‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ กลับมาอีกครั้ง หลังจากสูญพันธุ์หมื่นปี

“หมาป่าไดร์วูล์ฟ” (Dire Wolf) กลับมาอีกครั้ง หลังจากสูญพันธุ์มานานกว่า 10,000 ปี ด้วยเทคนิค “การดัดแปลงพันธุกรรม”
KEY
POINTS
- นักวิจัยจาก Colossal Biosciences ให้กำเนิด “หมาป
นักวิจัยจาก Colossal Biosciences บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมของสหรัฐ ให้กำเนิด “หมาป่าไดร์วูล์ฟ” (Dire Wolf) ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อกว่า 10,000 ปีก่อน ด้วยเทคนิค “การดัดแปลงพันธุกรรม”
ลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟที่ Colossal Biosciences เพิ่งให้กำเนิดมีทั้งหมด 3 ตัว โดยเป็น ตัวผู้ 2 ตัวอายุ 6 เดือน ชื่อ โรมุลุส (Romulus) และ รีมัส (Remus) ส่วนตัวเมียอายุ 3 เดือน ชื่อ คาลีซี (Khaleesi)
เบ็น แลมม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Colossal กล่าวถึงการพัฒนาครั้งนี้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่
“ผมภูมิใจในทีมงานมาก แต่โครงการนี้จะเป็นเพียงตัวอย่างแรก จากหลาย ๆ โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีการนำสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์กลับมามีชีวิตอีกครั้งสามารถทำได้จริง” แลมม์กล่าว
นักวิทยาศาสตร์ทำการการตรวจสอบและสกัดดีเอ็นเอจากฟอสซิลหมาป่าไดร์วูล์ฟหลายชิ้น ทั้งจากฟันหมาป่าไดร์วูล์ฟอายุ 13,000 ปีที่ขุดพบในโอไฮโอ และชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะอายุ 72,000 ปีที่พบในไอดาโฮ จากนั้นทีมงานได้เปรียบเทียบจีโนมหมาป่าไดร์วูล์ฟกับจีโนมของสุนัขป่า เช่น หมาป่า จิ้งจอก และสุนัขจิ้งจอก เพื่อระบุรูปแบบทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะเฉพาะของหมาป่าไดร์วูล์ฟ เช่น ขนสีขาวและขนยาวและหนา
จากนั้น บริษัทใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนเซลล์หมาป่าสีเทา โดยแก้ไข 20 ครั้งในยีน 14 ยีน เมื่อได้ยีนตามที่ต้องการ นักวิทยาศาสตร์นำเซลล์เม็ดเลือดจากหมาป่าสีเทาที่มีชีวิตมาใช้ในการตัดแต่งยีน ด้วยเทคโนโลยี CRISPR ให้มีความใกล้เคียงกับหมาป่าไดร์วูล์ฟ
เครดิตภาพ: Colossal Biosciences
พวกเขาถ่ายโอนวัสดุทางพันธุกรรมไปยังเซลล์ไข่ของสุนัขบ้าน เมื่อพร้อมแล้ว เอ็มบริโอจะถูกย้ายไปฝังในตัวของสุนัขบ้าน และ 62 วันต่อมา ลูกหมาป่าสีเทาที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้คล้ายกับหมาป่าไดร์วูล์ฟก็ถือกำเนิดขึ้น โดยลูกสุนัขหมาป่าไดร์วูล์ฟตัวผู้ 2 ตัวเกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ส่วนลูกสุนัขตัวเมีย 1 ตัวเกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2025
เบธ ชาปิโร หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Colossal กล่าวว่า “ด้วยแนวทางที่ดีขึ้นในการกู้คืนดีเอ็นเอโบราณ ความก้าวหน้าทางการคำนวณเหล่านี้ ทำให้เราสามารถแก้ไขประวัติวิวัฒนาการของหมาป่าไดร์วูล์ฟและสร้างรากฐานจีโนมสำหรับการคืนชีพ โดยเฉพาะการคัดเลือกสายพันธุ์เฉพาะของหมาป่าไดร์วูล์ฟอย่างมั่นใจ ซึ่งกำหนดเป้าหมายสำหรับการแก้ไขยีนของเรา”
หมาป่าไดร์วูล์ฟสูญพันธุ์ไปเมื่อกว่า 10,000 ปีก่อน มีลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ ขนหนาและกรามที่แข็งแรง มีขนาดใหญ่กว่าหมาป่าสีเทา ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของพวกมันในปัจจุบันมาก
ทั้งนี้ นักบรรพชีวินวิทยา ดร.นิค รอลเลนซ์ จากมหาวิทยาลัยโอทาโก อธิบายว่าดีเอ็นเอของหมาป่าไดร์วูล์ฟโบราณที่สกัดมาจากซากฟอสซิล เสื่อมสภาพและได้รับความเสียหายเกินกว่าที่จะคัดลอกหรือโคลนได้ทางชีวภาพ
“ดีเอ็นเอโบราณเหมือนกับว่าคุณใส่ดีเอ็นเอสดในเตาอบที่อุณหภูมิ 500 องศาข้ามคืน มันแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เหมือนเศษชิ้นส่วนและฝุ่น ดังนั้น สิ่งที่ Colossal สร้างจึงเป็นหมาป่าสีเทา แต่ก็มีลักษณะบางอย่างเหมือนหมาป่าไดร์วูล์ฟ เช่น หัวกะโหลกที่ใหญ่กว่าและขนสีขาว หมาป่า 3 ตัวนี้จึงเป็นลูกผสม” ดร.รอลเลนซ์กล่าวกับ BBC News
เครดิตภาพ: Colossal Biosciences
หมาป่าทั้ง 3 ตัวที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมจะไม่สามารถทำหน้าที่ตามระบบนิเวศได้เหมือนกับหมาป่าไดร์วูล์ฟตัวจริง โดยพวกมันจะใช้ชีวิตอยู่ในเขตอนุรักษ์ระบบนิเวศที่ปลอดภัยในพื้นที่ 2,000 เอเคอร์ มีรั้วสูง 3 เมตร และได้รับการดูแลตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งอเมริกาและจดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรของสหรัฐเรียบร้อย
หมาป่าไดร์วูล์ฟมักปรากฏตัวใน “ป๊อปคัลเจอร์” อยู่บ่อยครั้ง ทั้งในเกมชื่อดังอย่าง Dungeons & Dragons และ World of Warcraft แต่หมาป่าไดร์วูล์ฟกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจาก ซีรีส์ Game of Thrones ของ HBO สร้างจากหนังสือของจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนของ Colossal Biosciences และที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมของบริษัท
“หลายคนมองว่าหมาป่าไดร์วูล์ฟเป็นสัตว์ในตำนานที่มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งจินตนาการเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกมันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการมีส่วนสนับสนุนระบบนิเวศของสหรัฐ” มาร์ตินกล่าว
เครดิตภาพ: TIME
นอกจากความสำเร็จในครั้งนี้แล้ว Colossal Biosciences ยังได้โคลนหมาป่าแดง 4 ตัวโดยใช้เลือดที่เก็บมาจากหมาป่าแดงที่ใกล้สูญพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับประชากรหมาป่าแดง ในการเพาะพันธุ์และช่วยเหลือสายพันธุ์นี้
อีกทั้ง บริษัทแห่งนี้ได้ประกาศโครงการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของเซลล์จากสิ่งมีชีวิต เพื่อสร้างสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายแมมมอธขนฟู โดโด และสัตว์อื่น ๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอีกด้วย
Colossal Biosciences ระดมทุนได้อย่างน้อย 435 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ ก่อตั้งบริษัทในเดือนกันยายน 2021 และประกาศแผนการฟื้นคืนชีพแมมมอธเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม การคืนชีพแมมมอธขนฟูใช้เวลานานกว่าที่คาด โดยบริษัทระบุว่าโลกอาจจะได้เห็นลูกแมมมอธขนฟูตัวแรกออกมาในปี 2028
ที่มา: AP News, BBC, CNN, Independent, TIME
หมาป่าไดร์วูล์ฟที่ Colossal Biosciences ให้กำเนิด
เครดิตภาพ: Colossal Biosciences