‘หมากฝรั่ง’ มี ‘ไมโครพลาสติก’ เคี้ยวแต่ละที กลืนพลาสติกนับพัน

“หมากฝรั่ง” มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ และสามารถปล่อยไมโครพลาสติกออกมาได้หลายร้อยถึงหลายพันชิ้นปะปนในน้ำลายได้นับพันชิ้น
KEY
POINTS
- หมากฝรั่งหลายยี่ห้อมีวัสดุสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบพื้นฐาน หมากฝรั่ง 1 กรัมจะปล่อยไมโครพลาสติกออกมา 100-1,000 ชิ้น
- ยังไม่ชัดเจนว่าพลาสติกเหล่านี้มาจากที่ใด เนื่องจากฉลากและเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์หมากฝรั่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่ได้เปิดเผยว่าหมากฝรั่งประกอบด้วยอะไรหรือผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างไร
- นักวิจัยแนะนำหากต้องการลดการสัมผัสกับไมโครพลาสติก ควรลองเคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นหนึ่งให้นานขึ้นแทนที่จะเคี้ยวชิ้นใหม่
ในแต่ละวันมนุษย์สัมผัสกับ “ไมโครพลาสติก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะมาจากน้ำดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าที่สวมใส่ ไปจนถึงในอากาศ ท้องทะเล หรือในดินล้วนมีไมโครพลาสติกและพลาสติกปะปนอยู่ทุกที่ แต่คงไม่มีใครคิดว่า “หมากฝรั่ง” สามารถปล่อยไมโครพลาสติกออกมาได้หลายร้อยถึงหลายพันชิ้นปะปนในน้ำลาย
หมากฝรั่งหลายยี่ห้อมีวัสดุสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโพลีไวนิลอะซิเตท ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ในกาว หรือสไตรีนบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นยางพลาสติกชนิดหนึ่งที่ใช้ในยางรถยนต์และพื้นรองเท้า
ซันเจย์ โมฮันตี ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส ทำการศึกษาว่าไมโครพลาสติกจากหมากฝรั่งสามารถเข้าไปในน้ำลายของมนุษย์ได้อย่างไร ซึ่งการศึกษานี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และจะนำเสนอในการประชุมสมาคมเคมีอเมริกัน ที่ซานดิเอโก
“หมากฝรั่งเป็นของกินชนิดเดียวที่ใช้พลาสติกโพลีเมอร์เป็นส่วนผสม ต่างกับอาหารชนิดอื่นที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกจากการแปรรูปและใส่บรรจุภัณฑ์ และผู้คนไม่รู้ว่าหมากฝรั่งมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ” โมฮันตีกล่าวกับ CNN
นักวิจัยได้ศึกษาหมากฝรั่งทั้งแบบสังเคราะห์และมีส่วนผสมธรรมชาติ โดยเลือกหมากฝรั่งแต่ละชนิด 5 ยี่ห้อที่หาซื้อได้ง่ายในเชิงพาณิชย์มากที่สุด โดยนักวิจัยเป็นคนทดสอบด้วยตัวเองเริ่มต้นด้วยการบ้วนปาก (และเก็บตัวอย่างเพื่อดูระดับไมโครพลาสติกในน้ำลายตั้งแต่เริ่มต้น) จากนั้นเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นเวลา 4 นาที โดยคายตัวอย่างน้ำลายออกมาทุก ๆ 30 วินาที เพื่อให้แน่ใจว่าจับไมโครพลาสติกในปากได้หมด ก่อนจะบ้วนปากครั้งสุดท้าย
โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาพบว่าหมากฝรั่ง 1 กรัมจะปล่อยไมโครพลาสติกออกมา 100 ชิ้น แม้ว่าบางชิ้นจะปล่อยมากถึง 600 ชิ้นก็ตาม หมากฝรั่งส่วนใหญ่มีน้ำหนักระหว่าง 2-6 กรัม ซึ่งหมายความว่าหมากฝรั่งชิ้นใหญ่จะปล่อยไมโครพลาสติกออกมามากถึง 3,000 ชิ้น
จากการประมาณการบางส่วน ชาวอเมริกันเฉลี่ยวันละ 1-3 ชิ้น แต่ถ้าดูจากปริมาณขั้นต่ำที่ชาวอเมริกันเคี้ยวหมากฝรั่งในแต่ละปีที่ 160-180 ชิ้นต่อปี นักวิจัยประเมินว่าอาจทำให้พวกเขากินไมโครพลาสติกเข้าไป 30,000 ชิ้น
ก่อนจะเริ่มการศึกษา นักวิจัยคาดว่าหมากฝรั่งธรรมชาติจะมีไมโครพลาสติกน้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองชนิดปล่อยไมโครพลาสติกออกมาในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจำนวนไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ยในหมากฝรั่งสังเคราะห์ 1 กรัมคือ 104 ชิ้น และในหมากฝรั่งธรรมชาติคือ 96 ชิ้น
หมากฝรั่งทั้งสองประเภทยังปล่อยโพลีเมอร์สังเคราะห์ 4 ประเภทเป็นหลัก ได้แก่ โพลีโอเลฟิน โพลีเทเรฟทาเลต (หรือโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต) โพลีอะคริลาไมด์ และโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดเดียวกับที่ใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน
ยังไม่ชัดเจนว่าพลาสติกเหล่านี้มาจากที่ใด เนื่องจากฉลากและเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์หมากฝรั่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่ได้เปิดเผยว่าหมากฝรั่งประกอบด้วยอะไรหรือผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างไร แต่นักวิจัยคาดว่าอาจมาจากกระบวนการผลิตก็ได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด เพราะสามารถคัดกรองได้เฉพาะชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 20 ไมครอนเท่านั้น ซึ่งสามารถมองเห็นได้ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ได้มองหาพลาสติกระดับนาโนที่มีขนาดเล็กกว่า 200 นาโนเมตร
“อาจมีพลาสติกอีกมากมายที่มาจากหมากฝรั่ง แต่เล็กเกินกว่าที่เราจะตรวจสอบได้” โมฮันตีกล่าว
นักวิจัยลองเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นเวลานานกว่า 20 นาที เพื่อดูว่าไมโครพลาสติกจะถูกปล่อยออกมาอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป พบว่า ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ออกมาตั้งแต่เคี้ยวหมากฝรั่งสองนาทีแรก หลังจากผ่านไป 8 นาที อนุภาคพลาสติก 94% ที่ถูกเก็บรวบรวมระหว่างการทดสอบถูกปล่อยออกมาแล้ว
ดังนั้นนักวิจัยจึงแนะนำว่า หากต้องการลดการสัมผัสกับไมโครพลาสติก แต่ยังไม่พร้อมที่จะเลิกเคี้ยวหมากฝรั่ง ควรลองเคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นหนึ่งให้นานขึ้นแทนที่จะเคี้ยวชิ้นใหม่
ขณะที่ คำชี้แจงจากสมาคมผู้ผลิตขนมแห่งชาติกล่าวว่า “หมากฝรั่งมีความปลอดภัยสำหรับการรับประทานมาเป็นเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว ความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับบริษัทผลิตขนมของสหรัฐ และบริษัทสมาชิกของเราใช้เฉพาะส่วนผสมที่ได้รับอนุญาตจาก FDA เท่านั้น
ดร.เดวิด โจนส์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ และผู้ก่อตั้งและซีอีโอขององค์กรการกุศลเพื่อการอนุรักษ์ทางทะเล Just One Ocean กล่าวผ่านอีเมลว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไมโครพลาสติกถูกปล่อยออกมาจากหมากฝรั่ง
“หากเราทำให้พลาสติกประเภทใดก็ตามได้รับความเครียด ไม่ว่าจะเป็นความร้อน แรงเสียดทาน แสงแดด น้ำทะเล หรือในกรณีนี้คือการเคี้ยวอย่างแรง เราก็รู้ดีว่าไมโครพลาสติกจะถูกปล่อยออกมาจากวัสดุพลาสติก ปรกติเราสูดดม กิน และดื่มอนุภาคพลาสติกประมาณ 250,000 ชิ้นต่อปีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลที่มั่นคงแล้ว และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม”
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่าไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ เพราะยังไม่มีการทดลองกับมนุษย์ แต่จากการทดลองในสัตว์และเซลล์ของมนุษย์แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการลดการสัมผัสกับไมโครพลาสติกให้น้อยที่สุด ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และควรทำ
นักวิจัยหวังว่าการศึกษาของพวกเขาจะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงการสัมผัสไมโครพลาสติกในรูปแบบอื่นมากขึ้น “เมื่อคุณเคี้ยวหมากฝรั่ง นอกจากคุณกำลังลิ้มลองรสชาติของมันแล้ว คุณก็ยังได้รับพลาสติกด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อหมากฝรั่งเป็นแหล่งของพลาสติก ก็ควรกำจัดอย่างถูกวิธี”
ที่มา: CNN, Discover Magazine, Fast Company, Forbes