'เซ็นทรัล ทำ' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

'เซ็นทรัล ทำ' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

Central Tham เสาหลักในการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วม ปีที่ 8 ของการดำเนินงานสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นและยั่งยืน เช่น การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว

KEY

POINTS

  • เซ็นทรัล ทำ (Central Tham) เสาหลักในการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) รวมพลังกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล
  • ปีที่ 8 ของการดำเนินงานสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นและยั่งยืน เช่น การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • ร้าน Good Goods ส่วนหนึ่งของ Central Tham เติบโตอย่างก้าวกระโดด ยอดขายปี 2567 อยู่ที่ 433 ล้านบาท มีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น พัทยา เร็วๆ นี้  

ตลอดระยะเวลากว่า 78 ปีที่ผ่านมา “กลุ่มเซ็นทรัล” ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ โดยการใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญจากหลากหลายธุรกิจในเครืออย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกิดการริเริ่มโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) เมื่อปี 2560 เพื่อเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ด้วยการรวมพลังจากทุกส่วนของกลุ่มธุรกิจในเครือ

ปี 2568 ถือเป็นปีที่ 8 ของการดำเนินงานของ Central Tham ซึ่งสามารถสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นและยั่งยืนในหลายด้าน เช่น การสร้างงานและส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการมากกว่า 1,100 คน, การสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1,700 ล้านบาท, การส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนกว่า 150,000 คน, การสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนกว่า 192 แห่ง, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 19,385 ไร่,

การลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 19,254 ตัน, การลดปริมาณขยะที่เข้าสู่หลุมฝังกลบกว่า 43,663 ตัน และการติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,430 สถานที่ รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคากว่า 215 แห่ง ซึ่งทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 207,176 เมกะวัตต์-ชั่วโมง

นอกจากนี้ ร้าน "Good Goods" ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ Central Tham  เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยอดขายปี 2567 อยู่ที่ 433 ล้านบาท เป็นพื้นที่สำคัญที่รวบรวมสินค้าฝีมือคนไทยจากทั่วทุกมุมประเทศ ดึงดูดลุกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติไม่ขาด เพราะเอกลักษณ์สินค้าที่มีความลงตัวทั้งในด้านคุณค่า การออกแบบ และการใช้งานจริง  โดยมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น พัทยา เร็วๆ นี้ จากที่มีอยู่  3 สาขาหลัก ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, จริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ และเซ็นทรัลภูเก็ต ฟลอเรสต้า นอกจากนี้ยังมีสาขาย่อยในห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ 2 สาขา ที่เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลป่าตอง

\'เซ็นทรัล ทำ\' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

และยังมี “ตลาดจริงใจ” แพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยสนับสนุนชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ โดยการเปิดช่องทางขายสินค้าพื้นบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ปี 2568 ผสาน 6 แนวทาง ต่อยอดชุมชน

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ในปี 2568 เป็นปีที่ผสมผสาน 6 แนวทาง ต่อยอดการลงมือทำด้วยการยกระดับและขยายต้นแบบ ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน อย่างแท้จริง ได้ประกอบด้วย

  • Community – พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน
  • Inclusion – ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม
  • Talent – ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่ความเป็นเลิศ
  • Circularity – ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ยั่งยืน
  • Climate – ฟื้นฟูและดูแลสภาพอากาศให้สมดุล
  • Nature – อนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

"เราดำเนินกิจกรรมในทุกจังหวัดที่กลุ่มเซ็นทรัลมีสถานประกอบการ ตั้งแต่การเข้าถึงชุมชนไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ปีที่ผ่านมา 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน, อยุธยา, เชียงใหม่ และชัยภูมิ มีผลงานโดดเด่นในด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร การพัฒนาชุมชน การจ้างงาน และการศึกษา สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เช่น การพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะในชัยภูมิ การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในเชียงใหม่ และการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในน่าน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง"

\'เซ็นทรัล ทำ\' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

เกษตรอินทรีย์ เสน่ห์น่าน

การเข้าไปที่ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ของเซ็นทรัล ทำ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เป็นการส่งเสริมเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากการปลูกสินค้าท้องถิ่น เช่น ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าโกโก้และมะม่วงหิมพานต์ ถูกพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่าง ขนมเค้กฟักทอง และขนมเปี๊ยะ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเตรียมเข้าสู่การจดทะเบียน GI เพื่อเพิ่มมูลค่า และวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชนและงาน “จริงใจ มาหา...นคร 2024” เป็นการเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคกับสิ่งที่ชุมชนสามารถผลิตได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น โครงการ “เสน่ห์น่านใต้” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันน่านให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ในการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่เพียงแค่ชมวิวทิวทัศน์ แต่ยังสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโรงแปรรูปฟักทองและโกโก้ หรือร่วมสัมผัสการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่

รวมถึงการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมมือของ มูลนิธิอุทกพัฒน์ และพันธมิตรต่างๆ ชุมชนได้เริ่มสร้างฝายและแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการเกษตร

เมื่อพูดถึงการพัฒนา เซ็นทรัล ทำ ก็ไม่ลืมเรื่องการศึกษา การสนับสนุนโรงเรียนชุมชนบ้านอ้อย ที่ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และพันธมิตรอื่นๆ โดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมทักษะ EF และ STEM เยาวชนจากโรงเรียนแห่งนี้สามารถคว้าเหรียญทองในกีฬาปันจักสีลัต ในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 40 ภาค 5

รายได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวของชุมชนในน่านทำให้เกิดรายได้ถึง 10 ล้านบาท ยังไม่พอ โครงการนี้ได้สร้างเครือข่ายอาชีพคนพิการกว่า 50 คน และได้ช่วย ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ กว่า 2,800 ไร่

เมล่อนหมู่ใหญ่ อยุธยา

หมู่บ้านหมู่ใหญ่ ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เกษตรกรใน “วิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา” ได้เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรมจากการทำนา มาเป็นการปลูกเมล่อนในระบบโรงเรือน ที่ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ยังสร้างชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ “Smile Melon” ที่ส่งออกไปยังสิงคโปร์

ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือกับ เซ็นทรัล ทำ ที่สนับสนุนการสร้างโรงคัดบรรจุสินค้าและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งเปิดฟาร์มเมล่อนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนจากการท่องเที่ยวและสร้างโอกาสใหม่ๆ นอกจากนั้นยังค่อยอดนำเมล่อนที่เน่าเสีย มาเป็นอาหารไก่ ชุมชนยังนำฟางข้าว และผักตบชวา มาใช้ประโยชน์ในกระบวนการเกษตร

ในด้านการสร้างอาชีพคนพิการ ในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนได้สนับสนุนการผลิตสินค้าหัตถกรรม โดยกลุ่มผู้ปกครองคนพิการ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “Good Goods” ที่จำหน่ายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล โครงการนี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนพิการและสร้างโอกาสให้กับพวกเขา

ในปี 2568 วิสาหกิจชุมชนเมล่อนมีแผนขยายการปลูกไปยัง จ.ชัยนาท และเพิ่มการส่งออกเมล่อนไปยังสิงคโปร์ทุกเดือน พร้อมทั้งพัฒนาฟาร์มเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล่อนมาตรฐานส่งออก การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน แต่ยังสร้างตัวอย่างการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและสามารถแบ่งปันไปยังชุมชนอื่นๆ ในอนาคต

\'เซ็นทรัล ทำ\' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

เชียงใหม่ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรดั้งเดิม มุ่งสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2560 โดยความร่วมมือของ 'เซ็นทรัล ทำ' และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) ชุมชนแม่ทาไม่เพียงแต่สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ยังสามารถพัฒนาแบรนด์ สร้างบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางจำหน่ายได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน "พื้นที่วิถียั่งยืนแม่ทา" กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ดึงดูดผู้คนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมการพัฒนาโฮมสเตย์และศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ที่ให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสกับวิถีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การรักษาโรคด้วยสมุนไพรท้องถิ่นและการรักษาแบบธรรมชาติ

ในด้านสิ่งแวดล้อม ‘เซ็นทรัล ทำ’ ยังขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญเช่น การจัดการขยะที่ตลาดจริงใจเชียงใหม่ ซึ่งแปรรูปขยะอินทรีย์ 7.52 ตัน เป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ รวมถึงการรีไซเคิลวัสดุ 8.74 ตัน พร้อมเตรียมเปิด "ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ" ในปี 2568 นอกจากนี้ ยังมีโครงการ "Zero Burning Initiatives" เพื่อลดมลพิษ PM2.5 ในเชียงใหม่ โดยมีแผนฟื้นฟูพื้นที่กว่า 10,000 ไร่

ด้านการศึกษา โรงเรียนวัดดอนชัยในเชียงใหม่ได้รับการปรับปรุงอาคารเรียน ห้องคอมพิวเตอร์ และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ พร้อมสร้างฐานการเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ผ่านประสบการณ์จริงจากชุมชนแม่ทา ซึ่งในปี 2568 จะขยายโรงเรียนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน

อีกหนึ่งจุดเด่นคือการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ โดยในปี 2567 มีคนพิการในเชียงใหม่เข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพจำนวน 22 คน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การทอผ้าซาโอริและการทำงานในศูนย์เกษตรอินทรีย์แม่ทา ช่วยสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพิการในชุมชน

สรุปผลสำเร็จในปี 2567 นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะจำนวน 4,163 คน สนับสนุนคนพิการ 22 คน ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในชุมชนแม่ทา 1,570 ไร่ สร้างรายได้ให้ชุมชนแม่ทา 14 ล้านบาท และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ 130 ครัวเรือน

\'เซ็นทรัล ทำ\' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

ชัยภูมิ เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจยั่งยืน

ชุมชนบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ได้ถูกส่งเสริมให้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไม่เพียงแค่ในเชิงการเกษตร แต่ยังมีผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ต้นทางของความสำเร็จนี้เริ่มต้นจากการปลูก อะโวคาโดพันธุ์แฮสส์ สายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันบ้านเทพพนาเป็นหนึ่งใน 7 ผู้ปลูกอะโวคาโดพันธุ์แฮสส์ ในประเทศไทย

ด้วยความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเกษตรแบบดั้งเดิมของชุมชน 'เซ็นทรัล ทำ' ได้นำระบบเกษตรอัจฉริยะมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการจัดการน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน การใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ หรือแม้กระทั่ง การเพาะเห็ดเรืองแสง ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมโรคพืชในไร่อะโวคาโดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ขยายการปลูกอะโวคาโดให้กับเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมาก จนสามารถสร้างเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโดถึง 1,000 ราย ภายในปี 2567

การปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงอย่าง อะโวคาโด, แมคคาเดเมีย, ทุเรียน, และกาแฟโรบัสต้า ได้สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงคือการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเสียหายจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้วิธีเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนา โรงผลิตถ่านไบโอชาร์ และ ปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุการเกษตร ซึ่งช่วยฟื้นฟูดิน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย และยังช่วยลดมลพิษ PM2.5 จากการเผาในที่โล่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิสาหกิจชุมชนบ้านเทพพนาไม่หยุดแค่การพัฒนาการเกษตร แต่ยังหันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนที่เน้นความยั่งยืน โดย "เซ็นทรัล ทำ" ร่วมมือกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกปี การเปิด ศูนย์การเรียนรู้ 2 อาคารที่รองรับได้ถึง 14,000 คน ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้กับชุมชน

\'เซ็นทรัล ทำ\' ปั้น 4 จังหวัดต้นแบบ สร้างสินค้าฮิตระดับอินเตอร์ เติบโตยั่งยืน

สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือการ พัฒนาการศึกษา ในระดับท้องถิ่น โดยการนำ หลักสูตรท้องถิ่น "หลักสูตรอะโวคาโด" มาใช้ในโรงเรียน 4 แห่งในอำเภอเทพสถิต ซึ่งไม่เพียงแต่เสริมทักษะให้กับนักเรียน แต่ยังเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ การเปิด ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่โรงเรียนบ้านไร่พัฒนา ก็เป็นการส่งเสริมการปลูกอะโวคาโดในรูปแบบที่เป็นระบบ และยังเปิดโอกาสให้มีการจ้างงาน คนพิการในสวน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาทักษะชีวิต

และยังได้มีการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของครูในพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและ STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ในโรงเรียนต่างๆ รวมถึงการสร้าง นักเรียนที่มีคุณธรรม ผ่านการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกิจกรรมต่างๆ

ในปี 2567 ผลสำเร็จของชุมชนบ้านเทพพนาได้เห็นชัดผ่านตัวเลขที่ไม่ใช่แค่จำนวนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง เช่น รายได้รวมของวิสาหกิจชุมชน สูงถึง 40 ล้านบาท การจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เปลี่ยนเป็น ปุ๋ยหมักและไบโอชาร์ ถึง 200 ตัน การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว 5,000 ไร่ การสร้างศูนย์การเรียนรู้รองรับนักท่องเที่ยวและผู้เข้าอบรมกว่า 14,000 คน