คาร์บอนเครดิตท้าทายสู่รายได้ด้วยการปกครองเชิงผู้ประกอบการ

ภาวะล้มละลายทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.) และตลาดคาร์บอนเครดิตอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันในสายตาของสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ในระดับสากล มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินเฉกเช่นของไทย จนจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ในการสร้างรายได้และสนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตรับผิดชอบ
แนวคิด “ความเป็นผู้ประกอบการทางการปกครอง” หรือ Entrepreneurial Governance จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการข้ามผ่านความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้เน้นการบริหารจัดการโดยไม่พึ่งพาทรัพยากรจากรัฐบาลส่วนกลางเพียงอย่างเดียว แต่จะเสริมสร้างศักยภาพในพื้นที่ผ่านการสร้างรายได้แบบใหม่ หนึ่งในโอกาสสำคัญคือ การเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรายได้ให้กับองค์กร
ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายงานว่า ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในปี 2024 มีมูลค่าซื้อขายรวมกว่า 85.79 ล้านบาท โดยมีปริมาณซื้อขายอยู่ที่ 686,079 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว ได้เริ่มมีบทบาทในฐานะผู้พัฒนาโครงการเพื่อเข้าสู่ตลาดนี้ รวมถึง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เป็นนายหน้าซื้อขายทั้งหมด 7 รายการ และในส่วนของผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งหมด 759 รายการ นี่คือจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตสามารถเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากมีการวางแผนและดำเนินงานอย่างเหมาะสม
แนวคิด “ความเป็นผู้ประกอบการทางการปกครอง”
การนำแนวคิด Entrepreneurial Governance มาใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสององค์ประกอบหลัก ได้แก่: 1. แนวคิดที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric Approach):
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมองประชาชนเป็น “ลูกค้า” และออกแบบนโยบายหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง แนวคิดนี้ช่วยเพิ่มความพึงพอใจและสร้างความเชื่อมั่นในบริการขององค์กร และ 2. การใช้กลยุทธ์และนวัตกรรมของภาคเอกชน: การบริหารงานควรเน้นการสร้างมูลค่า (Value Creation) ผ่านการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม (Optimization) มากกว่าการแสวงหาผลลัพธ์สูงสุด (Maximization) ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมโครงการปลูกป่าชุมชนหรือการแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างรายได้เสริมให้กับพื้นที่อีกด้วย
แนวทางการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในระดับท้องถิ่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งเริ่มปรับตัวด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าชุมชนและจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังคงมีโอกาสอีกมากในการนำทรัพยากรในพื้นที่มาใช้สร้างรายได้ผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต
ตลาดคาร์บอนเครดิตกับ อบจ. การสร้างโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่าในพื้นที่ หรือการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะรีไซเคิลเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต โอกาสของการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นเป็นไปได้หากได้รับการริเริ่มจากผู้นำที่มีวิศัยทัศย์และความร่วมมือจากภาคการศึกษา (มหาวิทยาลัย) และส่งเสริมและผลักดันการภาคปกครอง อย่าง กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบผู้ประกอบการปกครอง ต้องคิดเชิงกลยุทธ์ การสร้างความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และระหว่างองค์กร การบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่เหมาะสม และเกณฑ์ประเมินผลสำเร็จ ควรประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. การบริหารจัดการความเสี่ยง 2. การเพิ่มรายได้ 3. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย 4. การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ และ 5. การปรับตัวเพื่อการแข่งขันยกระดับคุณภาพชีวิต
ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นโอกาสสำคัญสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยที่จะสร้างรายได้ใหม่และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิด Entrepreneurial Governance ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา แต่ยังช่วยเปลี่ยนบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กลายเป็นผู้สร้างนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชน และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปรับตัวและนำนโยบายเชิงรุกเหล่านี้ไปใช้ได้ ความเป็นผู้ประกอบการทางการปกครองจะไม่ใช่เพียงแนวคิด แต่จะกลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและมั่นคง