‘สิงคโปร์’ โชว์งานศิลปะใต้ทะเล ชูแนวคิดศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์

“สิงคโปร์” โชว์งานศิลปะใต้ทะเลลึก ติดตั้งพร้อมระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ชูแนวคิดศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์
เมื่อ 3 ปีก่อน “ลักษมี โมฮันบาบู” กลายเป็นชาวสิงคโปร์คนแรกที่ส่งงานศิลปะขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และในตอนนี้ เธอได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยการนำงานศิลปะ 3 ชิ้นไปติดตั้งไว้ใต้มหาสมุทรลึก 7 กิโลเมตรนอกชายฝั่งของญี่ปุ่น ใกล้กับร่องลึกมาเรียนา ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลก ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่มีการส่งงานศิลปะไปสู่นอกโลก และใต้ทะเล
โมฮันบาบูกล่าวว่า การติดตั้งงานศิลปะนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปะสร้างสรรค์กับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย พร้อมกล่าวกับ CNA ว่า
“ฉันต้องการให้ผู้คนคิดว่าศิลปะไม่ใช่แค่สิ่งที่แขวนอยู่บนผนัง สามารถอยู่ในดินแดนที่ยังไม่มีการสำรวจในโลกหรือในอวกาศ ดังนั้นจึงไม่แยกจากวิทยาศาสตร์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์”
งานศิลปะนี้ ส่วนหนึ่งของโครงการ Deep Ocean Interactions Project ซึ่งร่วมมือกับสำนักงานวิทยาศาสตร์ทางทะเล-โลกและเทคโนโลยีของญี่ปุ่น (JAMSTEC) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับแผ่นดินไหวใต้น้ำ พร้อมเชิดชูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทุกคน
ลูกบาศก์ทั้ง 3 ลูกถูกรวมเข้าในระบบติดตามหลุมเจาะระยะยาว (LTBMS) ซึ่งเดิมพัฒนาขึ้นเพื่อติดตามกิจกรรมแผ่นดินไหวรอบขอบแผ่นเปลือกโลก โดยได้ปรับเปลี่ยน LTBMS ให้สามารถเพิ่มโพรงและที่ยึดแบบกำหนดเอง พร้อมนำระบบกล้องใต้น้ำลึกพิเศษมาใช้งาน เพื่อบันทึกภาพและฟุตเทจของการติดตั้งที่ความลึกระดับสูงสุดดังกล่าว
ลูกบาศก์ดังกล่าวได้รับการติดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2024 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายมหาสมุทรหนาแน่นสำหรับแผ่นดินไหวและสึนามิ (DONET) ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าของญี่ปุ่น
โกอิ คิม ค็อก กรรมการผู้จัดการของ NuStar กล่าวว่าโครงการนี้แสดงให้เห็นว่า “มหาสมุทรลึกสามารถเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการแสดงออกทางวัฒนธรรมได้ในเวลาเดียวกัน”
ลูกบาศก์แต่ละลูกมีความยาวด้านละ 10 ซม. ทำจากสเตนเลสที่ทนต่อการกัดกร่อน โดยลวดลายบนหน้าลูกบาศก์แสดงให้เห็นว่าศิลปะ “ภาษาสัญลักษณ์สากล” ที่มีดีไซน์แตกต่างกัน 5 แบบ ได้แก่ Nautilus, Primary, Secondary, Windmill และ Dromenon ซึ่งสะท้อนถึงองค์ประกอบการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้ง 9 ประการ เช่น การสร้างสรรค์ วงจรชีวิต ทิศทาง และเวลา
สัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฏบน 5 จาก 6 หน้าของลูกบาศก์ โดยลูกบาศก์แต่ละลูกมีสีสันแตกต่างกันออกไป ลูกหนึ่งมีสีแดงและสีขาว อีกลูกมีสีฟ้าและสีส้มของมหาสมุทร และลูกสุดท้ายมีสีม่วงและสีเขียวอมฟ้า
สำหรับ ลูกบาศก์สีแดงและสีขาวแสดงถึงธีมของการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักร การเปลี่ยนแปลงของสีของโลก และความลึกลึกลับของท้องทะเล อีกทั้งยังสื่อถึงความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นอีกด้วย โดยอ้างอิงถึงธงชาติของทั้งสองประเทศด้วยลวดลายที่ชวนให้นึกถึงดวงอาทิตย์ ดวงดาว และดวงจันทร์
“ด้วยโครงการ Deep Ocean Interactions Project เรามุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายโดยเน้นย้ำถึงการดำรงอยู่ของเราที่เชื่อมโยงกันโดยนำผู้คนมารวมกันผ่านการเดินทางและจุดมุ่งหมายร่วมกัน” โมฮันบาบูกล่าว
ลูกบาศก์เหล่านี้ถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “โซนฮาดัล” บริเวณที่ลึกลงไปในมหาสมุทรมากกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีใครสำรวจและยังเป็นพื้นที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีแรงกดดันมหาศาล อุณหภูมิเกือบถึงจุดเยือกแข็ง และความมืดสนิท
เพื่อให้แน่ใจว่างานศิลปะของโมฮันบาบูแข็งแรงเพียงพอที่จะทนต่อแรงกดดันมหาศาล และการกัดกร่อนจากใต้ทะเล ซึ่งอาจทำให้เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว เธอจึงร่วมมือกับนักวิจัยจากศูนย์การพิมพ์ 3 มิติแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ผลิตลูกบาศก์ด้วยกระบวนการผลิตแบบไฮบริด ที่เรียกว่า LAPIS (Laser Patterning and Incorporation of Sheets)
ทีมงานใช้แผ่นสเตนเลสสตีลบางเฉียบ 80 ชั้นหลอมรวมกันเป็นผนังหนา 4 มม. ทำให้เกิดโครงสร้างหนาแน่นแข็งแรงกว่าเหล็กทั่วไปถึง 70% และสามารถทนต่อแรงกดทับและการกัดกร่อนของท้องทะเลลึกได้
หลังจากประสบความสำเร็จในโครงการนี้ ผศ.ดร.ไหล ชาง คู ผู้นำทีมวิจัยได้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพกับนักเรียนของเขาเมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาวางแผนที่จะขยายการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของพวกเขาไปอวกาศ ทางทะเล และพลังงาน
ในปี 2022 งานศิลปะสองชิ้นของโมฮันบาบูได้ขึ้นไปจัดแสดงถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยหลังจากโคจรรอบโลกบน ISS แล้ว งานศิลปะทั้งสองชิ้นก็ถูกส่งไปหอศิลป์บนดวงจันทร์ร่วมกับผลงานของศิลปินระดับนานาชาติจำนวน 100 ชิ้น ในช่วงปลายปี 2025
ผลงานอวกาศของเธอมีลักษณะคล้ายกับผลงานสามชิ้นที่ส่งไปยังพื้นมหาสมุทร โดยเป็นลูกบาศก์โลหะที่พิมพ์สามมิติเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก โดยแต่ละด้านวัดได้ 0.98 ซม. ลักษมีออกแบบผลงานโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ และต้องต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเป็นเวลานานเมื่อไปตกบนดวงจันทร์อีกด้วย เพราะ 1 วันบนดวงจันทร์ จะกินเวลานานถึง 14 วันบนโลก
ดังนั้นงานศิลปะของโมฮันบาบูจึงไม่เพียงแต่เป็นผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบจำลองการทำงานของการออกแบบ วิทยาศาสตร์ และจุดประสงค์ที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันเพื่อจุดประกายการเชื่อมโยงทั่วโลก ซึ่งอาจช่วยชีวิตผู้คนได้ด้วยภารกิจตรวจสอบแผ่นดินไหว
ที่มา: CNA, Earth, Interesting Engineer