ครบรอบ 14 ปี อุบัติภัยฟุกุชิมะ กรีนพีซเรียกร้องยุติพลังงานนิวเคลียร์

ครบรอบ 14 ปี อุบัติภัยฟุกุชิมะ กรีนพีซเรียกร้องยุติพลังงานนิวเคลียร์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เป็นเหตุการณ์ที่ทวีความรุนแรงหลังจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้เกิดการหลอมละลายของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม

KEY

POINTS

  • จากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ในวันที่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ของบริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) เป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิ ที่ถล่มทางตะวันออกของญี่ปุ่นในวันที่ 11 มีนาคม 2011 โดยมีผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในพื้นที่เป็นระยะเวลานานจนถึงปัจจุบัน

โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ขนาด 9.0 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น หลังจากนั้นเพียงไม่นาน สึนามิ ขนาดใหญ่ที่มีคลื่นสูงถึง 15 เมตร ก็ได้ถล่มชายฝั่งของญี่ปุ่น โดยคลื่นสึนามิได้ทำลายระบบไฟฟ้าและการสื่อสารของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หลังจากการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในระบบทำความเย็นของโรงไฟฟ้า การระบายความร้อนของเครื่องปฏิกรณ์ที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ถูกหยุดชะงัก ทำให้เกิดการหลอมละลายของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ใน 3 หน่วยของโรงไฟฟ้า (เครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2, และ 3) ทำให้เกิดการระเบิด ที่ส่วนของภาชนะห่อหุ้มของเครื่องปฏิกรณ์ ทำให้เกิดการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาในปริมาณสูงออกสู่สิ่งแวดล้อม กัมมันตภาพรังสี เช่นสู่บรรยากาศและทะเล โดยเฉพาะจากน้ำหล่อเย็นที่มีสารกัมมันตภาพรังสี

ประชาชนที่อาศัยในรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าได้รับคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ และในระยะเวลาหลังจากนั้นพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าถูกจำกัดการเข้าถึงอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตทันทีจากการสัมผัสรังสี

แต่มีรายงานเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากรังสี น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีถูกปล่อยออกสู่ทะเลและแหล่งน้ำโดยรอบ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสิ่งมีชีวิตในทะเลและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมง จากนั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิถูกปิดการใช้งานอย่างถาวรและยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู โดยมีการเก็บกู้สารกัมมันตภาพรังสีและการจัดการขยะกัมมันตภาพรังสี

ญี่ปุ่นลดใช้พลังงานนิวเคลียร์

เหตุการณ์ฟุกุชิมะส่งผลให้เกิดการทบทวนในนโยบายพลังงานของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ และหันไปเน้นการใช้ พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เริ่มเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่ต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น และได้รับการสนับสนุนจากบางภาคส่วนที่เชื่อว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่สำคัญในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แผนฉบับใหม่ กลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งแผนปฎิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ 2035 (National Determined Contributions : NDC) ให้กับองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนพลังงานฉบับที่ 7 (the Seventh Strategic Energy Plan) และแผนดำเนินมาตรการยับยั้งภาวะโลกร้อน (the Plan for Global Warming Countermeasures) ซึ่งโดยพื้นฐานจะต้องเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนที่กล่าวถึงพลังงานนิวเคลียร์ว่า ‘ลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ให้มากที่สุด’ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนพลังงานฉบับที่ 4 ปี 2014 (the Fourth Strategic Energy Plan) หลังจากเหตุอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ได้ถูกลบออกไปแล้ว 

ปรับแผนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แซม แอนเนสเล่ย์ ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า แผน NDC ของญี่ปุ่นนั้นมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 60 ภายในปีงบประมาณ 2035 เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2013

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวยังต่ำเกินไปหากพิจารณาจากฉากทัศน์ที่จะชะลอไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และจากความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายที่ควรจะเป็นควรอยู่ที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 78  จึงจะสอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส

"แผนพลังงานฉบับใหม่ (ฉบับที่ 7) ของญี่ปุ่นได้ตัดเรื่องที่ระบุถึงการลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ให้มากที่สุดออกจากแผนพลังงานฉบับที่ 4 ในปี 2014 หลังจากเกิดอุบัติภัยที่ฟุกุชิมะ แต่กรีนพีซ ญี่ปุ่นเตือนว่า การกลับมาผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์อาจไม่สามารถปกป้องสภาพภูมิอากาศได้ทันเวลา เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการวางแผนและเริ่มโครงการ และความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

 

การปล่อยกัมมันตภาพรังสี

แอนเนสเล่ย์ กล่าวด้วยว่า เราไม่อาจลืมเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอุบัติภัยที่ฟุกุชิมะ ไดอิจิ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวที่สูญเสียคนรัก รวมถึงผู้ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และภัยพิบัติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้สร้างปัญหาต่างๆ ที่ยังคงแก้ไขไม่ได้ แม้จะผ่านไป 14 ปีแล้ว โดยเฉพาะการปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในระยะยาว ซึ่งกระบวนการระบายกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเลยังคงดำเนินการต่อไปจนถึงปี 2594 หรืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า

ทางเลือกใหม่ พลังงานหมุนเวียน

กรีนพีซ ญี่ปุ่นเชื่อว่า แนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้คือการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ โดยประเทศญี่ปุ่นมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพลังงานที่สะอาดและปลอดภัย แต่ยังสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับการผลิตพลังงานในประเทศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

"การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับการอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นคือทางเลือกที่เราต้องมุ่งไปในอนาคต รัฐบาลญี่ปุ่นควรดำเนินการลงทุนในนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถเป็นผู้นำในด้านการประหยัดพลังงานและพลังงานที่สะอาด" แอนเนสเล่ย์กล่าว

กรีนพีซ ญี่ปุ่นยังยืนยันว่าเป้าหมายในการยุติยุคนิวเคลียร์และการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนคือทางเดียวที่จะป้องกันการเกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ในอนาคต และช่วยสร้างโลกที่ยั่งยืนสำหรับลูกหลานใน 100 ปีข้างหน้า

 

 

อ้างอิง : Green Peace