OPEC+ ปรับลดการผลิตน้ำมัน จะเป็นชนวนให้เงินเฟ้อกลับมาอีกครั้งหรือไม่?

OPEC+ ปรับลดการผลิตน้ำมัน จะเป็นชนวนให้เงินเฟ้อกลับมาอีกครั้งหรือไม่?

จับตาทิศทางการลงทุนทั่วโลก หลังกลุ่ม OPEC+ ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมและจะลากยาวไปถึงสิ้นปี เพราะอาจเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลอย่างหนักว่า จะเป็นชนวนขาขึ้นรอบใหม่ของแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อ

ปี 2022 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่รัสเซียทำการเปิดฉากทำสงครามในยูเครนเป็นตัวกระตุ้น และยังถูกซ้ำเติมจากการที่ซาอุดีอาระเบียและสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่กับชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิด ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าค่าครองชีพพุ่งขึ้นทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวและมีความเสี่ยงที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานตัวเลขเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มมีการชะลอตัวลง เพิ่มความคาดหวังที่ ธนาคารกลางสหรัฐ จะผ่อนคลายความเข้มงวดของนโยบายการเงิน แต่แล้วความกังวล ปัญหาเงินเฟ้อ ก็เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจาก OPEC+ กลับมีการประกาศปรับลดกำลังการผลิตอีกครั้งหนึ่ง

การปรับลดการผลิตน้ำมันของ OPEC+

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ทางกลุ่ม OPEC+ ได้มีมติปรับลดกำลังการผลิตรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2022 ถึงสิ้นปี 2023 เพื่อดันราคาน้ำมันให้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากเห็นว่าปริมาณน้ำมันที่ลดลงจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันยิ่งสูงขึ้น จนกระทบต่ออัตรา เงินเฟ้อ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และกังวลว่าจะทำให้เป็นการเพิ่มรายได้ในการขายน้ำมันให้กับรัสเซียท่ามกลางสงครามในยูเครน ส่งผลให้สหรัฐจำเป็นต้องปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองฉุกเฉินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อกดดันราคาน้ำให้ต่ำลง โดยหลังจากที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดซาอุดีอาระเบียและสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่กับชาติพันธมิตร ได้มีการประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2023 ว่า ทางกลุ่มเห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเพิ่มอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไปและลากยาวไปจนถึงสิ้นปี และถือเป็นการปรับลดกำลังการผลิตรายวันมากที่สุดของ OPEC+ นับตั้งแต่การประกาศลดกำลังการผลิตลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว 

ทำไมถึงมีการปรับลดกำลังการผลิต?

ปัจจัยแรกคือ ความกังวลที่ว่าอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ในระดับอ่อนแอ กลุ่ม OPEC+ จึงต้องการให้ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวได้ในระดับสูง โดยซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า การลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจที่ 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มเติมจากการลดที่มีอยู่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้าที่มุ่งสนับสนุนเสถียรภาพของตลาด โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ราคาน้ำมันในช่วงเดือนมีนาคม ปรับตัวร่วงลงแตะ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

โดย นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า วิกฤตการณ์ธนาคารที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน และความกังวลต่อวิกฤตการณ์ธนาคารในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงความกังวลที่ เศรษฐกิจถดถอย จะเป็นสาเหตุในการลดความต้องการใช้น้ำมัน และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลง

โดยนักวิเคราะห์หลายราย ระบุว่า OPEC+ ต้องการจะพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ร่วงผ่านระดับ 80 ดอลลาร์ลงไป และนักวิเคราะห์ของหลายสถาบันก็คาดการณ์ว่า มาตรการของ OPEC+ จะหนุนราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้นสู่ 100 ดอลลาร์ เร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ และจะดันราคาไปที่ราว 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงราวกลางปีนี้ 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่กลุ่ม OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตคือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม OPEC+ กับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่ง OPEC+ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องของการปั่นราคาและเข้าข้างรัสเซีย แม้ว่าจะเกิดสงครามในยูเครนก็ตาม และการตัดสินใจล่าสุดของกลุ่ม OPEC+ ก็ได้รับเสียงคัดค้านจากสหรัฐที่ออกมาโต้แย้งว่า ทั่วโลกขณะนี้กำลังต้องการราคาน้ำมันในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสหรัฐต้องการราคาน้ำมันที่ไม่สูงมากนักเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียหารายได้เพิ่ม เพื่อเป็นทุนในสงครามยูเครน อีกทั้งกระทรวงพลังงานสหรัฐได้เคยกล่าวว่า จะทำการซื้อคืนน้ำมันดิบในตลาดเปิดเมื่อราคาถึง 67 ถึง 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เมื่อราคามีการปรับตัวลดลงไปถึงที่ช่วงระดับราคาที่กำหนดต้องทำการซื้อคืนจริง กระทรวงพลังงานกลับขยายระยะเวลาออกไป จึงทำให้ OPEC+ ทำการปรับลดการผลิต เพื่อพยุงราคาให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดของกลุ่ม OPEC+ จะลดลง 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 3.7% ของอุปสงค์ทั่วโลก ซึ่งการดำเนินการของ OPEC ที่ไม่ได้มีการคาดหมายมาก่อนในครั้งนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งพรวดกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือคิดเป็น 7% และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานขึ้นไปกว่า 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 3 เมษายน 2566)

นักเศรษฐศาสตร์จาก Bloomberg Economics กล่าวว่า หากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปถึงหรือสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลไปสู่การปรับตัวเพิ่มขึ้นเงินเฟ้ออีกครั้ง และกดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุม เงินเฟ้อ ดังเช่นที่ผ่านมา จากการตั้งสมมติฐานของ Bloomberg ระบุว่า หากราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8 ppt (part per thaosand) จะทำให้เงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาสที่ 4

ด้านนักวิเคราะห์ของ Goldman sachs คาดการณ์ว่า การปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC+ รวมกับการปรับลดการผลิตของรัสเซียที่ขยายเวลาออกไปนั้น ทำให้การคาดการณ์ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคมปีนี้จาก 90 ดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ และเป็น 100 ดอลลาร์จาก 95 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม 2024

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปอย่างจำกัด โดยราคาไปแตะระดับราว 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทรงตัวอยู่ที่ระดับนั้น สืบเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเริ่มบ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะ เศรษฐกิจถดถอย มากขึ้น และนั่นก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้งานน้ำมันโลกในอนาคต ซึ่งการคาดการณ์อุปสงค์ที่ชะลอตัวลงอาจทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแรงเหมือนที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ และหากเป็นเช่นนั้นจริงตัวเลขเงินเฟ้อที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงในช่วงหลังก็อาจจะไม่ได้กลับมาเร่งตัวขึ้น และนั่นก็หมายความว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้วเช่นกัน

ที่มา : Bloomberg, Reuters, Financial Time

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds