยืน ทำให้ภาคพลังงานนิวเคลียร์กำลังเติบโต และเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะเป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพ และปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่า การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นเกือบ 3% ต่อปีจนถึงปี 2026

พลังงานนิวเคลียร์ฟื้นตัวในบางประเทศ เช่น จีนตั้งเป้าที่จะมีความสามารถผลิตพลังงานนิวเคลียร์สูงถึง 100 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2025 ขณะที่อินเดียยังคงเพิ่มจำนวนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (SMRs)

ในยุโรป หลายประเทศกำลังพิจารณานโยบายยกเลิกการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์อันดับสองของโลกได้ประกาศว่าจะขยายพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่ เยอรมนี ซึ่งเคยมีแผนที่จะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ก็ได้เลื่อนการยุติออกไปเพื่อรักษาความเสถียรของกริดไฟฟ้า และความมั่นคงด้านพลังงาน

ขณะที่ประเทศไทยก็กำลังดำเนินการในภาคพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กว้างขึ้น โดยโฟกัสไปที่ศักยภาพของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMRs) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาด้านกฎระเบียบ และความปลอดภัย ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ ฟุกุชิมะ ในปี 2011 ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อพลังงานนิวเคลียร์ยังคงมีอยู่ แต่รัฐบาลหลายๆ ประเทศ ก็ได้ดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่ามีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ดี

ผลิตพลังงานนิวเคลียร์เพิ่ม 3 เท่า

แรงผลักดันที่สำคัญ คือ เป้าหมาย Triple Global Nuclear Capacity by 2050 ที่ถูกเปิดตัวที่ COP28 ที่กรุงดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 ซึ่งเป็นการยอมรับถึงบทบาทสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5°C

โดยในปีนั้นได้รับการสนับสนุนจาก 20 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร และต่อมาในการประชุม COP29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีประเทศที่เข้าร่วมการเรียกร้องดังกล่าวรวมเป็น 31 ประเทศ เป้าหมายคือ การเพิ่มความสามารถในการ ‘ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกสามเท่าภายในปี 2050’ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

WEF ถกพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรก

นายราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA กล่าวในงานการประชุมประจำปีของ World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2025 ที่เมืองดาวอส มีการจัดการประชุมสาธารณะเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรกว่า โลกกำลังอยู่ในยุคที่บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มีความต้องการแหล่งพลังงานไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ และเชื่อถือได้สำหรับปัญญาประดิษฐ์ และศูนย์ข้อมูล (Data Center) พวกเขาจึงหันมามองพลังงานนิวเคลียร์ทั้งในรูปแบบของเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม และเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (SMR) มากขึ้น

"ยุคใหม่ของพลังงานนิวเคลียร์กำลังมาถึง เมื่อความต้องการไฟฟ้าที่สะอาดเพิ่มขึ้นทั่วโลก โครงการ นโยบาย และการลงทุนใหม่ๆ ก็กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน 32 ประเทศ มีเครื่องปฏิกรณ์ 419 เครื่อง ที่เดินเครื่องอยู่ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 378.1 กิกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 10 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของโลก นอกจากนี้ มีเครื่องปฏิกรณ์มากกว่า 62 เครื่องที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้มากขึ้นทั่วโลก”

นิวเคลียร์ฟิวชันเทคโนโลยีใหม่

แม้ว่านิวเคลียร์ฟิวชัน (fusion) จะมีศักยภาพที่น่าทึ่ง แต่ยังคงเป็นหัวข้อที่คนทั่วไปพูดถึงน้อยมาก ทั้งๆ ที่เตาปฏิกรณ์ฟิวชันมีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวน้อยกว่า และต้นทุนถูกกว่านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMRs) ที่เป็นพลังงานประเภทฟิชชัน (fission) ประมาณ 50% สามารถส่งผลให้ประชาชนใช้ไฟในราคาถูกกว่าเดิมในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม พลังงานฟิวชันเป็นเทคโนโลยีใหม่ และยังอยู่ในขั้นการทดลอง เมื่อเทียบกับนิวเคลียร์ฟิชชันที่ถูกใช้งานมาหลายทศวรรษแล้ว

นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ SeaX Ventures กล่าวว่า พลังงานฟิวชันนิวเคลียร์ค่อนข้างใหม่ บางประเทศเลยไปโฟกัสกับความรู้ปัจจุบันที่มีเกี่ยวกับ SMRs และก็พยายามส่งเสริม แต่ถ้าเปรียบเทียบข้อดีของ ฟิวชันนิวเคลียร์ จะเราจะเห็นว่าดีกว่า SMRs

SeaX Ventures ได้ร่วมลงทุนกับ Type One Energy Group ที่มุ่งมั่นที่จะมอบพลังงานฟิวชันที่ยั่งยืน และราคาไม่แพงให้กับโลก โดย บิล เกตส์ เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Type One Energy ผ่าน Breakthrough Energy Ventures (BEV) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาดที่เขาก่อตั้งขึ้น โดย BEV เป็นหนึ่งในนักลงทุนหลักของ Type One Energy

“SeaX Ventures เข้าไปลงทุนด้วย เพราะมีความคิดว่าเราจะนำเอาเทคโนโลยีนี้มาขยายผลที่ประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สามารถมีโรงงานไฟฟ้าฟิวชันได้ จริงๆ แล้วหลายประเทศอยากจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ถ้าดูจากองค์กรที่ลงทุนร่วมกับเราใน Type One Energy Group เช่น มีหลายกองทุนในสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นสิงคโปร์ก็ทราบเรื่องนี้แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเคลื่อนไหวได้ไวกว่า ผมอยากผลักดันให้ไทยเป็น fast follower ในการนำเทคโนโลยีฟิวชันนิวเคลียร์ มาใช้ตามอเมริกาก่อนประเทศอื่นๆ"

ไทยผลักดันพลังงานนิวเคลียร์

การผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ สภานโยบายพลังงานแห่งชาติ (NEPC) ของประเทศไทย ได้วางแผนที่จะนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2018-2037 โดยตั้งเป้าหมายให้ พลังงานนิวเคลียร์มีส่วนช่วยในการผลิตไฟฟ้ารวม 10-15% ภายในปี 2037

โดยตามแผน PDP ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะมี 2 กิกะวัตต์ (GW) จากพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2030 ซึ่งอาจจะต้องสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อย 2-4 เครื่อง แต่บางคนเชื่อว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้เนื่องจากอุปสรรคด้านกฎระเบียบ และความกังวลของประชาชน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์