‘โคคา-โคล่า’ อาจสร้างขยะพลาสติกล้นมหาสมุทร ภายใน 2030

‘โคคา-โคล่า’ อาจสร้างขยะพลาสติกล้นมหาสมุทร ภายใน 2030

ผลวิเคราะห์ของโอเชียนา พบว่า โคคา-โคล่า อาจสร้างขยะพลาสติก 603 ล้านกก.ต่อปี ภายในปี 2030 เทียบเท่าขยะในท้องวาฬ 18 ล้านตัว แนะแนวทางธุรกิจน้ำอัดลมต้องลดการใช้พลาสติก

ผลวิเคราะห์ใหม่ขององค์กรไม่แสวงหากำไร “โอเชียนา" (Oceana) ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมี.ค. พบว่า ผลิตภัณฑ์ของ "โคคา-โคล่า" (Coca-Cola) บริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมรายใหญ่ของโลก จะครองสัดส่วนประมาณ 603 ล้านกิโลกรัมของขยะพลาสติกที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรและแหล่งน้ำโลกในแต่ละปีภายในปี 2030 ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่าขยะที่อาจบรรจุในท้องวาฬได้มากกว่า 18 ล้านตัว

รายงานดังกล่าวเผยแพร่ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ร่างกายมนุษย์จะได้รับมลพิษจากการแพร่กระจายของไมโครพลาสติก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ไมโครพลาสติกเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง, ภาวะมีบุตรยาก, โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ

แมตต์ ลิตเติลจอห์น ผู้นำวิจัยรายงานของโอเชียนาที่มุ่งเป้าไปยังผู้ก่อมลพิษระดับองค์กร กล่าว “โคคา-โคล่า เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่สุดของโลกมานาน และด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากเมื่อพิจารณาผลกระทบทั้งหมดนี้ในมหาสมุทร”

การคาดการณ์ของโอเชียนาอ้างอิงข้อมูลจากรายงานบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่า ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2018-2023 ประกอบกับคาดการณ์การเติบโตของยอดขายเพื่อสร้างเงื่อนไขการวิเคราะห์กรณีที่ธุรกิจดำเนินการตามปกติ และผลลัพธ์ที่ได้พบว่า การใช้พลาสติกของบริษัทอาจเกิน 4.13 พันล้านกิโลกรัมต่อปีภายในปี 2030

‘โคคา-โคล่า’ อาจสร้างขยะพลาสติกล้นมหาสมุทร ภายใน 2030

ในการคาดการณ์ปริมาณพลาสติกที่จะไหลลงสู่ระบบนิเวศน้ำ นักวิจัยได้ใช้วิธีการตรวจสอบบทความวิชาการจากทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติและเผยแพร่ผลวิจัยผ่านวารสารวิทยาศาสตร์วิชาการในปี 2020 และได้ผลลัพธ์การวิเคราะห์ที่คาดว่าโคคา-โคล่าจะครองขยะพลาสติก 603 ล้านกิโลกรัมของขยะพลาสติกในแหล่งน้ำทั้งหมด เทียบเท่าขวดพลาสติกปริมาตรครึ่งลิตรเกือบ 2.2 แสนล้านขวด

ขณะที่ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานเซส (Science Advances) เมื่อปี 2024 ระบุว่า โคคา-โคล่า ติดอันดับแบรนด์ที่ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดในโลก รองลงมาเป็นแบรนด์เครื่องดื่มอัดลมเป๊ปซี่โค (PepsiCo), เนสท์เล่ (Nestle), ดานอน (Danone) และอัลเทรีย (Altria)

สำหรับโอเชียนา แนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนที่สุดในการลดตัวเลขอันน่าตกตะลึงนี้คือ การนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้กลับมาใช้ใหม่ เช่น ขวดแก้วที่สามารถกลับมาใช้ซ้ำได้มากถึง 50 ครั้ง หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET แบบหนาที่ออกแบบมาให้ใช้ซ้ำได้ 25 ครั้ง

ทั้งนี้ โคคา-โคล่าทราบดีในปี 2022 ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้นั้นเป็นหนึ่งในแนวทางลดขยะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และได้ให้คำมั่นบรรลุการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ 25% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกอย่างเงียบๆ หายไปจากรายงานความยั่งยืนของบริษัทที่เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2024

ส่วนเป้าหมายที่ปรับปรุงใหม่ของบริษัทเน้นไปที่การรีไซเคิลด้านบรรจุภัณฑ์แทน และเพิ่มอัตราการเก็บบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล พร้อมเน้นย้ำความท้าทายสำคัญในการรีไซเคิลขวดน้ำอัดลม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

กลุ่มผู้สนับสนุนสิ่งแวดล้อมได้ออกมาเตือนนานแล้วว่าไม่ควรพึ่งพาการรีไซเคิลมากเกินไป โดยให้เหตุผลว่าทำการเช่นนี้คือการโยนความผิดให้ผู้บริโภคมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ

ลิตเติลจอห์นเตือน “รีไซเคิลก็ดี แต่ถ้าคุณจะใช้พลาสติกรีไซเคิลเพื่อผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้น นั่นจะเป็นปัญหา”

อนึ่ง การผลิตพลาสติกต้องใช้น้ำมัน ดังนั้นการผลิตพลาสติกของบริษัทจึงเป็นตัวการที่ทำให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดียังคงมีความหวังอยู่ เพราะโคคา-โคล่าได้เดินหน้าธุรกิจด้วยระบบเติมน้ำขนาดใหญ่ในหลายประเทศ เช่น บราซิล เยอรมนี ไนจีเรีย และพื้นที่บางส่วนในสหรัฐ เช่น ทางตอนใต้ของรัฐเท็กซัส

“พวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานการใช้ซ้ำที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทเครื่องดื่ม และพวกเขามีความสามารถในการขยายโครงสร้างและนำเสนอแนวทางดังกล่าวให้บริษัทอื่นในอุตสาหกรรม” ลิตเติลจอห์นกล่าว

ในแถลงของโคคา-โคล่าที่ส่งถึงเอเอฟพี ตัวแทนบริษัทระบุว่า ขณะที่บริษัทพยายามให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น และพัฒนาระบบเก็บบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลแล้ว บริษัทได้ลงทุนเพิ่มขึ้น และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะขยายทางเลือกบรรจุภัณฑ์แบบเติม พร้อมย้ำงานนี้จะดำเนินต่อไปเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่เน้นให้ความสำคัญกับผู้บริโภค

 

อ้างอิง: CNA