‘จีน’ ให้ทุน ‘แอฟริกา’ สร้าง ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ แก้วิกฤติพลังงาน

‘จีน’ ให้ทุน ‘แอฟริกา’ สร้าง ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ แก้วิกฤติพลังงาน

ฝนตกน้อย ภัยแล้ง ทำให้เกิด “วิกฤติพลังงาน” ใน “แซมเบีย” และ “ซิมบับเว”​ จนต้องเร่งเปิด “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทจีน

ตลอดปี 2024 “แซมเบีย” และ “ซิมบับเว”​ เจอกับ “ภัยแล้ง” ตลอดทั้งปี ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนคาริบามีระดับน้ำที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้กับประเทศ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่าที่ควร และต้องหันไปพึ่งพลังงานจากถ่านหินแทน จนความต้องการพลังงานถ่านหินแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี

ช่วงปลายปี 2024 ชาวแซมเบีย 40% เจอกับไฟดับทั่วประเทศ ซึ่งถือเหตุ “ไฟดับครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี” เนื่องจากกังหันไฟฟ้าพลังน้ำ 6 ตัวของประเทศผลิตไฟฟ้าได้ไม่ถึง 10% ของปริมาณไฟฟ้าปรกติ

ขณะเดียวกัน ประเทศซิมบับเวเกิดไฟฟ้าดับรุนแรงมาก ถึงขั้นที่ มทูลี นคูเบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเตือนว่าภาคการเกษตรจะหดตัว 15% เนื่องจากปริมาณน้ำฝนลดลงในประเทศ

แม้ว่าในตอนนี้ฝนจะตกตามฤดูกาลแล้ว แต่ภัยแล้งยังคงพอหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากในปี 2024 ที่รุนแรงเป็นพิเศษ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แต่เพื่อแก้วิกฤติพลังงาน รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจึงจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น 2.8 กิกะวัตต์ (GW) ตามข้อมูลที่จัดทำโดยองค์กรวิจัย Global Energy Monitor (GEM) ซึ่งสามารถผลิตพลังงานให้แก่ประชาชนได้ราว 2.8 ล้านหลัง

แซมเบียเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 0.6 กิกะวัตต์ มูลค่า 900 ล้านดอลลาร์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Wonderful Group บริษัทผลิตเซรามิกและปุ๋ยของจีน ส่วนซิมบับเว ประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขนาด 1.8 กิกะวัตต์ที่โรงไฟฟ้าฮวังเก โรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Shandong Dingneng New Energy ของประเทศจีน และบริษัท Jindal Steel ของประเทศอินเดีย รวมถึงเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกหลายแห่งในซิมบับเวด้วยเงินสนับสนุนจากทุนจีน จนมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2.2 กิกะวัตต์ ตามรายงานของ GEM

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในซิมบับเวเป็นตัวอย่างอันน่าเศร้าของวงจรอุบาทว์ที่เกิดจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในช่วงที่เกิดวิกฤติสภาพอากาศรุนแรง เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์และน่ากังวลอย่างยิ่ง” ฟาไร มากูวู ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์กำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติ (CNRG) ในซิมบับเว กล่าวกับ The Independent

มากูวูแนะนำว่าซิมบับเวควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน มากกว่าจะหันกลับไปใช้ถ่านหิน 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอสร้างเหมืองถ่านหินในอุทยานแห่งชาติฮวางเงของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยได้รับการสนับสนุนจาก Sunny Yi Feng บริษัทจีน แต่นักรณรงค์และ CNRG กำลังต่อต้านโครงการนี้

ลูซี ฮัมเมอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากทีมติดตามโรงไฟฟ้าถ่านหินของ GEM กล่าวเสริมว่า โรงไฟฟ้าถ่านต้องใช้น้ำจำนวนมากถึงจะทำงานได้ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดเท่าไหร่สำหรับประเทศที่ประสบภัยแล้ง เธอกล่าวว่ารัฐจำเป็นต้องลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ทำงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้น แทนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ขณะที่ มารินา อากอร์ติเมวอร์ ผู้ประสานงานขององค์กร Africa Just Transition Network กล่าวว่า แม้โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้มีอยู่มากเช่นกัน

“ผลกระทบจากโครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ปัญหาสภาพอากาศรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภัยแล้งรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ในขณะนี้ด้วย” อากอร์ติเมวอร์กล่าวเสริม

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้คำมั่นสัญญาต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2021 ว่าจะยุติการให้ทุนถ่านหินจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันบริษัทจีนยังคงให้เงินสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ดี โดยประโยชน์จากช่องโหว่ในคำมั่นสัญญา ด้วยการอ้างว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้เป็น “โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง” หรือไม่ก็เป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเฉพาะ แต่ดูเหมือนว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินทั้งในซิมบับเวและแซมเบียจะไม่ได้เข้าข่าย ตามที่ GEM ระบุ

จีนเป็นผู้ให้ทุนด้านถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลกมาหลายปีแล้วภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) ที่จีนจะลงทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในต่างประเทศ

แม้ว่าถ่านหินจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในแซมเบียและซิมบับเว แต่การใช้ถ่านหินในทวีปแอฟริกายังคงมีไม่มา โดยมี 16 ประเทศที่ลดหรือยกเลิกโครงการถ่านหินที่เสนอในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียงแค่ 3 ประเทศเท่านั้นที่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย

รายงานของ GEM ระบุว่าปริมาณถ่านหินใหม่ 44 กิกะวัตต์ที่เริ่มดำเนินการในปีที่แล้วทั่วโลกถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในขณะที่การเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นสี่เท่าในปี 2023 และสหราชอาณาจักรก็เลิกใช้ถ่านหินอย่างถาวร 

ขณะที่ โรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่าครึ่งในสหรัฐจะมีกำหนดเลิกใช้งานภายในปี 2035 แต่บริษัทสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าหลายแห่ง เช่น PacifiCorp, Duke Energy และ Georgia Power ออกมากล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า จะขยายระยะเวลาการใช้โรงไฟฟ้าออกไปอีก อีกทั้งนโยบายต่าง ๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ยังเอื้อให้เกิดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น โดยไม่สนใจการใช้พลังงานหมุนเวียน


ที่มา: Africa EnergyIndependent