นายกฯ แพทองธาร ขึ้นเวที ESCAP ชู 'ครัวโลก-Soft Power-BCG' 3 ยุทธศาสตร์ยั่งยืน

นายกฯ แพทองธาร ประกาศจุดยืนของไทยในฐานะ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” บนเวที ESCAP ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (รัฐ-เอกชน-ประชาชน) คือหัวใจของความยั่งยืน
KEY
POINTS
- นายกฯ แพทองธาร ประกาศจุดยืนของไทยในฐานะ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” บนเวที ESCAP
- ไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาจากเหตุแผ่นดินไหว และพร้อมสนับสนุนเพิ่มเติม
- ปี 2024 พบว่า 84% ของเป้าหมาย SDGs ในภูมิภาคยังล่าช้าหรือถดถอย
- ยกตัวอย่าง “โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสา
ESCAP หรือ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) เป็นหนึ่งในห้าคณะกรรมการระดับภูมิภาคของ สหประชาชาติ (United Nations : UN) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มี 53 ประเทศสมาชิก และ 9 ประเทศสมทบ
ล่าสุด การประชุม ESCAP สมัยที่ 81 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2025 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนจากทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
ธีมของการประชุมปีนี้คือ "ความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นในเอเชียและแปซิฟิก" ซึ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตของเมืองอย่างครอบคลุม และผลักดันการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ในทุกระดับ ประเด็นสำคัญที่หารือ ESCAP สมัยที่ 81 เช่น
- การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในภูมิภาคที่มีประชากรเมืองกว่า 2.2 พันล้านคน
- การรับมือกับความท้าทาย เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม
- การส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- การใช้ ข้อมูล ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และการเงินนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิด โดยเน้นย้ำบทบาทของไทยในฐานะ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมแสดงความเสียใจต่อเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และย้ำว่าไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และพร้อมจะดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย
ความก้าวหน้าล่าช้าในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลต่อความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยระบุว่า ในปี 2024 พบว่ากว่า 84% ของเป้าหมาย SDGs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังมีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย หรือถดถอย สะท้อนถึงความท้าทายและความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอย่างจริงจัง
"นี่คือสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า เราจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมนวัตกรรมในการพัฒนา เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด" นายกรัฐมนตรีกล่าว
3 ยุทธศาสตร์ของไทย
นายกรัฐมนตรีเน้นความสำคัญของกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น องค์การสหประชาชาติ ESCAP, อาเซียน, ACMECS, BIMSTEC และ ACD ที่เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมโยง และผลักดันนโยบายร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอ 3 ยุทธศาสตร์หลักของไทยที่มุ่งสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ดังนี้
1. “ครัวของโลก” โดยไทยตั้งเป้าหมายการเป็น “ครัวของโลก” โดยมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการปรับโฉมภาคการเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (precision farming) และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะไม่เพียงตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม และครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
2. “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผ่านการขับเคลื่อนด้วย Soft Power และการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไทยมีทุนทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถต่อยอดเป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม การออกแบบนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะแนวคิด “De-stress destinations” และการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจในพื้นที่นอกเขตเมือง
3. “การเปลี่ยนผ่านสีเขียว” โดยไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นสูง
ชูโครงการ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”
ในด้านการพัฒนาเมือง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายในปี 2050 คาดว่ากว่า 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งสร้างความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมไซเบอร์
รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้กับประชาชน ควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมายในการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของเมือง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างรูปธรรมของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในเมืองผ่าน “โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานและบริการต่างๆ รวมถึงช่วยลดมลพิษและส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลมีแผนจะขยายมาตรการลักษณะเดียวกันไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคต
3 แนวคิด ความร่วมมือในระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวคิด 3 ประการเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับภูมิภาค ได้แก่
- การประสานความร่วมมือระดับภูมิภาคต้องควบคู่กับการดำเนินงานในระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรม
- ความร่วมมือแบบพหุภาคีที่รวมพลังจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม คือกุญแจสู่การเติบโตอย่างครอบคลุม
- ESCAP เป็นเวทีสำคัญในการแบ่งปันองค์ความรู้ สร้างกลไกความร่วมมือ และเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีสรุปว่า ไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ESCAP และประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เป็นภูมิภาคที่ “มั่งคั่ง ยืดหยุ่น และยั่งยืน” เพื่อลูกหลานในอนาคต
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า, ทำเนียบรัฐบาล