CBDC ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนทบทวน 'เงินดิจิทัล' ที่ ธปท. พัฒนามาตั้งแต่ปี 2561
"เงินดิจิทัล" ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย รู้หรือไม่? ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาพัฒนาเงินดิจิทัล CBDC ผ่านโครงการ “อินทนนท์” มาตั้งแต่ปี 2561 ย้อนทำความเข้าใจเงินดิจิทัลคืออะไร? ไทยคืบหน้าถึงไหนแล้ว
Key Points:
- รู้จัก "เงินดิจิทัล" ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ศึกษาพัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 และขณะนี้ก็ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง
- เงินดิจิทัล ไม่ใช่ คริปโทเคอร์เรนซี มีจุดแตกต่างคือ CBDC ถือเป็นเงินบาทในรูปดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ คือ 1 CBDC = 1 บาท และไม่สามารถนำมาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรได้ ส่วนคริปโทฯ ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงิน และมีความผันผวนสูง
- ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ retail CBDC และทดสอบการใช้งานในวงจำกัด โดยยังไม่มีแผนที่จะนำ Retail CBDC มาใช้จริงกับประชาชนในวงกว้าง
จากกรณีบางพรรคการเมืองชูประเด็นมอบ “เงินดิจิทัล” เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น นำมาซึ่งการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ โดยชาวเน็ตบางส่วนมองว่า เงินดิจิทัลถือเป็นเทคโนโลยีที่ไทยควรมีอย่างเร่งด่วน เพราะในต่างประเทศหลายประเทศ เริ่มทำอย่างจริงจังแล้ว เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น และไทยอาจช้าเกินไป
ขณะที่ชาวเน็ตอีกกลุ่มชี้ว่า ควรใจเย็นๆ ก่อน การที่พรรคเจ้าของนโยบายนี้ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ถูกผลักดัน และในความเป็นจริง ประเทศไทยมีการศึกษาพัฒนาระบบเงินดิจิทัลมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พัฒนาระบบ blockchain เช่น CBDC มาตั้งแต่ปี 2561
ทั้งนี้ ต้นเรื่องเกิดจากประเด็นข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน จากสำนักข่าว CNBC ที่รายงานว่า เกาหลีใต้จะเปิดตัว “เงินดิจิทัล CBDC” โดยความร่วมมือระหว่างซัมซุง (Samsung) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่กับธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อทำการวิจัยเชิงเทคนิคในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งจะสามารถทำงานในรูปแบบ “ออฟไลน์” ได้
โดยผู้ใช้งานจะสามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนโอนเงินหากันได้ ผ่านชิปของอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารระยะใกล้ (Near-field communication technology : NCF) เป็นตัวเชื่อมโยงระบบ ทั้งนี้บริษัทซัมซุงจะพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้สามารถปรับใช้กับ CBDC ได้ภายในช่วงปลายปี 2566 นี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานชำระเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต ..นี่จึงเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่หลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยต้องจับตามอง
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองก็มีการศึกษาพัฒนา “เงินดิจิทัล CBDC” มาสักพักแล้วเช่นกัน แต่คนไทยหลายคนอาจจะยังไม่รู้ หรือเคยรู้แต่อาจจะลืมไปบ้าง ลองมาทบทวนและทำความเข้าใจเทคโนโลยีนี้กันอีกครั้ง ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จักโครงการอินทนนท์ และ CBDC คืออะไร?
โครงการอินทนนท์ ริเริ่มขึ้นในปี 2561 จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล (Central Bank Digital Currency : CBDC) ที่ออกโดยธนาคารกลางของไทย พูดง่ายๆ ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล” ซึ่ง ธปท. ได้ศึกษาพัฒนา CBDC ทั้งในแง่ของการใช้โอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale Central Bank Digital Currency: Wholesale CBDC) และได้ศึกษาในแง่การใช้งานกับรายย่อย (Retail CBDC) ในวงจำกัด และไม่มีแผนจะนำมาให้ประชาชนทั่วไปใช้งาน โดยมีรายละเอียดคือ
1. ศึกษาพัฒนาเพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ (wholesale CBDC)
ธปท. ได้ศึกษาทดลองสร้างระบบการโอนเงิน แบบไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง (Corresponding Bank) เพื่อให้ช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น settlement risk, credit risk และ operational risk ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักวินาที เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในระบบปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน
2. ศึกษาพัฒนาสำหรับรายย่อยในวงจำกัด (retail CBDC)
ธปท. ได้เตรียมความพร้อมการพัฒนา retail CBDC ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ภายใต้บริบทการเงินอนาคตที่เข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบกับรายย่อยในวงจำกัดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนา retail CBDC อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ธปท. จึงดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชน เช่น การออกรายงานและเปิดขอความเห็นเมื่อต้นปี 2564 และการทดลองในห้องปฏิบัติการร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในปี 2563
- อย่าเข้าใจผิด! เงินดิจิทัล CBDC ไม่ใช่ คริปโทเคอร์เรนซี
จุดสำคัญที่ควรรู้คือ เงินดิจิทัล (CBDC) ไม่ใช่ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) โดยความแตกต่างที่เด่นๆ ก็คือ “ผู้ออกใช้” และ “คุณสมบัติความเป็นเงิน” กล่าวคือ CBDC ออกโดย “ธนาคารกลาง” ของแต่ละประเทศ และเข้าข่ายนิยามความเป็นเงินอย่างครบถ้วน ได้แก่
- เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
- เป็นที่เก็บรักษามูลค่า กล่าวคือ มีมูลค่ามั่นคง
- เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ
โดย CBDC ถือเป็นเงินบาทในรูปดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ คือ 1 CBDC = 1 บาท และไม่สามารถนำมาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรได้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไว้รองรับบริการทางการเงินที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อการลงทุน
ในทางตรงกันข้าม คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นด้วย “เทคโนโลยีบล็อกเชน” โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนที่เงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงินและไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย อีกทั้ง คริปโทฯ เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน ที่ส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ มาหนุนหลัง จึงทำให้มูลค่ามีความผันผวนสูงตามความต้องการซื้อขายของนักลงทุน
- อัปเดต เงินดิจิทัล CBDC ในไทย ไปถึงไหนแล้ว?
มีข้อมูลอัปเดตจาก ธปท. ณ เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาระบุว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและทดสอบในหลายๆ มิติ เช่น การพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมทั้งกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต
โดยมีทั้ง “การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track)” เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับรายย่อยในวงจำกัด และ “การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track)” ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่หลากหลาย
กล่าวโดยสรุปคือ ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างทดสอบ CBDC สำหรับรายย่อย (Retail CBDC) ในวงจำกัด โดยยังไม่มีแผนที่จะนำ Retail CBDC มาใช้จริงกับประชาชนในวงกว้าง หลายประเทศยังอยู่ระหว่างศึกษาและทดสอบ CBDC ของตัวเอง ทั้งนี้ ยังไม่มีการร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนา และใช้งาน CBDC ร่วมกัน เพื่อแจกจ่ายเงินดิจิทัลให้กับประชาชนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ธปท. ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการแอบอ้างในรูปแบบต่างๆ ว่าสามารถให้บริการ Retail CBDC ได้ หรือหลอกให้ลงทุนใน Retail CBDC ของ ธปท. เนื่องจากการทดสอบนี้ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ถูกระบุไว้ก่อนแล้วเท่านั้น
-------------------------------------
อ้างอิง : CNBC, ธปท.ความคืบหน้า CBDC, ธปท.โครงการอินทนนท์, ธปท.CBDC, ธปท.Retail CBDC, กระทรวงการคลัง