ผู้ประกอบการไทย 233 ราย คว้าตรา G-GREEN ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำ

ผู้ประกอบการไทย 233 ราย คว้าตรา G-GREEN ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำ

G-Green มีอายุรับรอง 3 ปี แบ่งเป็น 3 ระดับ สถานประกอบการมีผลงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 233 แห่ง เปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน

KEY

POINTS

  • G-Green มีอายุการรับรอง 3 ปี แบ่งเป็น 3 ระดับ
  • ปี 2567 สถานประกอบการและหน่วยงานมีผลงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 233

ตราสัญลักษณ์ G-Green ของไทยเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและองค์กรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ

รวมถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร อุทยานแห่งชาติ สำนักงาน และผู้บริโภค หน่วยงานที่ผ่านการประเมินจะได้รับโล่ตราสัญลักษณ์ G-Green มีอายุการรับรอง 3 ปี แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับดีเยี่ยม (G ทอง)
  • ระดับดีมาก (G เงิน)
  • ระดับดี (G ทองแดง)

ล่าสุด วันที่ 26 มีนาคม 2568 ทส. โดยกรมลดโลกร้อน จัดพิธีมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ G-Green ระดับประเทศ ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เชิดชูเกียรติ สถานประกอบการและหน่วยงาน ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2567 ภายใต้ตราสัญลักษณ์ G-Green จำนวน 233 แห่ง

ผู้ประกอบการไทย 233 ราย คว้าตรา G-GREEN ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี ได้เปิดเผยว่าในปี 2567 กระทรวงฯ ผ่านกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดตัวโครงการ "Green Hotel Plus" ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของโรงแรมในไทย โดยได้รับการรับรองจาก Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ระดับสากล สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของโลก

นอกจากจะช่วยยกระดับการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมไทยแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการรับรองนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนจังหวัดภูเก็ตและภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการดำเนินโครงการ "Green Hotel Plus Phuket Sandbox" ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมโรงแรมและที่พักในจังหวัดภูเก็ตกว่า 600 แห่งให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Hotel Plus เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ GSTC 2026 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายน 2569 ณ จังหวัดภูเก็ต การดำเนินโครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของประเทศไทย และส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวไทยก้าวขึ้นสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน

นายจตุพร ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน เพื่อพัฒนาและปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถสำเร็จได้หากขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

“รางวัลตราสัญลักษณ์ G-Green ที่มอบให้ในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และความเป็นผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลง พร้อมรับผิดชอบต่อสถานการณ์โลกและสังคม” นายจตุพรกล่าว “การได้รับรางวัลนี้ไม่เพียงแค่แสดงถึงความสำเร็จในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ขอให้ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลนี้รักษามาตรฐานที่สูงและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว สร้างสรรค์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง”

สถานประกอบการ 233 แห่ง ได้สัญลักษณ์

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เผยถึงการดำเนินงานของกรมลดโลกร้อนที่มุ่งมั่นส่งเสริมการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ “G-Green”

ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายหมวดหมู่ที่สำคัญ ได้แก่

  • Green Production การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • Green Hotel โรงแรมที่ยั่งยืน
  • Green National Park อุทยานแห่งชาติสีเขียว
  • Green Office สำนักงานสีเขียว
  • Green Restaurant ร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • Green Residence ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พร้อมทั้งการรับรองผลิตภัณฑ์ในหมวด “ECO Plus” และ “UPCYCLE Circular Economy” ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยสร้างแนวทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"วันนี้ได้มีการมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ G-Green ให้แก่สถานประกอบการและหน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่นในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 233 แห่ง โดยในนั้นมีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล G-Plus จำนวน 13 แห่ง ระดับดีเยี่ยม จำนวน 96 แห่ง, ระดับดีมาก จำนวน 86 แห่ง, ระดับดี จำนวน 32 แห่ง และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง G-Upcycle และ ECO Plus จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์" ดร.พิรุณ กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากเครือข่าย G-Green ที่ส่งเสริมการผลิตและบริการอย่างยั่งยืน รวมถึงการนำเสนอตัวอย่างโรงแรมที่ได้รับการรับรอง Green Hotel Plus จากโรงแรมสุโขทัย และ Green Office จากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย