‘ปากีสถาน’ นำเข้า ‘โซลาร์เซลล์’ มากที่สุด เหตุประชาชนเบื่อไฟดับบ่อย

‘ปากีสถาน’ นำเข้า ‘โซลาร์เซลล์’ มากที่สุด เหตุประชาชนเบื่อไฟดับบ่อย

“ปากีสถาน” นำเข้า “แผงโซลาร์เซลล์” มากกว่าประเทศอื่น ๆ แม้จะไม่มีนโยบายสนับสนุนพลังงานสีเขียว แต่เป็นเพราะประชาชนเบื่อปัญหาไฟดับ

KEY

POINTS

  • ในปี 2

ในปี 2024 “ปากีสถาน” นำเข้า “แผงโซลาร์เซลล์” มากกว่าประเทศอื่น ๆ เกือบทั้งหมดในโลก แม้จะไม่มีนโยบายสนับสนุนพลังงานสีเขียว ไม่ได้ประกาศลงทุนระดับขนาดใหญ่ และไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม แต่เป็นเพราะประชาชนเบื่อปัญหาไฟดับ

ตามรายงาน Global Electricity Review 2025 ของ Ember ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยด้านพลังงานในสหราชอาณาจักร พบว่า ในปี 2024 ปากีสถานนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ 17 กิกะวัตต์ในปีที่แล้วเพียงปีเดียว เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2023 ทำให้ปากีสถานเป็นหนึ่งในผู้ซื้อแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดของโลก

ความต้องการแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มาจาก ภาคประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กที่เบื่อจากปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้งและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้หันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ถือเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกกว่า ยั่งยืน และเชื่อถือได้มากกว่า โดยรายงานของ Ember ระบุว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือนและธุรกิจในประเทศพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากเป็น “วิธีการเข้าถึงพลังงานต้นทุนต่ำ”

มูฮัมหมัด มุสตาฟา อัมจาด ผู้อำนวยการโครงการของ Renewables First บอกกับ The Independent ว่าการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ในปากีสถานถือว่าเป็น “การตอบสนองเพื่อความอยู่รอด” หลังจากที่ประชาชนและธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการวางแผนที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่น่าเชื่อถือ

การนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของปากีสถานในปีงบประมาณ 2024 เพียงปีเดียว คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานสูงสุดของประเทศ

“แผงโซลาร์บนหลังคากลายเป็นแหล่งพลังงานที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นโครงข่ายไฟฟ้าจะต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้ยังคงมีความสำคัญในเศรษฐกิจพลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” อัมจาดกล่าว

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในปากีสถาน เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนของประชาชนเป็นหลัก แทนที่จะรอการปฏิรูปประเทศ ชาวปากีสถานจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาใช้โดยตรง มักจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนหรือการวางแผนจากส่วนกลางมากนัก 

ดังนั้น การเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ของปากีสถานค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ในโลก เพราะในหลายประเทศแล้ว การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้มักเป็นผลมาจากนโยบายด้านสภาพอากาศ หรือการจัดหาเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ในทางกลับกันการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ของปากีสถาน ดูเหมือนจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่ได้มาจากนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า รัฐบาลแทบไม่มีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของปากีสถานเลย แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะอนุมัติให้มีการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (Net Metering) และผ่อนปรนข้อจำกัดการนำเข้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีโครงการสาธารณะที่สำคัญ หรือการประมูลพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สอดคล้องกับอัตราการนำไปใช้ในระดับครัวเรือนเชิงพาณิชย์

ถึงปากีสถานจะนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ในปริมาณมหาศาล แต่กำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่เชื่อมต่อกับกริดอย่างเป็นทางการของปากีสถานยังคงต่ำกว่ามาก ซึ่งบ่งชี้ว่าแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากทำงานนอกกริด ไม่รวมอยู่ในสถิติไฟฟ้าของประเทศ ผู้ให้บริการระบบส่งไฟฟ้าและบริษัทสาธารณูปโภคกำลังปรับตัวให้อยู่รอด โดยเฉพาะในเขตเมืองที่กลุ่มลูกค้ามีเงินเริ่มหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น และใช้ระบบส่งไฟฟ้าเป็นเพียงแหล่งสำรองเท่านั้น

วงจรแห่งความตายของสาธารณูปโภค” สามารถทำลายความมั่นคงทางการเงินของผู้ให้บริการพลังงานสาธารณะได้ ขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันใหม่ให้แก่โครงสร้างพื้นฐานในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด โดยการวิเคราะห์ Ember เตือนว่าจำเป็นต้องมีการวางแผนและสร้างกฎระเบียบควบคู่ไปกับการปรับใช้นี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านจะยั่งยืนและจัดการได้

นอกจากพลังงานแสดงอาทิตย์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปากีสถานแล้ว พลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ ทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวลต่างก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่พลังงานแสงอาทิตย์ก็คงเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากสามารถติดตั้งได้ง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก และมีข้อผูกมัดทางราชการน้อยที่สุด

ตัวเลขการนำเข้าโซลาร์เซลล์ในปี 2024 สะท้อนให้เห็นความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังบ่งบอกถึงต้นทุนของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าที่ผลิตในจีน ซึ่งครองห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ลดต่ำลง ประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงในท้องถิ่นที่ผันผวนและการขาดแคลนพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในโซลูชันพลังงานที่คุ้มทุนที่สุดในปากีสถานสำหรับปัจจุบัน แม้ปากีสถานจะมีการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจเสี่ยงที่จะสูญเสียประโยชน์ในระยะยาว หากไม่มีวิธีจัดการ การกำกับดูแลคุณภาพระบบ การใช้งานระบบจัดเก็บ และการลงทุนในการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย 

อย่างไรก็ตาม ปากีสถานก็แสดงให้เห็นว่าการใช้พลังงานสะอาด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศร่ำรวยหรือเศรษฐกิจที่มีการปล่อยมลพิษสูงเสมอไป หากประชาชนมีความต้องการและตามความจำเป็น

นอกจากนี้ ถึงสถานการณ์ด้านพลังงานในปากีสถานอาจจะดูยุ่งเหยิงและไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็มีความสำคัญในระดับโลก โดยให้แนวทาง หรืออย่างน้อยก็เป็นข้อเสนอแนะว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะมีลักษณะอย่างไรในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา

“สำหรับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา นี่เป็นรูปแบบทางเลือกในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากล่างขึ้นบน ขับเคลื่อนโดยประชาชน และขับเคลื่อนโดยตลาด ซึ่งให้การเข้าถึงพลังงานสะอาดและราคาไม่แพงได้อย่างปลอดภัย กระจาย และประชาธิปไตย” อัมจาดกล่าว

อัมจาดกล่าวเสริมว่าการจัดเก็บด้วยแบตเตอรี่มีแนวโน้มที่จะดำเนินตามวิถีเดียวกับพลังงานแสงอาทิตย์ นั่นคือราคาถูก แยกส่วนได้ และนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์กลาง โดยการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศกำลังพัฒนาจะเร็วกว่าเดิมอย่างแน่นอน เนื่องจากความผันผวนของเชื้อเพลิงนำเข้า จะเป็นตัวส่งเสริมการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน

ฮาจีต สิงห์ ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของ Fossil Fuel Non-Proliferation Treaty Initiative กล่าวว่า ปากีสถานแสดงให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกทางเศรษฐกิจที่ทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโลกที่กำลังพัฒนา ต้องเผชิญกับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผันผวน ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น และโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจต่างหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 

ดังนั้นการใช้โซลาร์เซลล์จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงพลังงาน การขับเคลื่อนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตั้งแต่รากฐาน


ที่มา: Bloom PakistanCarbon BriefIndependent