อยากเปิด "ร้านขายของชำ" ต้องเสียภาษีจริงไหม มีเงื่อนไขอย่างไร
เปิด "ร้านขายของชำ" ต้องเข้าใจเรื่อง "ภาษี" แม้จะเป็นร้านเล็กๆ ก็อย่าวางใจ! หากวางแผนการเงินไม่รอบคอบพอ ดีไม่ดี อาจต้องเสียภาษีย้อนหลังมหาศาลเมื่อถูกตรวจสอบพบ
ต้องยอมรับว่าอาชีพ ร้านขายของชำ ตามตรอกซอกซอย หรือตามหมู่บ้านต่างๆ แม้ว่าจะมีให้เราเห็นกันมาเนิ่นนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่ค่อยมีร้านไหนให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ภาษี” มากนัก ซึ่งตามหลักการแล้วเมื่อมีรายได้ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แม้ว่าผู้มีรายได้จะเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านขายของชำเล็กๆ ไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทก็ตาม เมื่อมีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์กำหนด ก็จำเป็นต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ส่วนใหญ่ร้านขายของชำจะไม่ค่อยทราบข้อมูลเรื่องภาษี หรือหลายๆ รายก็ไม่ได้สนใจเรื่องรายได้ที่เข้ามา ไม่ได้มีการทำ รายรับ-รายจ่าย ไว้จึงไม่สามารถคำนวณได้ว่าตนเองถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีแล้วหรือไม่ จึงอาจทำให้ต้องเสียภาษีย้อนหลังมหาศาลเมื่อถูกตรวจสอบพบ
โดยกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้จากหลายวิธี เช่น สุ่มลงพื้นที่ตรวจ การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐ
ดังนั้น บุคคลธรรมดาที่ เปิดร้านขายของชำ ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ควรศึกษาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภาษีไว้ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อวันที่ต้องเสียภาษีมาถึง ดังนี้
- คนทั่วไปเปิดร้านขายของชำ รายได้เท่าไรต้องเสียภาษี
ตามกฎหมายกำหนดว่า เมื่อผู้มีรายได้มีรายได้ที่ไม่ใช่เงินค่าจ้างหรือเงินเดือน มีเฉพาะเงินประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของ หากเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษี แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ทว่ารายได้สุทธิหลังจากหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษี
โดยการเสียภาษีจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
1.หักแบบเหมา
หักแบบเหมา เป็นการเลือกหักต้นทุน 60% วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษี และไม่ต้องเก็บเอกสารประกอบเพื่อใช้ยื่นภาษี เพราะไม่ต้องพิสูจน์รายได้ ซึ่งเหมาะกับเจ้าของร้านขายของชำที่มีอัตรากำไรสูงถึง 40%
2.หักค่าใช้จ่ายตามจริง
แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะเหมาะ กับเจ้าของร้านขายของชำที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% โดยจะต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายและกำไรทุกเดือน และนำไปสรุปยอดสินปี เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณยื่นภาษี และต้องเก็บเอกสารทุกใบให้ครบเพื่อยื่นภาษีด้วย
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีร้านขายของชำไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องมีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเจ้าของร้านขายของชำต้องทำรายรับ-รายจ่ายตลอดทั้งปี แล้วนำไปยื่นกรมสรรพากร มาตรา 40(8) โดยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามสูตร คือ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน)
x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย
จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีก้าวหน้าตั้งแต่ 5 - 35% และยื่นเสียภาษี 2 ช่วง ดังนี้
- ครั้งแรก ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ช่วงเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน
- ครั้งที่ 2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ตลอดทั้งปี (เดือนมกราคม - ธันวาคม) แล้วนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับร้านขายของชำที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และนำยอดขายในแต่ละเดือนภาษียื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากยื่นออนไลน์สามารถยื่นได้อีก 8 วัน คือภายในวันที่ 23 ของทุกเดือน
- จดทะเบียนพาณิชย์
ทะเบียนพาณิชย์ เป็นการจดทะเบียนร้านค้าสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจค้าขายประเภทตามที่กฎหมายกำหนด และมีหน้าร้าน ซึ่งใช้กับธุรกิจค้าขายและบริการขนาดเล็ก กิจการที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว ทำการค้าขายแบบง่ายไม่ซับซ้อน ทั้งการค้าขายแบบทั่วไปและการขายออนไลน์
ดังนั้น ร้านขายของชำ จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เนื่องจากตามกฎหมายได้กำหนดว่า ธุรกิจขายสินค้าอย่างเดียวหรือหลายอย่างที่ขายได้ 20 บาทขึ้นไปต่อวัน หรือมีสต็อกสินค้าไว้ขายรวมมูลค่าทั้งหมดเป็นเงิน 500 บาทขึ้นไป จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เริ่มเปิดธุรกิจ
และหากร้านขายของชำขายสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา ยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นการขายส่งหรือขายปลีก จะต้องยื่นขอใบอนุญาตและเสียภาษีที่กรมสรรพาสามิตด้วย
- หลักการทำบัญชีทั่วไปสำหรับร้านขายของชำบุคคลธรรมดา
เจ้าของร้านขายของชำที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีต้นทุนสูงและกำไรน้อยกว่า 40% แนะนำให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งสิ่งที่ต้องทำตามมาคือการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และเก็บเอกสารทางบัญชีไว้ให้ครบ ซึ่งวิธีการทำบัญชีแบบทั่วไปมีดังนี้
- รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับร้านของตนเอง ให้ขอบิลไว้ทุกครั้ง และเก็บใบเสร็จ บิลต่างๆ ให้ครบ เช่น บิลซื้อสินค้าที่นำมาขาย บิลจากรถส่งของ
- จดต้นทุนไว้ทุกอย่างในแต่ละวัน แล้วลงบันทึกในตารางรายรับ-รายจ่ายทุกครั้ง
- จดยอดขายและสรุปกำไรไว้ในทุกๆ วัน เพื่อนำไปรวบรวมเป็นรายได้ในแต่ละเดือน
สรุป
ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่ร้านขายของชำที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และที่ไม่เคยยื่นภาษีเลย รวมถึงเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ต้องหันมาใส่ใจเรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำให้ทราบยอดรายได้ที่แท้จริง เพื่อยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่หลีกเลี่ยงภาษี และจะทำให้ทราบว่ารายได้กำลังจะเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือยัง ถึงเวลาต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
ทว่าหากร้านขายของชำมีกำไรมากกว่า 60% ให้เลือกหักแบบเหมา ก็ไม่จำเป็นต้องทำรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษีได้ ส่วนร้านขายของชำที่มีต้นทุนสูง กำไรน้อยกว่า 40% ให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยเก็บเอกสารทุกใบไว้ให้ครบ ไปยื่นด้วยตนเองที่กรมสรรพากร หรือยื่นออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร rd.go.th
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่