แฉ ‘เกาหลีใต้’ ส่งออกเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่างชาติ ปลอมเอกสารนับแสนคน

เปิดโปงกระบวนการส่งออกเด็กในเกาหลีใต้ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบมีการปลอมแปลงเอกสาร สลับตัว ติดสินบนโรงพยาบาล
KEY
POINTS
- ตั้งแต่ยุค 1950 รัฐบาลเกาหลี “ส่งออกเด็กกำพร้า” ราว 200,000 คน ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อให้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุ
ตั้งแต่ยุค 1950 รัฐบาลเกาหลี “ส่งออกเด็กกำพร้า” ราว 200,000 คน ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อให้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากในตอนนั้นเกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศยากจน และกำลังฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงสงครามเกาหลี จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมที่ทำกำไรมหาศาล
เด็กที่ถูกนำไปเลี้ยงจำนวนมาก ตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก เช่น ในยุโรป สหรัฐ และออสเตรเลีย พวกเขาพยายามสืบหาต้นกำเนิดที่แท้จริง และกล่าวหาหน่วยงานต่าง ๆ ใช้อำนาจบีบบังคับและหลอกลวง เป็นผลมาจากการทุจริตและการประพฤติมิชอบ รวมถึงในบางกรณียังใช้กำลังแยกพวกเขาออกจากแม่ด้วย เกิดเป็นความสงสัยในชุมชนผู้รับเลี้ยงชาวเกาหลีมาหลายปีแล้ว ทำให้เกิดการสืบสวนขึ้น
คณะกรรมการความจริงและการปรองดองของรัฐบาลได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับ 100 กรณีแรกที่วิเคราะห์จากคำร้องทั้งหมด 367 เคสที่ยื่นโดยผู้รับเลี้ยงที่ส่งไปต่างประเทศระหว่างปี 1964-1999 ใน 11 ประเทศทั่วโลก โดยรายงานพบว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้นปลอมแปลงเอกสาร แจ้งว่าเด็กเหล่านั้นถูกพ่อแม่ทิ้ง รวมถึงสลับตัวเด็กในกรณีที่เด็กที่ตั้งใจจะให้รับเลี้ยงเสียชีวิต ป่วยเกินกว่าจะเดินทางได้ หรือถูกครอบครัวที่ให้กำเนิดพากลับ
ประธานคณะกรรมการ ปาร์ค ซุน-ยอง กล่าวว่า “กระบวนการนี้มีข้อบกพร่องทางกฎหมายและนโยบายมากมาย ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรม พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดของพวกเขา โดยเฉพาะแม่ที่ให้กำเนิด และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างร้ายแรง การละเมิดเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น”
จาก 100 เคสแรก มีถึง 56 รายถูกระบุว่าเป็น “เหยื่อ” ของความประมาทเลินเล่อของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาภายใต้รัฐธรรมนูญเกาหลีและอนุสัญญาต่างประเทศ อีกทั้งการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยหน่วยงานเอกชน ซึ่งติดสินบนโรงพยาบาลเพื่อส่งเด็กมาให้
“เมื่อหน่วยงานรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากพ่อแม่บุญธรรม พวกเขาจะถูกกดดันให้ส่งเด็กไปต่างประเทศเพื่อดำเนินกิจการต่อไป โครงสร้างนี้เพิ่มความเสี่ยงของการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างผิดกฎหมาย” อี ซังฮุน กรรมาธิการ กล่าว
คณะกรรมการพบหลักฐานของการบันทึกข้อมูลเท็จ รวมถึงการ “จงใจแทนที่ตัวตน” และรายงานข้อมูลเท็จที่ระบุว่าเด็กที่ได้รับการรับเลี้ยงถูกพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดทอดทิ้ง อีกทั้งไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองในการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม
สำนักข่าวเอพีพบว่า หลายคนเพิ่งรู้ว่าเอกสารของตนถูกปลอมแปลง บางคนเพิ่งรู้ว่าถูกลักพาตัว และที่พ่อแม่ตัวจริงในเกาหลีใต้ยังคงตามหาพวกเขามานานหลายสิบปี โดยไม่รู้ว่าพวกเขาถูกส่งไปต่างประเทศ
กระบวนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมยังเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ การสืบสวนดังกล่าวอธิบายถึงการที่แม่ผู้ให้กำเนิดถูกกดดันหรือถูกหลอกให้สละลูกของตน ขณะที่หน่วยงานรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของพ่อแม่บุญธรรมที่มากพอ ทำให้หลายรายถูกผู้ปกครองใหม่ละเลยและไม่ดูแล ส่วนพ่อแม่บุญธรรมชาวต่างชาติก็ถูกกดดันให้จ่ายเงินเพื่อรับเด็กมา
รายงานดังกล่าวได้ยกตัวอย่าง กรณีผู้หญิงคนหนึ่งที่ลงนามในแบบฟอร์มยินยอมรับบุตรบุญธรรมในวันถัดจากวันที่คลอดบุตร จากนั้นหน่วยงานรับบุตรบุญธรรมได้เข้าควบคุมตัวเด็ก หลังจากสัมภาษณ์แม่ของเด็กเพียงครั้งเดียวโดยไม่ได้รับเอกสารใด ๆ ที่ยืนยันตัวตนหรือพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด
“แม้ว่าผู้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจำนวนมากจะโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น แต่บางคนก็ประสบความยากลำบากและบาดแผลทางใจอย่างมากเนื่องจากกระบวนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมที่มีข้อบกพร่อง แม้กระทั่งทุกวันนี้ หลายคนยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่” ซุน-ยอง กล่าว
การสืบสวนคดีมากกว่า 300 คดีเริ่มขึ้นในปี 2022 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม ผลการค้นพบล่าสุดนี้เพิ่มรายการหลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของการประพฤติมิชอบและการบังคับขู่เข็ญ ซึ่งคณะกรรมการเรียกพฤติกรรมนี้ว่าเป็น “การส่งออกเด็กจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของต่างประเทศ”
การปฏิบัติดังกล่าว ทำให้เด็กที่ถูกรับไปเลี้ยงไม่สามารถตามหาครอบครัวที่แท้จริงของตนเองได้ จากข้อมูลของรัฐบาลที่สำนักข่าว AP ได้รับ แสดงให้เห็นว่ามีผู้รับบุตรบุญธรรม15,000 คนที่ขอความช่วยเหลือจากเกาหลีใต้ในการค้นหาครอบครัวตั้งแต่ปี 2012 แต่กลับมีไม่ถึง 3,000 คนเท่านั้นที่ได้กลับมาอยู่ร่วมกับญาติ
รายงานนี้ แนะนำรัฐบาลให้ขอโทษอย่างเป็นทางการ เร่งดำเนินการสำรวจสถานะการเป็นพลเมืองของผู้รับบุตรบุญธรรม และหาทางแก้ไขให้กับเหยื่อที่ถูกปลอมแปลงข้อมูล
“ทุกคนต่างรอคอยกันมานาน และตอนนี้เราก็ได้รับชัยชนะแล้ว” ฮัน บุน-ยอง ผู้เติบโตในเดนมาร์กและเป็นหนึ่งในผู้รับบุตรบุญธรรม 100 คนที่คณะกรรมาธิการพิจารณาคดีกล่าว แต่เธอไม่ได้ถูกระบุว่าเป็น “เหยื่อ” เพราะมีเอกสารไม่เพียงพอ
“ถ้าพวกเขาบอกว่าเราตระหนักว่านี่คือความรุนแรงของรัฐ แล้วพวกเขาจะไม่ยอมรับผู้ที่ไม่มีข้อมูลมากนักได้อย่างไร เพราะนั่นคือแก่นแท้ของปัญหาของเรา นั่นคือเราไม่มีข้อมูล เพราะมันถูกปลอมแปลง เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” เธอกล่าวเมื่อวันพุธหลังจากเผยแพร่รายงาน
มารีแอนน์ โอเค นีลเซน กำลังรอผลการตรวจสอบของตัวเอง กล่าวกับ CNN ว่าเธอกังวลที่พบว่าเด็กที่ถูกนำไปเลี้ยงประมาณครึ่งหนึ่งตกเป็นเหยื่อของการทุจริตทางการแพทย์
“เราไม่มีสิทธิใด ๆ เพราะเราไม่มีเอกสารใด ๆ เลยตั้งแต่แรก นี่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่เรื่องของแต่ละบุคคล”
แม้ว่าในปัจจุบัน ยังคงมีการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอยู่ แต่ก็เริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2010 หลังจากที่เกาหลีใต้แก้ไขกฎหมายการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบและลดจำนวนเด็กที่ถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ
ขณะที่ หลายประเทศในยุโรปหลายแห่งเริ่มการสอบสวนในกรณีนี้ โดยเฉพาะความผิดในการละเมิดระบบการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของเกาหลีใต้ ส่วน สหรัฐซึ่งรับเด็กเข้ามามากกว่าประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้ ซึ่งรับผิดชอบในการรับบุตรบุญธรรม ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวในทันที และรัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรับบุตรบุญธรรมในอดีต