เช็กความพร้อมอาคารไทย! รับมือแผ่นดินไหว มาตรการและช่องโหว่ที่ต้องแก้ไข

เช็กความพร้อมอาคารไทย! รับมือแผ่นดินไหว มาตรการและช่องโหว่ที่ต้องแก้ไข

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้อง พัฒนามาตรการรับมือกับแผ่นดินไหวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในด้านการออกแบบอาคาร การตรวจสอบและบังคับใช้มาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยต้องพัฒนามาตรการรับมือกับแผ่นดินไหวอย่างเร่งด่วน
  • สถาปนิกมีการมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหวไม่มากนัก ส่วนใหญ่

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 (กรมอุตุนิยมวิทยา) หรือ 7.7 USGS ในประเทศเมียนมา โดยมีจุดศูนย์กลางใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร

ถึงจะมีระยะห่างถึง แต่ก็ถึงแม้จะมีระยะห่างถึง 100 กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมากในกรุงเทพฯ เช่น อาคารสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่ม เครนล้ม และการขนส่งได้รับผลกระทบ มีรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในประเทศไทย

ในขณะที่เมียนมาได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย ความพยายามกู้ภัยในกรุงเทพฯ มุ่งเน้นไปที่การค้นหาผู้รอดชีวิตในซากปรักหักพัง สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐานในเมืองใหญ่เมื่อเผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหว

‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร. ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความพร้อมและความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือกับแผ่นดินไหว รวมถึงการออกแบบอาคาร ช่องว่างที่ควรแก้ไข และมาตรการป้องกันในอนาคต

มาตรฐานการออกแบบอาคารในไทย

รศ.ดร. ฉัตรพันธ์ กล่าวว่า ในประเทศไทย มีนักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และได้ดำเนินมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อม เช่น การออกกฎหมายและมาตรฐานในการออกแบบอาคารที่ทันสมัยและทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

เช่น มีการอ้างอิงจากมาตรฐานการออกแบบอาคารของสหรัฐอเมริกา และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมีกฎหมายบังคับอาคารใน กทม. ต้องถูกออกแบบให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในรูปแบบกฎกระทรวง

และต่อมาในปี 2552 ได้มีมาตรฐานจากกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) เป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปี 2561 และ 2564 ซึ่งเป็นมาตรฐานฉบับล่าสุดของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่กำหนดระดับความรุนแรงของแรงสั่นสะเทือนที่ต้องพิจารณาในการออกแบบอาคาร

บทบาทร่วมของสถาปนิกและวิศวกร

รศ.ดร. ฉัตรพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในด้านของสถาปนิกยังมีการมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหวไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่มักมอบหมายให้วิศวกรโครงสร้างเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม โจทย์การออกแบบที่สถาปนิกนำเสนอมักมีความซับซ้อน เช่น อาคารที่มีรูปทรงไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของอาคาร หากอาคารมีความสม่ำเสมอในรูปทรง จะมีการเผื่อความปลอดภัยและความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวได้ดีกว่า

ในด้านของวิศวกรโครงสร้าง พบว่าการออกแบบและดำเนินโครงการในบางกรณีอาจไม่สมบูรณ์ เนื่องจากความเชี่ยวชาญหรือความคุ้นเคยที่ยังไม่มากพอ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับโจทย์การออกแบบที่ซับซ้อน สิ่งนี้เป็นจุดที่ควรเพิ่มความเข้มงวดและความมั่นใจในการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยของอาคารและผู้ใช้งาน

การตรวจสอบจากภาครัฐ ช่องว่างที่ควรแก้ไข

ปัจจุบัน การตรวจสอบอาคารโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนใหญ่เน้นไปที่ความสอดคล้องกับกฎหมายในด้านสถาปัตยกรรม เช่น การตรวจสอบระยะถอยร่น อัตราส่วนพื้นที่ และความปลอดภัยด้านอัคคีภัย แต่ยังขาดการตรวจสอบรายละเอียดด้านโครงสร้าง วิศวกรที่รับผิดชอบการออกแบบโครงสร้าง จึงไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐอย่างละเอียด ซึ่งอาจเปิดช่องว่างที่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดหรือความบกพร่องที่ซ่อนอยู่

การยกระดับมาตรฐานการออกแบบและการตรวจสอบโครงสร้างอาคารในประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นคงของอาคารในอนาคต

“การที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐยังไม่มีระบบตรวจสอบโครงสร้างอาคารในเชิงลึกนั้นเป็นช่องว่างที่ควรปรับปรุง แม้ว่าปัจจัยด้านจำนวนโครงการและขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่จะทำให้การตรวจสอบทุกโครงการเป็นเรื่องยาก แต่การสุ่มตรวจในโครงการขนาดใหญ่หรือโครงการที่มีผลกระทบสูงจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร

โดยอาจดำเนินการผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) หรือการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจในกระบวนการก่อสร้าง นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการปรับปรุงกฎหมายให้มีการตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้นจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในอนาคตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค”

แรงกดดันทางธุรกิจ

รศ.ดร. ฉัตรพันธ์ อธิบายต่อว่า ในมิติธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบัน เจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม มักมีแรงผลักดันให้เพิ่มพื้นที่ขายมากที่สุดเพื่อเพิ่มผลตอบแทนทางธุรกิจ เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เมืองมีการกำหนดราคาขายสูงในระดับหลายแสนบาทต่อตารางเมตร

สิ่งนี้ส่งผลต่อวิธีการออกแบบโครงสร้างอาคาร เนื่องจากโครงสร้างที่ใหญ่และแข็งแรงอาจเบียดบังพื้นที่ที่สามารถจำหน่ายได้ ดังนั้นจึงเกิดแรงกดดันต่อวิศวกรโครงสร้างที่ต้องออกแบบโครงสร้างให้ประหยัดพื้นที่มากที่สุด แต่ยังคงผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมาย

“อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวอาจทำให้เกิดความปลอดภัยที่ไม่สมบูรณ์แบบ โดยมีแรงกดดันบางประการจากเจ้าของโครงการที่ทำให้วิศวกรโครงสร้างบางกลุ่มพยายามปรับลดมาตรฐานเพื่อให้ตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งในหลายกรณีอาจไม่ได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นำไปสู่ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

แรงกดดันจากฝั่งธุรกิจควรได้รับการจัดการอย่างสมดุล เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างอาคารที่ออกแบบมานั้นมีความปลอดภัยในระดับสูงสุด การปรับปรุงระบบตรวจสอบโครงการอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในมาตรฐานการก่อสร้าง และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แผ่นดินไหว ตัวชี้วัดโครงสร้างอาคาร

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่เกิดกับอาคารต่างๆ อาจกลายเป็น "ตัวชี้วัด" ที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบและระดับความสำคัญที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งให้ต่อความปลอดภัยของอาคารที่พวกเขาพัฒนา

การที่อาคารคอนโดมิเนียมในโครงการของบางบริษัทได้รับความเสียหายมาก อาจแสดงถึงการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยที่น้อยเกินไป หรือความพยายามในการลดต้นทุนโครงสร้างจนกระทบกับมาตรฐานความปลอดภัย

ในทางกลับกัน บริษัทที่พัฒนาโครงการอย่างใส่ใจในความปลอดภัยจะมีอาคารที่ทนต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ดีกว่า และแทบไม่มีความเสียหายรุนแรงให้เห็น ซึ่งสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภคในระยะยาว การตัดสินใจเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอนาคตจึงอาจพึ่งพาประสบการณ์ในอดีตว่าโครงการใดมีการพัฒนาที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

“เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เพียงแต่เป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของโครงสร้างอาคาร แต่ยังเปรียบเสมือนการ ‘เปิดเผย’ ว่าบริษัทใดให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรกหรือเพียงแค่ให้ความสำคัญกับผลกำไรเป็นหลัก สิ่งนี้สร้างแรงกดดันให้ผู้พัฒนาโครงการต้องปรับมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างให้ตอบโจทย์ทั้งด้านธุรกิจและความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคอย่างยั่งยืน”

จัดเก็บข้อมูลอาคารในยุคดิจิทัล

การออกแบบและการก่อสร้างอาคารใหญ่ในประเทศไทยควรเริ่มปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบและค้นหาข้อมูลในอนาคตเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“ในอดีต การส่งแบบก่อสร้างและพิมพ์เขียวมักอยู่ในรูปแบบกระดาษ เช่น การพิมพ์เขียว และเอกสารจำนวนมากที่พิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษมักไม่มีที่จัดเก็บที่เพียงพอ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เอกสารเหล่านี้อาจสูญหายหรือกลายเป็นเรื่องยากในการค้นหากลับมาใช้งาน ข้อมูลที่สำคัญอาจไม่สามารถติดตามได้ หรือหายไปตามกาลเวลา”

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง โดยการสร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุม เช่น

  • แบบก่อสร้างและรายการคำนวณ
  • รายชื่อผู้เกี่ยวข้องในโครงการ เช่น เจ้าของโครงการ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับผิดชอบในการออกแบบ
  • เลขใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของวิศวกรและสถาปนิกที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีรับมือแผ่นดินไหว

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในอาคารเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว รศ.ดร. ฉัตรพันธ์ เล่าว่า หลายประเทศที่ประสบภัยแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน ได้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ช่วยลดผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนในอาคาร โดยเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในองค์ประกอบอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

  • Damper (โช้กซับความสั่นสะเทือน) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดูดซับพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ทำให้แรงที่กระทำต่ออาคารลดลง ส่งผลให้อาคารสามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น อุปกรณ์นี้ทำงานคล้ายกับโช้กในรถยนต์ที่ช่วยลดแรงกระแทก
  • Base Isolation (ระบบแยกฐานอาคาร) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ฐานของอาคารเพื่อแยกแรงสั่นสะเทือนระหว่างพื้นดินกับตัวอาคาร เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ฐานอาคารใต้ชุดอุปกรณ์จะเลื่อนตัวตามแผ่นดิน แต่ส่วนบนของอาคารจะคงความนิ่ง ซึ่งช่วยลดแรงกระทำต่อโครงสร้างอาคารด้านบนอย่างมีประสิทธิภาพ มักใช้ในอาคารสำคัญที่ตั้งในพื้นที่แผ่นดินไหวรุนแรง
  • Bracing การเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างด้วยค้ำยันทแยง

“สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการใช้เทคโนโลยี Damper และ Base Isolation อาจยังไม่จำเป็นในปัจจุบันเนื่องจากต้นทุนที่สูง แต่การออกแบบตามมาตรฐานที่มีอยู่ เช่น การเพิ่มขนาดของเสาและกำแพงให้ใหญ่ขึ้น จะช่วยให้โครงสร้างมีความแข็งแรงพอที่จะรับแรงผลักของแผ่นดินไหว รวมถึงน้ำหนักที่กดลงจากแรงโน้มถ่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

แนวทางระยะสั้นหลังแผ่นดินไหว

ในระยะสั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สิ่งที่ควรดำเนินการกับอาคารสูงเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานอย่างเหมาะสมคือ

1. การประเมินความปลอดภัยของอาคาร ปัญหาหลักที่ผู้พักอาศัยกังวลคือความปลอดภัยของอาคารที่ตัวเองใช้งานอยู่ เจ้าของอาคารควรดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยแยกแยะความเสียหายระหว่าง

  • รอยแตกร้าวในวัสดุตกแต่งหรือผนังเบา: ซึ่งเป็นความเสียหายทางสถาปัตยกรรม เช่น รอยร้าวในอิฐหรือวัสดุขั้นกั้นห้อง ที่ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างหลัก อาคารที่มีเพียงความเสียหายประเภทนี้สามารถกลับไปใช้งานได้
  • ความเสียหายในโครงสร้างหลัก: เช่น เสาที่บิดเบี้ยว คาน หรือพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่แตกร้าวอย่างรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานจนกว่าจะมีการตรวจสอบและซ่อมแซมโดยผู้เชี่ยวชาญ

2. การตรวจสอบโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ควรเรียกวิศวกรโครงสร้างที่มีความรู้และประสบการณ์มาช่วยประเมินอาคาร เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความเสียหายในโครงสร้างหลัก ทั้งนี้ การให้วิศวกรที่เคยออกแบบหรือควบคุมงานเดิมเป็นผู้ตรวจสอบจะช่วยให้การประเมินแม่นยำขึ้น เนื่องจากพวกเขาเข้าใจรูปแบบการถ่ายแรงและโครงสร้างของอาคารอย่างลึกซึ้ง

3. การสนับสนุนจากหน่วยงานอาสาและภาครัฐ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อวิศวกรเดิมได้ สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ซึ่งมีการระดมวิศวกรอาสาเข้ามาช่วยตรวจสอบอาคาร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

4. การสร้างระบบแจ้งความเสียหาย เจ้าของอาคารควรรายงานความเสียหายที่พบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อประสานงานในการตรวจสอบและซ่อมแซม

การถล่มของอาคาร

รศ. ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าวว่า การถล่มของอาคารเป็นการวิบัติที่ร้ายแรง และถือว่ายอมรับไม่ได้ ผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพังทลายของอาคารขนาดใหญ่ทั้งหลัง

“สาเหตุของการวิบัติมักเกิดจากข้อบกพร่องหลายด้านร่วมกัน เช่น การออกแบบการก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ หรือวัสดุที่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือความไม่ปกติของรูปทรงโครงสร้าง เช่น ความไม่สมมาตรของตำแหน่งปล่องลิฟต์ (Lift Core)

ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับแรงด้านข้างของอาคาร การที่ปล่องลิฟต์ไม่อยู่ในตำแหน่งที่สมมาตรส่งผลให้เกิดการบิดตัวของอาคารเมื่อมีแรงสั่นสะเทือน การบิดนี้อาจทำให้บางมุมหรือบางชิ้นส่วนของอาคารรับแรงมากเกินไปจนเกิดการพังทลาย"

อย่างไรก็ดี การวิดคราะห์หาสาเหตุที่แห้จริงต้องมีการรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดโดยผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะรายงานผลให้สาธารณชนรับทราบต่อไป