ไทยประกาศเป้าหมายใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกครั้งใหญ่ รับมือโลกร้อน

ไทยประกาศเป้าหมายใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกครั้งใหญ่ รับมือโลกร้อน

กรมลดโลกร้อนเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ "NDC 3.0" ตั้งเป้าท้าทาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 109.2 ล้านตัน ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมระดมสมองครั้งสำคัญ เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเป้าหมาย แนวทาง และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ NDC 3.0 หรือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ฉบับที่ 2

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดย NDC 3.0 ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 109.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2578 ซึ่งจะช่วยรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา  ตามเป้าหมายความตกลงปารีส

ไทยประกาศเป้าหมายใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกครั้งใหญ่ รับมือโลกร้อน

NDC 3.0

NDC 3.0 มีความพิเศษตรงที่เปลี่ยนรูปแบบการกำหนดเป้าหมาย จากเดิมที่เปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ (BAU) มาเป็นการเปรียบเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ณ ปี 2562 (Absolute Emissions Reduction Target) ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ พร้อมตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิไม่เกิน 152 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO₂e) ภายในปี 2578 ซึ่งรวมถึงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน (LULUCF) ที่คาดว่าจะดูดกลับได้ไม่น้อยกว่า 118 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

หากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 60 % จากปีฐาน 2562 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลก

ไทยประกาศเป้าหมายใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกครั้งใหญ่ รับมือโลกร้อน

มาตรการสำคัญ

ที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การขยายผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564 - 2573 และการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม, ระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS), เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS), โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR), การผลิตปูนซีเมนต์แบบปล่อยคาร์บอนต่ำ, เทคโนโลยีการกำจัดของเสียและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ และการปรับปรุงพันธุ์และอาหารสัตว์

ทั้งนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ จะนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมไปพิจารณาปรับปรุง NDC 3.0 ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุม ก่อนนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการของ UNFCCC ภายในเดือน ก.ย. 2568 ก่อนการประชุม COP30 ที่ประเทศบราซิล

ไทยประกาศเป้าหมายใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกครั้งใหญ่ รับมือโลกร้อน