'ภัยออนไลน์' ดูดเงินจากบัญชี รอบสัปดาห์ ตร.อายัด 700 ล้าน ทวงคืนได้ 90 ล้าน

'ภัยออนไลน์' ดูดเงินจากบัญชี รอบสัปดาห์ ตร.อายัด 700 ล้าน ทวงคืนได้ 90 ล้าน

ภัยออนไลน์ 5 รูปแบบเดิม ดูดเงินออกจากบัญชี “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” เหยื่อสูญ 3.2 ล้าน ร่วมแถลง ชี้ในรอบ 3 เดือนเหยื่อขออายัดเฉียด 700 ล้าน อายัดได้เพียง 90 ล้าน ย้ำแจ้งความได้ทุกโรงพัก เหตุการระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

อัปเดต ภัยออนไลน์ 5 รูปแบบเดิม ดูดเงินออกจากบัญชี ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผช.ผบ.ตร.) พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4(ผบก.น.4)  พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รองผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท.พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมกันแถลง กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นตำรวจหลอกลวง นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ให้โอนเงิน สูญเงินไป 3.2 ล้านบาทเศษ

ในรอบสัปดาห์ ที่ผ่านมา (14-20 พ.ค.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่

1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ

2.คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ

3.คดีหลอกลวงให้กู้เงิน

4.คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center)

5.คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์

พล.ต.อ.สมพงษ์ ระบุ สำหรับคดีการหลอกลวง "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" สูญเงินไป 3.2 ล้านบาทเศษ ถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ จึงได้เชิญเจ้าตัวมาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

นายวัฒนา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก็ได้รับรู้ข่าวสารว่ามีมิจฉาชีพก่อเหตุหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเองก็พยายามระมัดระวังตัวมาโดยตลอด แต่ก็มาพลาดจนได้ จึงอยากให้ตำรวจติดตามจับกุมมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์มาลงโทษให้ได้ เผื่อไม่ให้ไปก่อเหตุกับคนอื่นอีก และอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้มีผู้อื่นตกเป็นเหยื่ออีก

จุดสังเกต จากคดีหลอกลวง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย

1.การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ พูดคุยโน้มน้าวให้หลงเชื่อ

2.อ้างสถานที่เกิดเหตุไกลจากที่อยู่ผู้เสียหาย ก่อนเสนอการอำนวยความสะดวก

3.แอบอ้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ข่มขู่เพื่อให้เหยื่อเผยข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกโอนเงิน

4.การใช้บัญชีไลน์ส่วนบุคคล แต่หน่วยงานรัฐใช้บัญชีทางการ (Line Official)

5.การรับโอนเงิน ใช้บัญชีส่วนบุคคล แต่หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ใช้บัญชีองค์กร

วิธีป้องกัน จากคดีหลอกลวง "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย

1.ให้ติดต่อ call center  หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนั้นๆ โดยตรง

3.นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสาร พยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง

4.การสนทนาทุกช่องทาง ให้มีสติ จับสังเกต ท่าทาง ความผิดปกติ 

พล.ต.ต.สุระพรรณ กล่าวว่า หลังการรวบรวมพยานหลักฐาน การสืบสวนเส้นทางการเงิน จนสามารถดำเนินการออกหมายจับ ออกหมายเรียก ทั้งอายัดเงินในบัญชีม้า รวมถึงการนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวแล้ว รวมถึงการสอบปากคำ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ จว.นครสวรรค์ ซึ่งถูกแก็งคอลเซนเตอร์นำไปกล่าวอ้าง โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ติดต่อโทรศัพท์พูดคุยกับผู้เสียหาย

นอกจากนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังใช้วิธีส่ง sms หลอกให้กดเพิ่มเพื่อนไลน์แล้วให้โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งมีแอบอ้างหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน อาทิ การไฟฟ้า การประปา ธนาคาร โดยส่ง sms ให้ผู้เสียหายกดลิ้งก์เพิ่มเพื่อนไลน์ แล้วหลอกให้หลงเชื่อและกดลิ้งก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

ในรอบสัปดาห์ ที่ผ่านมา มีการแอบอ้างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดังนี้ มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ กฟน.หลอกโอนเงิน โดยส่ง sms แจ้งว่าเจ้าหน้าที่ กฟน.จดเลขมิเตอร์เกิน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์กับมิจฉาชีพซึ่งใช้ชื่อสำนักงานการไฟฟ้า และอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ กฟน.แล้วส่งลิ้งก์มาให้หลงเชื่อและกดลิงก์ เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

จุดสังเกต การเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง 

-ของปลอม 

1.เว็บไซต์ชื่อ www.xk-line.cc นามสกุลของโดเมนไม่ถูกต้อง

2.ไลน์เป็นบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทรหากันได้ 3.ใช้โลโก้ กฟน. เหมือนของจริง แต่ใช้ชื่อบัญชี “สำนักงานการไฟฟ้า”

 -ของจริง

1.เว็บไซต์ชื่อ www.mea.or.th นามสกุลของโดเมนคือ .or.th

2.ไลน์เป็นบัญชีทางการ ไม่สามารถโทรหากันได้

3.ใช้ชื่อบัญชี “การไฟฟ้านครหลวง”

-วิธีป้องกัน

1.ไม่เปิดอ่านหรือกดลิ้งก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง

2.กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) หรือ MEA call center โทร. 1130 โดยตรง

3.หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิ้งก์หรือข้อความที่มีคนส่งให้

พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า การระงับการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 – 5 พ.ค.66 มีรายละเอียด ดังนี้ Case ID ในความรับผิดชอบ 30,439 (Case ID) พงส.แจ้งธนาคารทราบถึงการรับคำร้องทุกข์ 988 (Case ID) พงส.แจ้งให้อายัดการทำธุรกรรม/อายัดบัญชี 762 (Case ID) จำนวนบัญชีที่ขอระงับ/อายัด 16,597 (บัญชี)

จำนวนเงินที่ขออายัด 685,310,290 (บาท) จำนวนเงินที่อายัดได้ 92,132,049 (บาท) (14%)

การดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 (บัญชีม้า) ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 - 17 เม.ย.66 มี ดังนี้ ออกหมายจับ จำนวน 264 คดี/268 หมาย จับกุม จำนวน 170 คดี/137 คน เจ้าของไปขอปิดบัญชี จำนวน 118 บัญชี

การดำเนินการตรวจค้น จับกุม การจำหน่ายซิมแบบลงทะเบียนพร้อมใช้ แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (ซิมเถื่อน) ได้ทำการตรวจค้นสถานที่ที่ต้องสงสัย รวมการตรวจค้นทั่วประเทศ  40 จุด พบการกระทำผิด จำนวน 4 จุด จับกุมผู้ต้องหา  6 ราย ตรวจยึดซิมโทรศัพท์ทั้งหมด 108,789 ซิม นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแล้ว 

กรณีเปิดหรือยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตร หรือ e-wallet เป็นบัญชีม้า ให้รีบนำบัตรประชาชนไปปิดบัญชีกับธนาคารโดยเร็ว เนื่องจากเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งมีอัตราโทษสูง คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน รูปแบบกลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่างๆ  วางสายโทรศัพท์ทันที ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิ้งก์ใน sms แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น

สำหรับประชาชนเมื่อถูกหลอก หรือ มีเหตุสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อ เช่น กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน และแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกไป ให้ประชาชนรีบดำเนินการ ดังนี้

1.แจ้งธนาคารทันที ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุ hotline หรือที่สาขาเพื่อให้ระงับธุรกรรมชั่วคราว ช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน

2.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรวดเร็ว ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com คลิก และต้องไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนปากคำอีกครั้ง หรือเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้เพราะธนาคารระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อระงับธุรกรรมต่อไปอีก เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441