เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’ ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’  ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

หุ้น STARK อันโด่งดังจนเป็นที่จับตาของหลายฝ่ายในขณะนี้ ท่ามกลางการคาดหวังว่าธุรกิจจะเติบโตตามกระแสรถยนต์ EV ที่สำคัญหุ้นตัวนี้ยังเคยเทรดอยู่ใน SET100 ด้วย ล่าสุดราคาหุ้นร่วงยับกว่า 90% มูลค่าตลาดหายไปหลัก “หมื่นล้าน” ภายในเวลาไม่กี่วัน สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไร มีความผิดปกติอะไรซ่อนอยู่ในงบการเงินหรือไม่

Key Points

  • หุ้น STARK ราคาร่วงลง 90% ในวันแรกหลังตลาดหลักทรัพย์ให้กลับมาเทรดชั่วคราว  ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเดิม 31,000 ล้านบาทในช่วงก่อนถูกพักการซื้อขาย มีมูลค่าลดลงเหลือเพียง 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
  • เมื่อลองเทียบหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น จะพบว่า บริษัท STARK ดำเนินกิจการจากเงินส่วนหนี้ที่สูงมาก มากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นหลายเท่า
  • หาก STARK ไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ 2 ชุด รวมมูลค่า 2,240 ล้านบาทได้ ก็จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้อีก 3 ชุดที่เหลือ อันมีมูลค่ากว่า 6,960 ล้านบาท 


เมื่อไม่นานมานี้ หุ้น STARK บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ซึ่งทำธุรกิจสายไฟและสายเคเบิล ราคาร่วงลง 90% ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเดิม 31,000 ล้านบาทในช่วงก่อนถูกพักการซื้อขาย มีมูลค่าลดลงเหลือเพียง 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

บริษัทนี้มีรายได้หลักมาจากการทำสายไฟ สายเคเบิล และหลายสายตาต่างมองว่า บริษัท STARK จะมีรายได้ที่เติบโตและรุ่งเรือง อันมาจากเทรนด์สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV) ในไทยกำลังขยายตัว ซึ่งอาจใช้สายไฟจากบริษัท STARK 

ดังนั้น ยิ่งสถานีชาร์จ EV เติบโตมากขึ้นเท่าใด ความต้องการสายไฟ STARK ก็อาจมากขึ้นตามไปด้วย และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังขยายกิจการไปยังเวียดนาม ประเทศเศรษฐกิจโตเร็วอันดับต้น ๆ ของเอเชีย

 

เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’  ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

- แบรนด์บริษัท STARK -

  

ในส่วนรายได้และกำไรบริษัท STARK จะเห็นการเติบโต ดังนี้

ปี 2562 รายได้ 11,607 ล้านบาท กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้ 16,917 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,608 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้ 27,129 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,783 ล้านบาท

งบ 9 เดือน ของปี 2565 รายได้ 21,877 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,216 ล้านบาท

 

เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’  ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

- ส่วนรายได้ กำไรสุทธิ ส่วนของผู้ถือหุ้น และหนี้สินรวมในงบการเงิน STARK (เครดิต: SET) -

 

“แต่สิ่งที่น่าแปลก” คือ เมื่อส่องงบการเงินตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่บริษัทมีรายได้และกำไรเติบโต แต่บริษัทกลับไม่เคยจ่ายปันผลออกมาแก่ผู้ถือหุ้นแม้แต่บาทเดียว

เมื่อลองเทียบหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น จะพบว่า “บริษัท STARK ดำเนินกิจการจากเงินส่วนหนี้ที่สูงมาก มากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นหลายเท่า” ดังนี้

ปี 2562 ส่วนของผู้ถือหุ้น 2,267 ล้านบาท หนี้สินรวม 10,341 ล้านบาท

ปี 2563 ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,708 ล้านบาท หนี้สินรวม 23,552 ล้านบาท

ปี 2564 ส่วนของผู้ถือหุ้น 6,504 ล้านบาท หนี้สินรวม 32,550 ล้านบาท

งบ 9 เดือน ของปี 2565 ส่วนของผู้ถือหุ้น 8,631 ล้านบาท หนี้สินรวม 38,362 ล้านบาท

สะท้อนว่าสินทรัพย์รวมของบริษัทมาจาก “ส่วนหนี้” ที่สูงกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ราว 4-6 เท่า เพิ่มความเสี่ยงการขาดสภาพคล่อง และส่งผลให้บริษัท STARK ไม่สามารถจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้จนถึงปัจจุบัน

และเมื่อเข้าไปดูที่รายการเงินสดสุทธิของกิจกรรมดำเนินงาน ไตรมาส 3 ปี 2565 ผลปรากฏว่าติดลบ 1,798 ล้านบาท หมายความว่า แม้กำไรที่บันทึกลงบัญชีสูง แต่ตามเก็บเงินสดจริงได้น้อย กลายเป็นวิกฤติสภาพคล่องและอาจทำให้ STARK ผิดนัดชำระเจ้าหนี้ต่าง ๆ ได้

 

เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’  ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

- ส่วนกระแสเงินสดของกิจกรรมดำเนินงานติดลบ (เครดิต: SET) -

 

นี่จึงเป็นอุทาหรณ์ว่า การดูเพียงรายได้และกำไรอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องดู “กระแสเงินสด” ประกอบด้วยว่า บริษัทสามารถเก็บเงินสดจริง และควบคุมหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขณะเดียวกัน STARK กำลังถูกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสภายในบริษัทด้วย



“สำหรับภาพรวมที่มาที่ไปของวิกฤติหุ้น STARK” มีดังนี้

  • บริษัทขอเพิ่มทุน แต่ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์

เมื่อปลายปี 2565 บริษัทประกาศขอเพิ่มทุน 1,500 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบัน 11 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท  เพื่อระดมทุนซื้อกิจการ LEONI ผู้ผลิตสายไฟของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสายไฟที่ใช้ในสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ในเยอรมนีและสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แผนการซื้อกิจการนี้ก็ถูกยกเลิก เนื่องจากบริษัทกังวลถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และมองว่าไม่คุ้มต่อการลงทุน จึงเลือกเก็บเงินเพิ่มทุนส่วนนี้สำหรับโครงการอื่นแทน

 

เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’  ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

- โครงสร้างธุรกิจบริษัท STARK (เครดิต: STARK) -

 

  • ซีอีโอลาออกกะทันหัน

กระทั่งต่อมา มงคล ตั้งใจพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อยู่ๆ ก็ประกาศลาออกกะทันหัน และประกรณ์ เมฆจําเริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงเข้าดำรงตำแหน่งควบซีอีโอแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 

 

  • บริษัทผิดนัดส่งงบการเงินครั้งที่ 1

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 STARK ชี้แจงว่า ไม่สามารถส่งงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้ และบริษัทคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 แทน

 

  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงดาบบริษัท STARK

เมื่อบริษัท STARK ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดเวลา ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงลงโทษด้วยการขึ้นเครื่องหมาย SP ระงับการซื้อขายหุ้น STARK  ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

 

  • ตั้งซีอีโอใหม่ และเลื่อนการส่งงบการเงินเป็นครั้งที่ 2

วันที่ 31 มีนาคม 2566 มติบอร์ด STARK อนุมัติแต่งตั้งวรุณ อัตถากร ดำรงตำแหน่งซีอีโอแทนประกรณ์ เมฆจำเริญ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป โดยประกรณ์ เมฆจำเริญ ยังคงดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อไป และบริษัทได้เลื่อนการนำส่งงบการเงินเป็นภายในวันที่ 21 เมษายน 2566 แทน จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม

 

  • ปรับบอร์ดยกชุดพร้อมเลื่อนส่งงบฯ อีกเป็นครั้งที่ 3

19 เมษายน 2566 ทาง STARK ได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ และผู้บริหารบริษัทใหม่ยกชุด โดยนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการซีอีโอของบริษัทแทนนายวรุณ อัตถากร 

บริษัทคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566

 

  • ขึ้นเครื่องหมาย C ที่หุ้น STARK

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) ที่หุ้น STARK ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เพื่อเตือนนักลงทุนว่าหุ้นบริษัทนี้กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ผู้ลงทุนจำเป็นต้องซื้อขายหุ้นด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น หมายถึง ผู้ลงทุนต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนซื้อหุ้น

 

  • เมื่อเปิดซื้อขายหุ้น STARK แล้ว หุ้นร่วงทันที 90%

เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติให้เปิดซื้อขายหุ้น STARK ชั่วคราวได้ในช่วง 1-30 มิถุนายน 2566 หลังจากที่ปิดการซื้อขายมา 3 เดือน เพราะไม่ได้ส่งงบการเงินปี 65 

ผลปรากฏว่า เมื่อเปิดการซื้อขายขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน มีการเทขายหุ้น STARK ออกมาจนราคาร่วงทำจุดต่ำสุดที่ 0.13 บาทต่อหุ้น ก่อนจะปิดตลาดที่ 0.18 บาทหุ้น หรือร่วงลงกว่า 90% ภายในวันเดียว 

 

  • ตลาดกังวลการผิดนัดชำระหนี้ของ STARK

STARK มีหุ้นกู้ทั้งหมด 5 ชุด โดยผู้ถือหุ้นกู้ 2 ชุด คือ STARK239A และ STARK249A รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,240 ล้านบาท ได้ขอให้บริษัท STARK ชำระหนี้คืนทันที และหาก STARK ไม่สามารถชำระคืนได้ ก็จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Cross Default) ในหุ้นกู้อีก 3 ชุดที่เหลือ อันมีมูลค่ากว่า 6,960 ล้านบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น STARK ยังมีหนี้จากการกู้ยืมสถาบันการเงินอีก 8,600 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมหุ้นกู้ทั้งหมด 5 ชุดกับเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ก็เป็นหนี้ทั้งหมดกว่า 17,800 ล้านบาทที่บริษัท STARK ต้องหากระแสเงินสดใช้คืน

 

  • สถานการณ์ปัจจุบัน

นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการซีอีโอคนปัจจุบันได้ชี้แจงว่า บริษัทกำลังมีปัญหาทางงบการเงินจริง และยืนยันว่าจะส่งงบการเงินได้แล้วเสร็จภายใน 16 มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังตรวจพบร่องรอยการทุจริตภายในองค์กร จึงร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สืบสวนและดำเนินคดีต่อการทุจริตครั้งนี้

 

เผย ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’  ก่อน ‘หุ้น STARK’ ร่วงยับ 90% หนี้สูง-เงินสดตึง

- โครงสร้างองค์กรบริษัท STARK ในปัจจุบัน (เครดิต: STARK) -


บทสรุปมหากาพย์ STARK จะเป็นอย่างไร ก็น่าติดตามต่อว่าภายในวันที่ 16 มิถุนายน บริษัท STARK จะสามารถส่งมอบงบการเงินทั้งปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ได้ตามสัญญาไว้ได้หรือไม่ 

แต่สิ่งที่แน่นอนคือ ปัญหาความเชื่อมั่นนี้ได้ทลายมูลค่าบริษัทจากหลักสามหมื่นล้านลงเหลือเพียงหลักสองพันล้าน นักลงทุนรายย่อยประสบภัยขาดทุนจำนวนมาก จนกลายเป็นอุทาหรณ์ว่า การเลือกบริษัท ไม่สามารถดูเพียงรายได้และกำไรได้ จำเป็นต้องดูส่วนกระแสเงินสดและหนี้สินด้วย

อีกทั้งสังคมยังตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัท STARK ที่มีปัญหางบการเงินเช่นนี้ ถึงสามารถเข้ามาอยู่ในรายการหุ้น SET100 ได้

อ้างอิง: setmarketkaohoonhooninsidewealthythaiposttodayisranewsinfoquestmgronline