หญิงแอฟริกา ‘คลั่งขาว’ ใช้ครีมฟอกผิว ค่านิยมตกทอดจากยุคค้าทาส

ค่านิยมคลั่งผิวขาวในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกมีมาช้านาน ทำให้ผู้หญิงแอฟริกาหันมาใช้ครีมฟอกผิวที่มีส่วนผสมอันตราย
KEY
POINTS
- ผู้หญิงแอฟริกาพ
แม้ในปัจจุบันจะมีค่านิยมว่าทุกคนต่างมีความงามในแบบตนเอง แต่ในหลายพื้นที่ของโลก ลัทธิ “คลั่งขาว” ยังคงมีอยู่ คาดว่ามูลค่าตลาดโลกสำหรับการฟอกสีผิวจะพุ่งจากประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เป็น 16,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 โดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันตกที่ผู้คนสามารถหาซื้อครีมผิวขาวและฉีดสารบางอย่างเข้าไปร่างกายได้เกลื่อนเมือง และส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการควบคุม และเป็นอันตราย
ค่านิยมคลั่งผิวขาวในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกมีมาช้านาน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากยุคการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ที่นำสีผิวและความแตกต่างทางกายภาพมาใช้แยกแยะความเป็นทาส ผู้ล่าอาณานิคมมองว่าสีผิวที่มีเมลานินสูงเป็นตัวแทนของความน่าเกลียดและด้อยกว่า
ชุดความคิดนี้สืบทอดมาเรื่อย ๆ ทำให้ผู้หญิงแอฟริกาพยายามทำให้ผิวขาวขึ้น เพราะการมีผิวที่ขาวขึ้นกว่าคนอื่น ๆ หมายความว่าเป็นคนที่มีอันจะกิน ไม่เคยต้องทำงานหนัก แน่นอนว่าได้รับการปฏิบัติและสิทธิพิเศษ มีสถานะที่สูงขึ้น และสวยงามกว่าคนในสังคม
ขณะเดียวกันเมื่อมีโซเชียลมีเดียเข้ามา ก็ยิ่งทำให้สร้างเครือข่ายการหลอกลวงได้ง่ายยิ่งขึ้น มีเพจสินค้าจำนวนมากในแคเมอรูน ไอวอรีโคสต์ ไนเจอร์ ไนจีเรียและเซเนกัล โฆษณาชวนเชื่อด้วยคลิปวิดีโอผู้หญิงที่ลอกชั้นผิวหนังออกเพื่อให้เห็นสีผิวที่อ่อนลง โดยที่ครีมเหล่านี้มีส่วนผสมของปรอทและสเตียรอยด์ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
แม้ว่าครีมจะยังคงครองตลาดอยู่ แต่สารฉีดสารไวท์เทนนิงเข้าร่างกายกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว จนมีบริการฉีดสารเหล่านี้ตามแผงตลาดนัด โดย มาร์เซลลิน โดห์ ประธานกลุ่มประชาสังคมในไอวอรีโคสต์ที่ต่อต้านกระแสแฟชั่นผิวขาวระบุว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่าวิธีการฉีดให้ผลที่เร็วกว่า และช่วยให้ผิวมีสีสม่ำเสมอมากขึ้น
ไม่มีใครรู้ว่าร้านเหล่านี้ใช้สารอะไรฉีดเข้าร่างกาย ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ มันไม่ได้ทำให้ผิวขาวขึ้นตามที่อวดอ้าง
ในปี 2018 ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาหลายประเทศประกาศห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกสีผิวที่มีปรอทและสเตียรอยด์ในปริมาณสูง อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2023 ระบุว่าผู้หญิงไนจีเรีย 77% ใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกสีผิว ซึ่งสูงสุดในบรรดาประเทศทั้งหมด ส่วนในอันดับอื่น ๆ ได้แก่ สาธารณรัฐคองโก (66%) เซเนกัล (50%) กานา (39%) แอฟริกาใต้ (32%) ซิมบับเว (31.15%) และมาลี (25%)
หากแยกออกตามช่วงวัยพบว่า กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีฟอกสีผิวสูงสุดที่ 55.9% รองลงมาคือผู้ที่มีอายุ 31-49 ปี ที่ 25.9% โดยระบุว่าเหตุผลที่ใช้ต้องใช้ครีมฟอกสีผิว เพราะ ต้องการให้มีผิวเรียบเนียนและสุขภาพดี (49.38%) เพื่อความสวยงาม (30.86%) ต้องการเสริมความงาม และประมาณ 20% ต้องการได้รับการปฏิบัติที่ดีทางสังคม
ดร.โฟลา เดวิด แพทย์ผิวหนัง กล่าวกับ Guardian TV ว่า “ในตลาดมีครีมบำรุงผิวที่เป็นอันตรายมากมาย ผมอยากให้ผู้คนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากกว่า เพราะระบุส่วนผสมชัดเจนและถูกผลิตมาเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด”
จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของสำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ปรับผิวขาวยอดนิยมของไอวอรีโคสต์ พบว่าไม่มีสารฟอกสีผิว แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเทรนด์ดังกล่าวยังไม่ถือว่าปลอดภัย โดยในปี 2023 องค์การอนามัยโลกเรียกเทรนด์นี้ว่าเป็น “ปัญหาสุขภาพระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
ในเดือนพฤษภาคม 2024 สำนักงานบริหารและควบคุมอาหารแห่งชาติของไนจีเรีย (NAFDAC) กล่าวว่า ครีมบำรุงผิวกายสูตรไวเทนนิง Caro White ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป มีกรดโคจิกในระดับที่เป็นอันตราย โดยสารดังกล่าวจะยับยั้งและป้องกันการก่อตัวของไทโรซีน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการผลิตเมลานิน
จากข้อมูลของโครงการจัดการความปลอดภัยเครื่องสำอางของกระทรวงสาธารณสุข (CSMP) พบว่า 52% ของผู้ผลิตครีมบำรุงผิวใช้สารทำให้ผิวขาวในผลิตภัณฑ์ของตน และมีสารพิษหลายชนิด เช่น ปรอท ไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม ทำให้ผิวหนังเสียหาย เป็นพิษต่ออวัยวะ และแม้แต่เป็นมะเร็ง
ปัจจุบันนี้ภาครัฐยังไม่มีการควบคุมดูแลเกี่ยวกับส่วนผสมหรือกระบวนการผลิต ครีมบางชนิดมีกลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ครีมบางชนิดทำให้แก่ก่อนวัยหรือมีสารก่อมะเร็ง แต่สำหรับสารฉีดแทบไม่มีข้อมูลเลยว่าส่งผลอย่างไรบ้าง
ซาราห์ คูรูมา แพทย์ผิวหนังจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทรชวิลล์ในไอวอรีโคสต์เปิดเผยกับ AFP ว่าจากการพิจารณาจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดสารดังกล่าวเข้าผิว แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นสเตียรอยด์ พร้อมเสริมว่าการใช้เป็นเวลานานในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดภาวะผิวหนังเสื่อม เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
องค์การอนามัยโลกยังยืนกรานว่าส่วนผสม เช่น ปรอท ไฮโดรควิโนน และคอร์ติโคสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ฟอกสีผิวอาจทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ สิวสเตียรอยด์ ผิวเปลี่ยนสี ความหนาของผิวเปลี่ยนแปลง โรคอักเสบ และภาวะต่าง เช่น พิษปรอท โรคไต และโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังได
สอดคล้องกับประสบการณ์ของเกรซ นาโคโร แพทย์ผิวหนังจากโรงพยาบาลสูตินรีเวชในแคเมอรูน ผู้ป่วยหลายรายมีปัญหาผิวหนังและไตวายหลังจาก “ซื้อยาฉีดเหล่านี้ทางอินเทอร์เน็ต”
ขณะเดียวกัน “การฉีดกลูตาไธโอน” ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาแพง ใช้ในการรักษามะเร็งและโรคพาร์กินสันได้ บ่อยเกินไปก็อันตรายเช่นกัน “ผู้หญิงอายุน้อยและมีการศึกษา อายุระหว่าง 25-30 ปี ฉีดกลูตาไธโอนเข้าร่างกายทุกสัปดาห์ บางครั้งฉีดวันเว้นวัน จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนัง เช่น สิว และภาวะที่ทิ้งรอยแผลเป็นและจุดด่างดำซึ่งรักษาได้ยาก” คูรูมากล่าว
ในประเทศกานาออกคำเตือนด้านสาธารณสุขในปี 2021 โดยเตือนว่าการฉีดกลูตาไธโอน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก โดยมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษต่อตับ ไต และระบบประสาท
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะผ่านพ้นยุคการค้าทาสไปแล้ว แต่ค่านิยมที่ชาวตะวันตกนำมาใช้ในแอฟริกายังคงอยู่ไม่หายไปไหน เห็นได้จากความคลั่งขาวที่ยังคงฝังแน่นหยั่งรากลึกอยู่ในสังคม
ที่มา: AFP, Business Insider, Guardian, The Conversation