เปลี่ยนโลก ‘วิดีโอเกม’ สู่สีเขียว เริ่มง่ายๆ ด้วย ‘เกมเมอร์’

การเปลี่ยนโลกวิดีโอเกม อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษขนาดใหญ่ สู่โลกสีเขียวได้นั้น สามารถเริ่มง่ายๆ ได้ด้วยเกมเมอร์เอง
ผลการศึกษาจำนวนมากบ่งชี้ว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ผลิตคอนโซลเกม ไปจนถึงปริมาณการใช้พลังงานของคลาวด์เกมมิง อาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สายเกินแก้ที่จะปรับปรุงความยั่งยืนภายในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยตัวผู้เล่นเอง
เอิร์ธดอตโออาร์จี (EARTH.ORG) เผยว่า อุตสาหกรรมวิดีโอเกมกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้านเอ็กซ์โพลดดิง ท็อปปิกส์ คาดว่า ในปี 2567 มีผู้เล่นวิดีโอเกมทั่วโลกราว 3.32 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 พันล้านคนภายในระยะเวลา 9 ปี
แม้ผลการศึกษาหลายชิ้นเผยว่า การเล่นเกมมีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยพัฒนาความคล่องแคล่วของมือ เพิ่มทักษะทางสังคม และลดความเครียด แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเกมยังคงน่าเป็นห่วง
ตั้งแต่ตัวเกมไปจนถึงแนวทางการผลิต การขนส่ง และการจำหน่าย ล้วนสร้างคาร์บอนฟรุตพรินต์จำนวนมาก แม้แต่เกมดิจิทัลก็สามารถทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากการเล่นแบบออนไลน์ต้องการแหล่งกักเก็บข้อมูลจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดมลพิษทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งครองสัดส่วนเกือบ 3.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
เกมสร้างมลพิษ
หนึ่งในปัญหาใหญ่สุดทั้งของคอนโซลเกม หรือเกมที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการเล่น และฟิซิคัลเกม เช่น จิ๊กซอว์ คือ กระบวนการผลิต
คอนโซลเกมต้องใช้วัสดุจากอุตสาหกรรมเหมือง ทั้งทองแดง นิกเกิล ทองคำ และสังกะสี ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข้อพิพาทหลายรายการเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัสดุเหล่านั้น บางบริษัทไม่สามารถติดตามที่มาของวัสดุได้ ขณะที่บางบริษัทพบปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม บางบริษัท เช่น นินเทนโด พยายามเลี่ยงใช้วัสดุจากประเทศที่มีข้อพิพาท แม้จะมีผลลัพธ์ที่ดีแต่ยังมีปัญหาจากบรรดาซัพพลายเออร์ของตนเองอยู่บ้าง
การทำเหมืองสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ตั้งแต่การสกัดไปจนถึงการผลิต เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศหลายพันล้านกิโลกรัม เช่น การผลิตเครื่องเล่นเกม PlayStation 4 ของโซนี่ (Sony) สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 8.9 พันล้านกิโลกรัม นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2558
ด้าน eyespyhealth เผยว่า เทนเซนต์, ไมโครซอฟท์, แอปเปิ้ล, โซนี่ และกูเกิล เป็นบิ๊กเทคฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และไมโครซอฟท์คาดการณ์ว่า โดยเฉลี่ยเกมเมอร์ที่ใช้เครื่องเล่นเกมประสิทธิภาพสูงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 72 กิโลกรัมต่อปี
ทั้งนี้ โลกของเกมก็พัฒนาอยู่เสมอ บรรดาเกมเมอร์พีซี เกมเมอร์ที่เล่นเกมออนไลน์และใช้คลาวด์กักเก็บข้อมูล ล้วนต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคอนโซลเกมใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 156% ขณะเล่นเกมที่ใช้คลาวด์เมื่อเทียบกับการเล่นเกมในเครื่องเล่นทั่วไป และอาจหนุนการใช้พลังงานมากขึ้นไปอีก เมื่อเกมมีรูปแบบบริการและเปิดให้สมัครสมาชิกแบบดิจิทัลมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้ช่วยลดการใช้พลังงาน แต่ยังคงช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกฝังกลบได้
คำถามคือ แล้วเกมเมอร์ ผู้พัฒนาและผู้ผลิตเกม สามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้อุตสาหกรรมวิดีโอเกมสีเขียวมากขึ้นในอนาคต และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม
เริ่มง่ายๆ ด้วยตัวเอง
หากผู้อ่านเป็นเกมเมอร์ตัวยงอาจต้องตกใจ เมื่อรู้ว่างานอดิเรกของตนเองสร้างความเสียหายได้มาก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นสามารถเริ่มสร้างความแตกต่างได้ตั้งแต่ตอนนี้
เกมเมอร์ตัวยงสามารถสร้างความยั่งยืนมากขึ้นได้ด้วยการเลือกตัวเลือกที่ดีกว่า เมื่อต้องตัดสินใจซื้อหรือเล่นเกมใดๆ เช่น ปิดพีซีหรือคอนโซลเมื่อไม่ได้ใช้ ซื้อเกมดิจิทัลแทนซื้อเกมแบบแผ่น เปลี่ยนคอนโซลใหม่เมื่อจำเป็นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงอุปกรณ์เสริมที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ เกมเมอร์ควรเรียนรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลเกมและเครื่องเล่นเกมต่างๆ ด้วย เพื่อลดการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์
การรีไซเคิลเกมและคอนโซลเกมในปัจจุบันง่ายมากขึ้นแล้ว เพราะมีร้านรับซื้อขยะอิเล็กทอรนิกส์เก่ามากขึ้น ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งก็เสนอโครงการรีไซเคิลสินค้า ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเป็นเงินหรือเครดิตเพื่อจูงใจลูกค้าที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้การผลักดันกฎหมายที่เปิดให้เอื้อต่อการซ่อมแซมเครื่องใช้ต่างๆ ได้ง่าย อาจช่วยลดขยะเหล่านี้ได้ ลูกค้าจะได้ไม่ต้องซื้อสินค้าใหม่หรือเพิ่มขยะ เมื่อของใช้เดิมพังหรือเสียหาย
ดังนั้น หากคอนโซลเกมยังคงใช้งานได้ และเราไม่อยากเล่นเกมแล้ว ลองเปลี่ยนไปขายหรือบริจาคแทนการทิ้งมันเฉยๆ ดีกว่า
ผู้ผลิตเกมต้องพยายามมากขึ้น
สำหรับผู้ผลิต เอิร์ธดอตโออาร์จีแนะว่า จำเป็นต้องยกระดับและมีความคืบหน้าในความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงทุกๆ ขั้นตอนในการผลิตสินค้า ตั้งแต่ใช้แพ็กเกจที่มีความยั่งยืน และใช้วัสดุจากเหมืองที่มีจริยธรรม
บางสตูดิโอ เช่น สเปซเอป (Space Ape) ได้กำหนดความมุ่งมั่นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้แล้ว เช่น บริการรถรับส่งไปทำงาน เปลี่ยนผู้ให้บริการพลังงาน และเพิ่มถังขยะรีไซเคิล
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้คำมั่นสัญญาสนับสนุนวาระทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก ตั้งแต่การรีไซเคิลพลาสติกในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ไปจนถึงการชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้ทั่วโลก
แม้ตอนนี้ ยังคงเป็นเกมที่ต้องรอดูว่าอุตสาหกรรมวิดีโอเกมจะพลิกโฉมอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีแล้วที่บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งกำลังต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตระหนักถึงปัญหา และมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตเกมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อ้างอิง: earth.org, exploding topics