สรุปปมฉาว Adani Group ของมหาเศรษฐีอินเดีย ที่นำไปสู่ศึกชอร์ตหุ้นครั้งใหญ่

สรุปปมฉาว Adani Group ของมหาเศรษฐีอินเดีย ที่นำไปสู่ศึกชอร์ตหุ้นครั้งใหญ่

"ฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช" ขายชอร์ตหุ้นของบริษัทในเครืออดานิกรุ๊ป เพื่อยืนยันสมมุติฐานว่ามีการทุจริตภายในบริษัทฯ หวังให้เกิดการตรวจสอบและกระทบ Sentiment นักลงทุน และขายชอร์ตหุ้นภายหลัง นักวิเคราะห์เสียงแตก บ้างเห็นว่าสำเร็จ บ้างมองว่าอดานิมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลหนุน

Key Points:

  • ฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ขายชอร์ตหุ้นบริษัทในเครืออดานิกรุ๊ป เพื่อยืนยันสมมุติฐานว่า โกตัม อดานิ เจ้าของบริษัทฯ กระทำการทุจริตโดยการใช้เงินของบริษัท
  • นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังคงตั้งคำถามถึงอำนาจการต่อรองของแอนเดอร์สันที่อาจน้อยกว่าอดานิ รวมทั้งสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเขากับนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ท้ายที่สุดภารกิจของแอนเดอร์สันอาจไม่สำเร็จ
  • เรื่องนี้ยังต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย เพราะหากตลาดเชื่อข้อมูลของ ฮินเดนเบิร์ก อาจทำให้ภาพรวมตลาดหุ้นอินเดียร่วงหนัก

ไม่กี่วันที่ผ่านมาชื่อของ ‘โกตัม อดานิ’ มหาเศรษฐีที่ขึ้นชื่อว่ารวยที่สุดในเอเชียด้วยมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิกว่า 1.134 แสนล้านบาท เป็นชื่อที่บรรดานักวิเคราะห์และสำนักข่าวต่างพูดถึงอย่างล้นหลาม 

ทว่าการพูดถึงครั้งนี้ไม่ได้เป็นการพูดถึงในด้านที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะชื่อของมหาเศรษฐีผู้นี้มาพร้อมกับ ‘นาธาน แอนเดอร์สัน’ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช บริษัทวิจัยและลงทุนสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงมาจากการขายชอร์ตหุ้น (ชอร์ตเซล) เพื่อทดสอบสมมุติฐานว่าบริษัทที่เขาเข้าไปกระทำการดังกล่าวนั้นมีการทุจริตเกิดขึ้นภายในองค์กร

แม้แอนเดอร์สันจะก่อตั้งบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช มายังไม่ถึง 5 ปี และสำนักข่าวบลูมเบิร์กก็จำกัดความ 'แอนเดอร์สัน' ว่าไม่ใช่นักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ ‘บิ๊กเนม’ มากมาย แต่หากย้อนกลับไปในปี 2563 บริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช เคยตั้งเป้าขายชอร์ตหุ้นบริษัทที่เขามองว่ามีการทุจริตภายในองค์กรกว่า 30 บริษัท หลังจากกระบวนการขายชอร์ตหุ้นดังกล่าวสำเร็จ ในวันถัดมา หุ้นของบริษัทเหล่านั้นร่วงลงกว่า 15% และ 26% หลังจากผ่านไป 6 เดือน

บริษัทเหล่านั้นประกอบด้วย SCWorx, Genius Brand, Ideanomics, Mullen Automotive, Pharma Cielo, J2 Global, Draftkings, Establishment Labs, New Pacific Metals, Grow Generation, Sorrento Therapeutics และล่าสุดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ขายชอร์ตหุ้นของบริษัท นิโคลา คอร์ป สตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ประกาศตัวจะผลิตรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน ได้สำเร็จ จนคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ

การกล่าวหาบริษัทของผู้ที่รวยที่สุดในเอเชีย

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า ‘ชื่อเสียง’ และ ‘ความสำเร็จ’ ในการขายชอร์ตหุ้นที่ผ่านมาของแอนเดอร์สันอาจไม่การันตีภารกิจขายชอร์ตหุ้นของเขาในครั้งนี้ที่บริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ของเขา เดินหน้ากล่าวหากลุ่มบริษัทในเครือ อดานิ กรุ๊ป ว่ามีการทุจริตภายในองค์กร ผ่านรายงานซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวมีกลุ่มธุรกิจที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจในหมู่เกาะแคริบเบียน ในประเทศมอริเชียส ซึ่งอยู่บริเวณแอฟริกาตะวันออก หรือในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

รายงานดังกล่าวระบุว่าอดานิ มักใช้กลุ่มธุรกิจในสถานที่เหล่านี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทุจริต ฟอกเงิน ทุจริตทางภาษี ผ่านการรับเงินจากกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในเครืออดานิกรุ๊ป

“โครงสร้างของ อดานิ กรุ๊ป ค่อนข้างไม่มีการขยับตัว อัตราการเติบโตต่ำ มีบริษัทในพอร์ตไม่หลากหลาย แต่เพราะเหตุใดมูลค่าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของเครืออดานิ กรุ๊ป ถึงโตเทียบเท่ากับบริษัทเทคโนโลยีลำดับต้นๆ ของโลก มากไปกว่านั้น เมื่อเทียบอุตสหกรรมใกล้เคียง อัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านั้นยังลดลงเกือบ 85% จากฐานกราฟ” รายงานระบุ

ทว่าด้วยความสัมพันธ์อันแนบชิดของอดานิ กับ นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกอบกับเป้าหมายและความต้องการของทั้งสองที่สอดคล้องกันทำให้นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าแอนเดอร์สันและบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช อาจไม่ประสบความสำเร็จในการขายชอร์ตหุ้นครั้งนี้

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า อดานิพยายามอย่างสุดความสามารถในการหลบหลีกข่าวเชิงลบและการถูกตรวจเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดีย บ้านเกิดของเขา เนื่องจากอดานิมักถูกประชาชนวิจารณ์เรื่องระดับหนี้ที่สูงและถูกนิยามว่าเป็น ‘ขวากหนาม’ทางการเมืองของผู้มีอิทธิพลบางกลุ่ม เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีดับนายกรัฐมนตรี

ดีปัค เชอนอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ แคปปิตอลมายด์ บริษัทบริหารความมั่งคั่งในเบงกาลูรู เมืองทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย กล่าวในประเด็นดังกล่าวว่า “แม้ว่าคุณจะพยายามหลีกหนีการตรวจสอบอย่างไร แต่ถ้าคุณรวย คุณต้องยอมรับการที่ประชาชนจะตั้งคำถามกับที่มาของความรวยนั้น มันคือความจริงของชีวิต”

เปิดอาณาจักร ‘อดานิกรุ๊ป’ ของมหาเศรษฐีผู้รวยที่สุดในเอเชีย

โกตัม อดานิ มหาเศรษฐีสัญชาติอินเดีย วัย 59 ปี ได้รับขนานนามจาก ฟอบส์ นิตยสารทางการเงิน ว่าเป็นผู้ที่รวยที่สุดในเอเชีย และรวยในลำดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิ 1.14 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งความมั่งคั่งของเขาเป็นรองเพียง เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของสินค้าฟุ้มเฟือยหลายแบรนด์ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสล่า และเจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่

ด้านการศึกษา อดานิเรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคุชราต ประเทศอินเดีย และตัดสินใจหยุดพักการเรียนลงขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 เพื่อไปเริ่มงานในฐานะพนักงานคัดแยกเพชรของบริษัทมาเฮนดรา บราเดอร์ ไม่กี่ปีต่อมาอดานิตั้งบริษัทนายหน้าซื้อขายเพชร ณ ห้างซาเวอรี บาซาร์ ณ นครมุมไบ

ต่อมาในปี 2524 มันซุคไฮ อดานิ พี่ชาย เข้าซื้อกิจการโรงงานพลาสติก และชวนให้เขากลับไปช่วยบริหารโรงงาน ซึ่งการชักชวนครั้งนั้นเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ให้โกตัม อดานิ เริ่มเข้าสู่ภาคธุรกิจจนนำไปสู่การมาถึงของ ‘อดานิ กรุ๊ป’ บริษัทโฮลดิ้ง ที่เข้าไปถือหุ้นกิจการต่างๆ ตั้งแต่ กิจการท่าเรือ ขนส่งโลจิสติกส์ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ เทคโนโลยีอวกาศไปจนถึงพลังงานสะอาด

สรุปปมฉาว Adani Group ของมหาเศรษฐีอินเดีย ที่นำไปสู่ศึกชอร์ตหุ้นครั้งใหญ่

เว็บไซต์ อินเวสติงดอทคอม ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจในเครืออดานิ กรุ๊ป ประกอบด้วย

1. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd (APSE)

2. Adani Transmission Ltd (ADAI)

3. Adani Enterprises Ltd (ADEL)

4. Adani Green Energy Ltd (ADNA)

5. Adani Total Gas Ltd (ADAG)

6. Adani Power Ltd (ADAN)

7. Adani Wilmar Ltd (ADAW)

8. Adani Wilmar Ltd (ADAW)

9. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd APSE 9.35 27-May-2026 (INAPSE2726=)

10. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd APSE 9.35 26-May-2023 (INAPSE2623=)

11. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd APSE 9.35 04-Jul-2026 (INAPSE0426=)

12. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd APSE 8.24 27-Nov-2026 (INAPSE2726A=)

13. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd APSE 7.65 30-Oct-2027 (INAPSE3027=)

14. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd APSE 10.5 02-Mar-2023 (INAPSE0223=)

15. Adani Agro Pvt Ltd ADAGR 10 05-Oct-2022 (INADAGR0522=)

16. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd Future - Feb 23

17. Adani Enterprises Ltd Future - Feb 23

18. Adani Ports and Special Economic Zone Ltd (APSE)

19. Adani Transmission Ltd (ADAI)

20. Adani Green Energy Ltd (ADNA)

21. Adani Total Gas Ltd (ADAG)

22. Adani Enterprises Ltd (ADEL)

23. Adani Power Ltd (ADAN)

24. Adani Wilmar Ltd (ADAW)

ย้อนประวัติ ‘นาธาน แอนเดอร์สัน’ ผู้อยู่เบื้องหลังการขายชอร์ตหุ้นอาณาจักร ‘อดานิ กรุ๊ป’

หากย้อนกลับไปในอดีต แอนเดอร์สันเติบโตขึ้นในเมืองเล็กๆ ในมลรัฐคอนเนทิคัต ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และเรียนจบด้วยดีกรีด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยคอนเนทิคัต

ต่อมา เขาใช้เวลาช่วงหนึ่งทำงานเป็นพนักงานทางการแพทย์ พร้อมกับเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฮีบรู ประเทศอิสราเอล หลังจากเรียนจบเขาทำงานเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงิน ก่อนที่จะรับงานตรวจสอบดีลทางธุรกิจที่มีศักยภาพให้เหล่าเศรษฐี โดยแอนเดอร์สันเคยกล่าวว่าแพสชันของเขาคือ ‘ค้นหากลโกง’

สรุปปมฉาว Adani Group ของมหาเศรษฐีอินเดีย ที่นำไปสู่ศึกชอร์ตหุ้นครั้งใหญ่

ช่วงแรกของการทำงาน แอนเดอร์สันใช้เวลาหลายปีในการตรวจสอบ ‘พอนไซ สกีม’ หรือ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ผิดกฎหมายที่หลอกลวงให้คนสนใจร่วมลงทุน ผ่านการให้ผลตอบแทนจำนวนมาก

จากนั้นจึงได้สร้างทีมกับ แฮร์รี มาร์โคโปลอส นักบัญชีทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการนำวิธีการทางบัญชีมาสรุปเป็นหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ทางกฎหมาย

ทั้งนี้ มาร์โคโปลอส คือบุคคลที่พยายามเตือนหน่วยงานรัฐบาลกลางเกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่อื้อฉาวของ เบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ ในช่วงปี 2552 ซึ่งจากเหตุการณ์นั้น แอนเดอร์สันยกย่องมาร์โคโปลอสว่าเป็นบุคคลต้นแบบ

ราวปี 2557 แอนเดอร์สันเริ่มยื่นคำร้องเกี่ยวกับการทุจริตภายในบริษัทต่างๆ จากผู้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหวังเงินรางวัล การแจ้งเบาะแสครั้งสำคัญของแอนเดอร์สันกับมาร์โคโปลอส คือการตรวจสอบ ‘เฮดจ์ฟันด์แพลทินัมพาร์ทเนอร์’ จนกระทั่งผู้บริหารกองทุนดังกล่าว 7 คนถูกตั้งข้อหาว่ากระทำการทุจริต

ปัจจุบันบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช มีพนักงานราว 10 คน ประกอบด้วยนักข่าวและนักวิเคราะห์ ซึ่งในบางครั้งเฮดจ์ฟันด์จำนวนหนึ่งก็ตัดสินเข้าเทรดร่วมกับบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ด้วย

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า แม้บริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช จะไม่สามารถเอาชนะอดานิได้ จากอัตราการต่อรองของมหาเศรษฐีคนดังกล่าวที่มีมากกว่า แต่แอนเดอร์สันก็ยังมีงานอีกมากมายรอให้เขาตรวจสอบ

การขายชอร์ตหุ้นคืออะไร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ให้ข้อมูลว่าการขายชอร์ตหุ้น คือการที่นักลงทุนประเมินว่าหุ้นตัวหนึ่งๆ อาจมีการปรับตัวลงในอนาคต ด้วยปัจจัยบางอย่าง ดังนั้นนักลงทุนจึงไปยืมหุ้นบริษัทนั้นจากโบรกเกอร์ที่ให้บริการยืมและขอยืมหุ้นเพื่อนำไปขายชอร์ต (SBL) มาขายออกไปก่อน โดยที่นักลงทุนไม่มีหุ้นบริษัทนั้นอยู่ในพอร์ตจริง

หลังจากนั้นหากราคาหุ้นตัวดังกล่าวปรับตัวลงเหมือนกับที่นักลงทุนประเมินไว้ในตอนแรก นักลงทุนผู้นั้นก็จะเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทข้างต้นในกระดานเพื่อมาคืนโบรกเกอร์ (ในราคาที่ต่ำกว่าตอนที่ยืมจากโบรกเกอร์) ซึ่งกำไรที่ได้คือส่วนต่างระหว่าง ‘ราคาหุ้นที่นักลงทุนไปยืมหุ้นจากโบรกเกอร์แล้วทำการขาย’ กับ ‘ราคาที่ซื้อคืน’

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันราคาหุ้นในบริษัทเครืออดานิ กรุ๊ป มีราคาอยู่ที่ 100 บาท จากนั้นบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของบริษัทดังกล่าวออกมา และคาดการณ์ว่าราคาหุ้นของบริษัทในเครืออดานิกรุ๊ป จะปรับลดลงเนื่องจาก Sentiment เชิงลบของนักลงทุน

ต่อมา แอนเดอร์สันจึงไปยืมหุ้นบริษัทดังกล่าวจากโบรกเกอร์แล้วขายในราคา 100 บาท จากนั้นหุ้นบริษัทในเครืออดานิ กรุ๊ป ปรับลดลงไปที่ระดับ 50 บาท ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยรายงานข้างต้น แอนเดอร์สันจึงไปซื้อหุ้นของกลุ่มบริษัทดังกล่าวกลับคืนที่ราคา 50 บาท เพื่อนำไปคืนให้โบรกเกอร์

ในเหตุการณ์สมมุตินี้ แอนเดอร์สันจะได้กำไรก่อนหักต้นทุน 50 บาท คือมาจากราคาขายหุ้นที่ยืมมาในตอนแรก 100 บาท – ราคาซื้อกลับคืน 50 บาท นั้นเอง

ในทางตรงข้าม หากแอนเดอร์สันคาดการณ์ผิดพลาด รายงานดังกล่าวไม่สร้าง Sentiment เชิงลบให้นักลงทุน นั่นคือ ราคาหุ้นของบริษัทในเครืออดานิ กรุ๊ป กลับปรับขึ้นไปที่ระดับ 110 บาท แสดงว่าแอนเดอร์สันต้องซื้อหุ้นกลับคืนที่ราคา 110 บาท ทำให้เกิดผลขาดทุน 10 บาท ( ราคาขาย 100 บาท – ราคาซื้อกลับคืน 110 บาท) เป็นต้น

ทว่าหากราคาไม่ขึ้นหรือลง แอนเดอร์สันก็ซื้อหุ้นคืนในราคาเดิม

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขายชอร์ตหุ้นครั้งนี้

แม้ความเห็นในการปะทะระหว่างบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช กับกลุ่มบริษัทในเครือ อดานิ กรุ๊ป จะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ เห็นว่าแอนเดอร์สันอาจไม่ประสบความสำเร็จในการปะทะครั้งนี้และอาจขาดทุนจากการขายชอร์ตหุ้น เนื่องจากอดานิมีความสัมพันธ์อันดีกับนายกรัฐมนตรีของอินเดีย

บุคคลหนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้คือ ชาร์มิลา โกปินาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาทางการเงิน ของสมาคม เอเชียน คอร์ปอเรท โกฟเวอร์แนนซ์ สัฐชาติอินเดีย

เธอระบุว่า “มีบุคคลที่มีอิทธิพลในอินเดียคอยอยู่เบื้องหลังความเป็นไปของอดานิ กรุ๊ป และการประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดนของโกตัม อดานิ และหลายครั้งฉันก็ผงะกับวิธีการที่อดานิทำเพื่อสร้างชื่อเสียงของตัวเองรวมทั้งวิธีการที่ทำให้บริษัทของเขาไม่ถูกตรวจสอบ”

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า แอนเดอร์สันและบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช รวบรวมข้อมูลมาอย่างละเอียด ถึงขนาดเข้าไปตรวจสอบว่าแต่ละบริษัทของในเครืออดานิ กรุ๊ปตั้งอยู่ที่ไหน มีพนักงานเท่าไหร่ และในรายงานของเขา ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมายังระบุว่าบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีให้บริษัทอดานิ กรุ๊ป บางบริษัทมีพนักงานไม่ถึง 10 คน ละผู้ตรวจสอบบัญชีในบริษัทดังกล่าวยังมีประสบการณ์ในการทำงานน้อย อีกทั้งยังอายุต่ำกว่า 27 ปีด้วย

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ระบุว่า แม้ข้อกล่าวหาของแอนเดอร์สันจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่หากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าวและเชื่อรายงานของบริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ทั้งหมดล้วนมีผลกับ Sentiment ของตลาดระดับหนึ่ง

หลังจากสำนักข่าวต่างๆ รายงานประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ตลาดหุ้นอินเดียในภาพรวมลบ 1.27%