บุก "ยึดทรัพย์" 100 ล้าน หลอกลงทุน "คริปโต" ผู้เสียหายกว่า 300 ราย
ตร.ไซเบอร์ - ปปง. บุก "ยึดทรัพย์" รถหรู-บ้านที่ดิน และอายัดบัญชีกว่า 100 ล้านบาท CEO หลอกลงทุนคริปโตฯ ผู้เสียหายกว่า 300 ราย สูญเงิน 300 กว่าล้านบาท พบยังไม่เดินทางออกนอกประเทศเร่งติดตามตัว
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65 จากการที่มีผู้เสียหาย ทยอยนำหลักฐานเข้าแจ้งความที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 5 เชียงใหม่ หรือดีเอสไอ หลังพบการหลอกคนลงทุนแชร์ลูกโซ่ มูลค่าความเสียหายนับ 100 ล้านบาท คาดมีผู้เสียหายตั้งแต่หลักแสนจนถึงหลักล้านบาท จากนักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สกุลเงินดิจิทัล และเป็นผู้ชักชวนให้คนเข้ามาลงทุน โดยมีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อเปิดรับสมัครสมาชิกเข้ามาลงทุนในคริปโตฯ ซึ่งช่วงแรกมีการจ่ายเงินปันผลตามที่ตกลงไว้ แต่สุดท้ายประสบปัญหาไม่ได้เงินปันผล
ล่าสุด มีรายงานว่า พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. สั่งการให้พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท.1 พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3 นำกำลังชุดสืบสวนบช.สอท.สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ปปง.เข้าตรวจยึดทรัพย์สินของนายกิติกร (สงวนนามสกุล) ซีอีโอ บริษัท ประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับ การลงทุนคริปโตฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
เบื้องต้นตรวจยึดรถยนต์หรู 5 คัน ประกอบไปด้วย ยี่ห้อปอร์เช่ , ลัมโบกินี , บีเอ็มดับบลิว เฟอร์รารี่ เบนท์ลีย์, นาฬิกาหรู , บ้าน , ที่ดิน เเละอายัดบัญชีกว่า 10 บัญชี รวมเป็นเงิน 101 ล้านบาท ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ไม่พบนายกิติกร และผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในบ้านดังกล่าว
พล.ต.ต.รณชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่พบการร้องเรียนถึงการลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ ว่าเข้าข่ายลักษณะความผิด และมีผู้เสียหายจำนวนมาก จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และความผิดตามพรก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำมาสู่การยึดทรัพย์สินต่างๆเพื่อตรวจสอบ
ทั้งนี้จากแนวทางสืบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2562 โดยมีนายกิติกร จดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้ทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ประกอบกิจการบริการรับจ้างออกเเบบพัฒนาเว็บไซต์ รับจดทะเบียนชื่อโดเมน มีหุ้นส่วนด้วยกัน 3 คน ประกอบไปด้วยนายกิติกร เเฟนสาว และพี่ชาย
ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย.2565 มีการเเปรสภาพ จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็น บริษัท ทุนจดทะเบียนเท่าเดิม เเต่มีวัตถุประสงค์การจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น คือ บริการเช่าพื้นที่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจเป็นนายกิติกร ส่วนอีก2 คนเป็นหุ้นส่วน
ต่อมามีการเปิดลงทุน โดยนายกิติกร อาศัยจังหวะที่ตนเองมีความรู้ด้านบิตคอยน์ ขุดเหมือง ขุดเงินคริปโตเคอร์เรนซี สกุลเงินต่างๆ หลังจากนั้นได้ระดมคนที่รู้จัก คุ้นเคย หรือ คนที่อยู่ในกลุ่มการลงทุนให้มาร่วมลงทุนด้วย ตามโปรเเกรมที่ตัวเขาวางไว้ให้ มีกว่า 10 โปรเเกรม ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งหมด เเละเเต่ละโปรเเกรมไม่เหมือนกัน และจะได้ผลตอบแทนที่ต่างกัน
ผบก.สอท.1 ระบุอีกว่า ขบวนการนี้จะสร้างภาพ ให้ตัวเองมีความเป็นนักธุรกิจ เป็นที่สังคมยอมรับ เเสดงตัวเป็นผู้ร่ำรวย โชว์เงินทอง สิ่งของต่างๆเเบรนด์เนม ว่ามีได้เพราะประกอบธุรกิจนี้ รวมถึงมีการบริจาคหลายๆอย่างให้หน่วยงานรัฐด้วย ทำให้ผู้คนเกิดความศรัทธาเเละมั่นใจในตัวของ นายกิติกร ว่าธุรกิจที่ทำมาร่ำรวยจริง ๆ ถ้าอยากจะรวยมาคุยกัน มีเเนวทางทำธุรกิจให้ เมื่อมีคนสนใจลงทุน นายกิติกร ก็จะชวนให้ลงทุน
อย่างไรก็ตามจากการสืบสวนของตำรวจ สอท. ทราบว่า ตั้งเเต่วันที่ 1 ม.ค.2565 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียหายลงทุนค่อนข้างเยอะ บางคนลงทุนคนเดียวถึง 54 ล้านบาท ขณะนี้มีผู้เสียหายในระบบจำนวน 380 คน มูลค่าความเสียหาย 300 กว่าล้านบาท
ล่าสุด มีรายงานว่าจากแนวทางสืบสวนยังไม่พบว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 คนมีการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี