Sustainability Week Asia 2025 เจาะลึกองค์กรชั้นนำ แก้ปัญหาโลก

Sustainability Week Asia 2025 เจาะลึกองค์กรชั้นนำ แก้ปัญหาโลก

Sustainability Week Asia 2025 เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างการตระหนักรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในระดับโลก เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในทุกมิติ

KEY

POINTS

  • Economist Impact จัดงาน Sustainability Week Asia ครั้งที่ 4 ภายใต้ธีม From Idealism to Pragmatism
  • เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วนทั่วโลกแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึก แก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่
  • หนึ่งในไฮไลท์งานวันแรก คือ สร้างมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนบนความท้าทายในด้านระบบการจัดประเภท
  • ความซับซ้อนของระบบการจัดหมวดหมู่ด้านความยั่งยืน (Taxonomies) เพิ่มขึ้น ระบบจัดหมวดหมู่เพิ่มขึ้นจาก 47 ระบบ เป็นเกือบ 70 ระบบ
  • กลไก “

Economist Impact ได้ประกาศจัดงาน Sustainability Week Asia ประจำปีครั้งที่ 4 ในวันที่ 25-26 มีนาคม 2568 ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ธีม From Idealism to Pragmatism โดยงานนี้จะรวบรวมผู้นำด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกกว่า 1,000 คน เพื่อเจาะลึกถึงประเด็นสำคัญที่กำลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจ

ทั้งในเรื่องของการบรรลุเป้าหมาย Net Zero การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงบทบาทของ Chief Sustainability Officer (CSO) ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แชร์มุมมองเชิงลึกแก้ไขปัญหาโลก

ทานาห์ ซัลลิแวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ GoTo กล่าวว่า งาน Sustainability Week Asia ครั้งที่ 4 นี้เป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วนทั่วโลกเพื่อมารวมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองเชิงลึกในการแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการผลักดันให้เกิดการเติบโตในระยะยาวด้วย

ภายในงานจะมีการอภิปรายในประเด็นสำคัญ การสัมภาษณ์พิเศษ และการนำเสนอกรณีศึกษาที่สำคัญจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางลดการปล่อย คาร์บอนทางอ้อม (Scope 3 emissions) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero

งานนี้จะนำเสนอมุมมองจากผู้นำทางธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ และตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการสร้างโลกที่ยั่งยืนและการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

มิสชา เลนซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (ภาคเอกชน) ธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวว่า Sustainability Week Asia มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการร่วมกันหารือเกี่ยวกับโซลูชันเชิงนวัตกรรมและกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

"ผมตั้งตารอที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้นำมากมาย เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

อเล็กซานดรา มอร์เนต์-บัวส์นิก ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน แพนดอร่า กล่าวถึงงานนี้ว่า Sustainability Week Asia เป็นงานสัมมนาที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดันเป้าหมายด้านความยั่งยืน การส่งเสริมผู้นำในระดับภูมิภาค รวมถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นร่วมกัน

Sustainability Week Asia 2025 เจาะลึกองค์กรชั้นนำ แก้ปัญหาโลก

Taxonomies ซับซ้อนเพิ่มขึ้น

หนึ่งในไฮไลท์ของงานวันแรก (25 มีนาคม 2568) ได้แก่ การสร้างมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนบนความท้าทายในด้านระบบการจัดประเภท (Troubling Taxonomies: How to Standardise Sustainability Reporting) โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ อรศรัณย์ มนุอมร ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก, ซูซานนา ฮาเซนอร์ล หัวหน้าธุรกิจโซลูชั่นความยั่งยืน - เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ของ SAP และ เจเรมี ลาร์โด รองประธานอาวุโสด้าน Higg Index ของ Cascale องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกที่รวมตัวองค์กรกว่า 300 แห่งในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค

การอภิปรายเริ่มต้นด้วยหลักการสำคัญของโลกธุรกิจ สิ่งที่สามารถวัดผลได้ ย่อมสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของระบบการจัดหมวดหมู่ด้านความยั่งยืน (Taxonomies) และกรอบการรายงานทำให้เกิดความท้าทายอย่างมาก แม้ว่าระบบการจัดหมวดหมู่เหล่านี้จะให้คำนิยามและโครงสร้างในการประเมินผล แม้ว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือสำหรับการรายงานโดยตรง แต่สามารถช่วยระบุช่องว่างของข้อมูลและกำหนดเกณฑ์ด้านความยั่งยืนให้ชัดเจนขึ้น

ความพยายามในการกำหนดมาตรฐานระบบการจัดหมวดหมู่ทั่วโลกยังคงดำเนินไป แต่อุปสรรคจากความแตกต่างของแต่ละภูมิภาคทำให้การบรรลุถึงมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ระดับของการทำงานร่วมกัน (Interoperability) กำลังดีขึ้นเมื่อหลักการพื้นฐานเริ่มสอดคล้องกันมากขึ้น

กลไก “สัญญาณไฟจราจร” จัดประเภทสินทรัพย์

อรศรัณย์ มนุอมร ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก กล่าวว่า จำนวนระบบการจัดหมวดหมู่ด้านความยั่งยืนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 47 ระบบ เป็นเกือบ 70 ระบบ ซึ่งสะท้อนการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดการอาคารสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มากขึ้น

นอกจากนี้ระบบการจัดการต่างๆ เหล่านี้ยังได้ประยุกต์กลไก “สัญญาณไฟจราจร” มาใช้ในการจัดประเภทสินทรัพย์—สีเขียว (Green) สีเหลือง (Transition) และสีแดง (Unsustainable) อย่างไรก็ตาม การจำแนกสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าติดตามซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากบริบทท้องถิ่นและพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศระดับสากล

ERP ผสานข้อมูลคาร์บอนกับตัวชี้วัดทางการเงิน

ซูซานนา ฮาเซนอร์ล หัวหน้าธุรกิจโซลูชั่นความยั่งยืน - เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ของ SAP กล่าวเสริมว่า SAP เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ ERP ชั้นนำระดับโลก และ ERP คือระบบที่ช่วยองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรและกระบวนการธุรกิจต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการจัดการการเงิน การผลิต การสต็อกสินค้า การขาย, การจัดการบุคลากร ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำได้โดยการใช้ระบบ SAP

"การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสและปรับปรุงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน ปัจจุบัน ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ไม่ได้ใช้เพียงจัดการข้อมูลทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถผสานข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนและข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้ากับตัวชี้วัดทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม คุณภาพของข้อมูลยังคงเป็นอุปสรรคถึง 78% ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทในเอเชียยังคงต้องการการรับรองโดยบุคคลที่สาม เช่น การตรวจสอบบัญชี (Audit) กำลังเพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้"

การเชื่อมโยงตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนให้เข้ากับข้อมูลทางการเงินจะสามารถช่วยเสริมสร้างการตัดสินใจทางธุรกิจได้ โดยองค์กรต่างๆ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบด้านการเงินของความยั่งยืนมากขึ้น โดย CFO จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว และโซลูชันของ SAP เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยง Carbon Footprint เข้ากับการวิเคราะห์ผลกำไรและขาดทุน เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับผลประกอบการทางเศรษฐกิจ

AI ลดภาระการรายงาน แต่ยังมีความท้าทาย

องค์กรอย่าง Cascale (เดิมคือ Sustainable Apparel Coalition) กำลังผลักดันการใช้เครื่องมือรายงานมาตรฐานเพื่อลดความซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ผู้ค้าปลีก และซัพพลายเออร์จะช่วยปรับปรุงกระบวนการรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดย เจเรมี ลาร์โด รองประธานอาวุโสด้าน Higg Index ของ Cascale กล่าวว่า ภาระของการรายงานที่กระจัดกระจายเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ผลิตที่ต้องส่งข้อมูลให้กับหลายแบรนด์

ตัวอย่างเช่น ซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มต้องรายงานตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมผ่านแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3 Emissions) ยังคงเป็นความท้าทาย ปัญหาหลักเกิดจากการขาดแคลนข้อมูลที่สอดคล้องกัน ระบบมาตรฐานและโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI จึงสามารถช่วยประมาณค่าการปล่อยก๊าซในกรณีที่ไม่มีข้อมูลจากซัพพลายเออร์

AI สามารถช่วยลดภาระการรายงาน ESG โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่หน่วยงานกำกับดูแลยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลต้นทางที่เชื่อถือได้และมีความโปร่งใส

การทำให้ระบบการจัดหมวดหมู่สามารถใช้งานร่วมกันได้ช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ซ้ำซ้อน ธุรกิจที่ปฏิบัติตามระบบหนึ่งควรได้รับการยอมรับในอีกระบบหนึ่งเพื่อลดอุปสรรคด้านการลงทุนข้ามพรมแดน ระบบการจัดหมวดหมู่แบบสัญญาณไฟจราจรของอาเซียน ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดเงินทุนระหว่างประเทศเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่

เทคโนโลยีเกิดใหม่และอนาคตของการรายงานด้านความยั่งยืน Blockchain อาจเป็นทางเลือกสำหรับการติดตามวัตถุดิบที่ยั่งยืนภายในห่วงโซ่อุปทาน แต่ยังมีอุปสรรคด้านต้นทุนที่ทำให้การใช้งานแพร่หลายเป็นไปได้ยาก

ขณะเดียวกัน แนวโน้มด้านกฎระเบียบในสหภาพยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมุ่งไปสู่การทำให้ระบบการจัดหมวดหมู่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสำหรับ SME ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน การออกแบบกรอบการดำเนินงานที่ใช้งานได้จริงจะช่วยให้การนำไปใช้เป็นไปอย่างแพร่หลายและส่งผลกระทบในทางบวกมากขึ้น