ผุดตู้อัจฉริยะรับขยะ 5 ประเภท เสื้อผ้า-น้ำมันพืช ได้แต้มจูงใจ ลดขยะกรุงเทพฯ

เอ็นไอเอ – ทรู - สจล. ส่ง 5 นวัตกรรมไขปัญหาจัดการขยะในเมืองด้วยสถานีจัดการขยะอัจฉริยะ "ฉลาดทิ้ง" นำร่องย่านปุณณวิถี ย่านนวัตกรรมของเมืองกรุง จุดประกายเมืองน่าอยู่และการลงทุนธุรกิจสีเขียว
KEY
POINTS
- เอ็นไอเอ ผนึกกำลัง ทรู และ สจล. ส่ง 5 นวัตกรรมไขปัญหาจัดการขยะในเมือง
- ”ฉลาดทิ้ง : สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ” นำร่องย่านปุณณวิถี - ย่านนวัตกรรมของเมืองกรุง
- จุดประกายเมืองน่าอยู่และการลงทุนธุรกิจสีเขียว
กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งกำเนิดขยะมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีปริมาณขยะเฉลี่ยประมาณ 10,000 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี ในการจัดการขยะนี้ ต้องใช้งบประมาณเกินกว่า 7,000 ล้านบาทต่อ ซึ่งคิดเป็น 15-16% ของงบประมาณทั้งหมด
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการกำหนด ‘ยุทธศาสตร์การกำจัดขยะ’ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565–2570) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดปริมาณขยะและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ แต่การคัดแยกขยะเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันประชาชนบางครัวเรือนเริ่มมีการคัดแยกขยะแล้ว แต่ประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่รองรับการทิ้งขยะคัดแยกจากครัวเรือน
NIA เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง จึงร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพฯ (Bangkok City Lab) นำร่องติดตั้งสถานีจัดการขยะอัจฉริยะ “ฉลาดทิ้ง” (Waste Wise Station) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ในพื้นที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค
ซึ่งรวม 5 นวัตกรรมตู้รับขยะอัจฉริยะ สำหรับรับขยะ 5 ประเภท ได้แก่
- ตู้ True รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste
- ตู้ Oklin รับขยะประเภทเศษอาหาร
- ตู้ Circular รับขยะประเภทเสื้อผ้า
- ตู้ Refun รับขยะประเภทขวดพลาสติก
- ตู้ Recycoex รับและขยะประเภทน้ำมันเก่า
ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่เอื้อต่อการจัดการขยะจากต้นทาง โดยเฉพาะการคัดแยกขยะจากครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ NIA จึงจับมือกับเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันออกแบบและพัฒนาโครงการ “ฉลาดทิ้ง : สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ” หรือ Waste Wise Station บนพื้นที่ของทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งย่านปุณณวิถี เป็นพื้นที่นำร่อง
พื้นที่นี้ที่เรียกว่า 'ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี' เป็นพื้นที่ที่ NIA ได้ร่วมกันพัฒนาและทำงานมาเป็นเวลาประมาณ 7–8 ปีแล้ว เดิมทีเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นเรื่อง Cyber Technology และการพัฒนา Startup ให้พื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางสำหรับเทคโนโลยีและ Startup รวมถึงเป็นพื้นที่แสดงนวัตกรรมใหม่
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว เราได้เห็น Startup และเทคโนโลยีมากมายมารวมตัวกันภายในอาคาร True Digital Park ซึ่งได้สร้างกิจกรรมหลากหลาย แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปคือการขยายผลออกไปไกลกว่าแค่พื้นที่ปุณณวิถี โดยจะครอบคลุมถึงย่านสุขุมวิทตอนใต้ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับ Creative Industry และ Service Industry รองรับ Soft Power ทั้ง 14 อุตสาหกรรม เช่น Gaming และแฟชั่น นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นฉากถ่ายภาพยนตร์ในหลายเรื่องอีกด้วย
ขาดโครงสร้างพื้นฐานจัดการขยะต้นทาง
ดร.กริชผกา กล่าวด้วยว่า NIA วางตัวเองในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) ที่มุ่งสร้างความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมให้กับประเทศไทย และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านการใช้ระบบนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ จึงเชิญชวนและประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
ธุรกิจ Startup หลายรายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ เช่น การเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย หรือการนำเสื้อผ้าเก่ามาแปรรูปเป็นเส้นใยใหม่สำหรับผลิตเสื้อผ้าหรือชุดยูนิฟอร์ม เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าขยะสามารถสร้างมูลค่าและตอบโจทย์เป้าหมายด้าน SDG, ESG และ Circular Economy ได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการขยะในอนาคตจะมีคุณค่า หากเรามีระบบที่เหมาะสม เช่น การคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก แต่ในประเทศไทยยังต้องการการผลักดันในสองรูปแบบ คือ การบังคับใช้ (Enforcement) และการสร้างความตระหนักรู้ในใจของประชาชน เชื่อว่าเยาวชนและคนรุ่นใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่ระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
NIA ยังคงสนับสนุน Startup และความร่วมมือกับพันธมิตรจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ขยะจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค Green Transformation และการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
เศรษฐกิจหมุนเวียน
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) ให้เหลือศูนย์ในหลุมฝังกลบ (Zero e-Waste to landfill) ตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ย่านนวัตกรรมปุณณวิถีมีเป้าหมายเพื่อสร้างสถานีจัดการขยะอัจฉริยะ รวมถึงกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่นี้ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งใน Startup Hub ที่ใหญ่และดีที่สุดในประเทศไทยและกรุงเทพฯ แต่ยังเป็นจุดรวมของคนรุ่นใหม่และบริษัท Startup ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการอยู่ร่วมกับโลกอย่างมีคุณภาพและคุณค่า
"True Corporation ในฐานะ Tech Company ของไทย เราให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในด้าน ESG โดยวันนี้เราได้เน้นมิติของสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในระดับศูนย์ เราได้ดำเนินการในด้านนี้มานานกว่า 10 ปี ผ่านโครงการที่สนับสนุนการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการจัดกล่องรับคืนขยะตาม True Shop รวมถึงสถานศึกษากว่า 197 แห่ง และตั้งเป้าหมายที่จะขยายให้ครบ 400 แห่งภายในปีนี้
นอกจากนี้ เราได้พัฒนาตู้รับขยะอัจฉริยะภายใต้ชื่อ 'True E-Waste Vending Machine' เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยอัตโนมัติ ซึ่งได้เริ่มทดลองติดตั้งที่ True Digital Park เราเชื่อว่าที่นี่จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมปุณณวิถี และเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อสนับสนุนการแยกขยะอย่างถูกต้องสำหรับประชาชนในทุกพื้นที่และทุกประเภท"
สอดรับกับเป้า SDGs
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ขยะเป็นมลภาวะที่มีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ดังนั้น เป้าหมายของ สจล. คือการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดมูลค่า ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
"เรานำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในความท้าทายสำคัญของยุคนี้คือ การจัดการขยะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างรอบด้านและแนวคิดใหม่ที่ยั่งยืน
ในครั้งนี้ เราได้ทำการวิจัยเพื่อจัดการขยะหลัก 5 ประเภท โดยมีเป้าหมายเพื่อรีไซเคิลขยะและเพิ่มมูลค่าให้ได้มากที่สุด โครงการนี้ยังเกี่ยวข้องกับการผลักดันแนวทาง Zero Waste ในสถาบันการศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาหรือทำลายขยะที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรามุ่งหวังให้ขยะพลาสติกถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดมลภาวะ
อีกด้านหนึ่ง เราได้ร่วมมือกับชุมชนในเขตลาดกระบัง เพื่อจัดการอบรมและส่งเสริมการใช้ขยะพลาสติกให้เกิดประโยชน์ เช่น การประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนชุมชน การช่วยสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการวิจัยหลายครั้งที่ประสบความสำเร็จในกระบวนการวิจัยนั้นกลับขาดโอกาสในการนำไปต่อยอดในตลาด”
โครงการนี้ไม่เพียงมุ่งลดปริมาณขยะในเขตเมือง แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรม ส่งเสริมจิตสำนึกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตโลกร้อน ทั้งยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่อง 5 ธุรกิจนวัตกรรม
1. TRUE: E-Waste เครื่องรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจากกลุ่มทรู มาพร้อมนวัตกรรมที่สามารถเก็บข้อมูลแบบ real-time ได้แก่ ชนิด/หมวดหมู่ของ e-Waste แจ้งน้ำหนัก พร้อมคำนวณค่า Carbon Reduction ระบบ Notification และ ระบบสะสมแต้มให้กับสมาชิก ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ มั่นใจได้ 100% E-Waste จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
2. OKLIN : Food Waste เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการย่อยสลายขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ย ช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ถึง 90% ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่ได้สามารถนำไปใช้เป็นสารบำรุงดิน เร่งใบ เร่งผล ในการทำพืชสวนทางการเกษตรหรือใช้บำรุงต้นไม้
3. CIRCULAR : Used Clothes นำของเสียจากอุตสหากรรมสิ่งทอมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น ของเสียจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือ เศษผ้าจากการตัดเย็บ และ ขยะสิ่งทอแฟชั่น เสื้อผ้าใช้แล้วต่างๆ มาคัดแยกสิ่งทอ/เสื้อผ้า ตามเฉดสี และ นำมาแปรสภาพเป็นผ้าหลากสี หรือ เสื้อผ้าใหม่ โดยไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม เพื่อนำกลับมาใช้เป็นสินค้าที่ยั่งยืน
4. REFUN : Plastic Waste หรือ 'ตู้รีฟัน' คือตู้รับคืนขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ เปลี่ยนขยะรีไซเคิลเป็นคะแนนสะสมในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ใช้สามารถนำขวด PET พลาสติกใส มาหยอดที่ตู้ เพื่อให้เครื่องตรวจสอบคิดเป็นสะสมเป็นแต้ม เพื่อนำไปแลกเป็นของรางวัลต่างๆตามที่แคมเปญจัดขึ้น
5. RECYCOEX : Waste Cooking Oil ตู้รับน้ำมันพืชที่ใช้เเล้ว เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน Sustainable Aviation Fuel (SAF) นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการช่วยลดโลกร้อน ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางเเผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต