‘ทะเลสาบ’ กลาง ‘ทะเลทราย’ ปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นในแอฟริกา

ฝนตกหนักในบางส่วนของแอฟริกาตอนเหนือ น้ำไหลบ่าจากพายุ ทำให้เกิด “ทะเลสาบชั่วคราว” ในทะเลทรายซาราฮาทั่วแอฟริกา
KEY
POINTS
- ดาวเทียมของนาซ
เดือนกันยายน 2024 เกิดพายุไซโคลนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดฝนตกหนักในบางส่วนของแอฟริกาตอนเหนือ น้ำไหลบ่าจากพายุ ทำให้เกิด “ทะเลสาบชั่วคราว” หลายแห่งทั่วทะเลทราย หนึ่งในนั้นคือ ทะเลสาบเซบคา เอล เมลาห์ (Sebkha el Melah) ทะเลสาบชั่วคราวในแอลจีเรีย นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก
ดาวเทียมของนาซ่าจับภาพทะเลสาบเซบคา เอล เมลาห์ ได้ในวันที่ 29 กันยายน 2024 แสดงให้เห็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่กลางทะเลทราย ปกคลุมพื้นที่ 191 ตารางกิโลเมตร ลึก 2.2 เมตร โดยทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันเขาอูการ์ตา (Ougarta) และไหลลงสู่แม่น้ำชั่วคราว อูเอ็ด ซาอูรา ที่ไหลลงมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้
จากเหตุการณ์ฝนตกหลายร้อยครั้งในลุ่มน้ำเซบคาเอลเมลาห์ตั้งแต่ปี 2000 มีเพียง 6 ครั้งเท่านั้นที่มีน้ำมากพอที่จะทำให้เกิดทะเลสาบชั่วคราวได้ ซึ่งการเกิดทะเลสาบทั้ง 6 ครั้งเป็นผลมาจากพายุหมุนนอกเขตร้อนที่กินเวลายาวนาน จนทำให้มีฝนตกหนักเป็นพิเศษ
การสังเกตการณ์ผ่านดาวเทียมบ่งชี้ว่า น้ำในทะเลสาบแห่งนี้จะสามารถอยู่ได้นานเป็นปี โดยข้อมูลพบว่า การเกิดทะเลสาบในปี 2008 ต้องใช้เวลาถึงปี 2012 กว่าน้ำจะแห้งหมด ดังนั้นหากในปัจจุบันไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ด้วยความลึก 2.2 เมตร จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจึงจะระเหยหมด
ดร.โมเช อาร์มอน จากสถาบันธรณีศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮีบรู และดร.ฟรานซิสก้า เอมิเซกเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ร่วมการวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อหาว่ารูปแบบน้ำท่วมแบบใดถึงทำให้เกิดทะเลสาบชั่วคราว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หายากและส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้
เครดิตภาพ: นาซ่า
นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่า พายุหมุนนอกเขตร้อนตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ รูปแบบสภาพอากาศเหล่านี้สามารถดึงไอน้ำจำนวนมหาศาลเข้ามา และพาไอน้ำเหล่านี้ไปทางภูมิประเทศที่สูง ในบางครั้งความชื้นจะสะท้อนผ่านทะเลทรายซาฮารา ซึ่งระเหยไปจากละอองฝนที่ตกลงมาซึ่งไม่เคยตกลงสู่พื้นดิน จากนั้นอากาศชื้นจะพัดต่อไป ส่งผลให้เกิดเอฟเฟกต์โดมิโนที่เพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
เมื่อพายุเหล่านี้มีความเข้มข้นมากพอและพัดต่อเนื่องหลายวัน ลมสามารถพัดผ่านพื้นที่สูงได้ก่อนที่จะทิ้งฝนลงในแอ่งที่แห้งแล้ง ประกอบกับพายุไซโคลนที่เคลื่อนตัวช้ากว่าสามารถทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ผสมผสานกับการพาความร้อนในท้องถิ่นและอากาศที่ยกตัวขึ้นในปริมาณมาก ทำให้น้ำไหลบ่าที่ไหลลงสู่เซบคาเอลเมลาห์ กลายเป็นทะเลสาบในที่สุด
ในช่วงยุคชื้นของแอฟริกา ราว 11,000-5,000 ปีก่อน ทะเลทรายซาฮาราอาจมีความชื้นและเขียวชอุ่มกว่านี้มาก หลักฐานทางธรณีวิทยาและโบราณคดีบ่งชี้ว่าพืชพรรณ พื้นที่ชุ่มน้ำ และอาจรวมถึงทะเลสาบขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นที่ที่ปัจจุบันกลายเป็นมหาสมุทรแห่งทราย
แบบจำลองที่จำลองสภาพภูมิอากาศในอดีต กลับไม่สามารถจำลองปริมาณน้ำฝนที่เติมเต็มทะเลสาบในทะเลทรายซาฮาราได้มากเท่าที่นักธรณีวิทยาเชื่อว่าเกิดขึ้นในช่วงยุคชื้นของแอฟริกา ซึ่งทำให้บรรดานักวิจัยบางคนเสนอว่าทะเลทรายซาฮาราอาจไม่ได้มีฝนตกและเขียวขจีอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศโบราณคิด แต่อาจจะมีทางเลือกอื่นได้
อาร์มอนกล่าวว่า มีความเป็นได้ที่ในอดีตอาจมีฝนตกหนักเพียงบางช่วงดังเช่นที่เกิดในปัจจุบันที่เดือนกันยายนมีฝนตกหนักมาก จนทำให้เกิดทะเลสาบชั่วคราว แต่อาจเกิดบ่อยครั้งกว่าปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำมากเพิ่มพอจนทำให้ทะเลสาบอยู่ได้หลายปีหรือหลายสิบปี โดยไม่จำเป็นต้องมีฝนตกเลย
โดยทั่วไป นักบรรพภูมิอากาศวิทยายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงวงโคจรเล็กน้อยที่เรียกว่า “วัฏจักรมิลานโควิช” (Milankovitch Cycle) เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของยุคชื้นในแอฟริกา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในการกระจายของรังสีดวงอาทิตย์และการเปลี่ยนแปลงความแรงและตำแหน่งของมรสุมแอฟริกาเหนือ
แต่ขณะเดียวกัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้วัฏจักรมิลานโควิชเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำให้ทะเลทรายซาฮาราจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรในอีกร้อยปีข้างหน้า
การคาดการณ์จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) บ่งชี้ว่าแม้ว่าบางส่วนของทะเลทรายซาฮาราอาจมีฝนมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น แต่ภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อาจได้รับฝนน้อยลง แต่อาร์มอนก็กล่าวว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างเป็นการคาดการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทะเลทรายซาฮารายังคงไม่ชัดเจน แต่เราหวังว่าในที่สุดเราจะสามารถเข้าใจอนาคตของทะเลทรายซาฮาราได้ดีขึ้นโดยการศึกษาเหตุการณ์ที่ทะเลสาบเหล่านี้เต็มไปหมด” อาร์มอนกล่าว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พายุรุนแรงขึ้น และเกิดถี่ขึ้นกว่าเดิม อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำในทะเลสาบเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้มากพอที่จะทำให้กลายเป็นทะเลสาบถาวรหรือมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยรูปแบบการใช้ชีวิตในทะเลทรายเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้นในบางพื้นที่ของทะเลทรายซาฮารา
ยังคงมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้สามารถนำไปใช้กับทะเลทรายอื่น ๆ ที่มีสภาพอากาศคล้ายกันได้หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าควรค่าแก่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างการไหลของบรรยากาศในระดับใหญ่และลักษณะทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ในภูมิภาคที่พายุดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ยาก
นักวิจัยยังแนะนำว่าแบบจำลองสภาพอากาศในอนาคตจำเป็นต้องมีความละเอียดสูงขึ้นเพื่อจับภาพเหตุการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเหล่านี้ เพื่อปรับปรุงการพยากรณ์อุทกวิทยาของทะเลทราย