อัปเดต จับ 8 ปลัดอำเภอ-นักวิชาการ-จนท.การเงิน เรียกสินบน-ยักยอกงบฯ 85 ล้าน
ตำรวจ ปปป. ร่วมกับ ป.ป.ท. จับปลัดอำเภอเมือง เรียกรับสินบน 1 แสน ค่าต่อใบอนุญาตโรงแรม พร้อมกวาดล้างการยักยอกงบ อบต. เทศบาล นักวิชาการ-จนท.การเงิน โอนเข้าบัญชีตัวเอง รวม 7 จังหวัด เสียหายกว่า 84 ล้านบาท เผยพฤติกรรมเลี่ยงถูกตรวจสอบ ชี้ทุกรายมีเอี่ยวการพนัน
กรณีจับปลัดอำเภอเมือง เรียกรับสินบน กวาดล้างการยักยอกงบฯ อบต.-เทศบาล นักวิชาการ-จนท.การเงิน
ตำรวจ ปปป.ร่วมกับ ป.ป.ท. จับปลัดอำเภอเมือง เรียกรับสินบน 1 แสน ค่าต่อใบอนุญาตโรงแรม พร้อมกวาดล้างการยักยอกงบ อบต.โอนเข้าบัญชีตัวเอง รวม 7 จังหวัด เสียหายกว่า 84 ล้านบาท เผยพฤติกรรมเลี่ยงถูกตรวจสอบ ชี้ทุกรายมีเอี่ยวการพนัน
วันที่ 14 มิถุนายน 2566 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รักษาราชการแทน รองผู้บังคับการป้องกันปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ(รรท. รอง ผบก. ปปป.)
พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงผลการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต 2 กรณีสำคัญ ทั้งกรณีการจับกุมปลัดอำเภอเมืองกระบี่ เรียกรับสินบน และกรณีการยักยอกเงินราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล รวมพื้นที่ 7 จังหวัด
กรณีแรก เป็นการจับกุม น.ส.ฐิฌาพร อายุ 42 ปี ปลัดอำเภอเมือง หลังได้รับร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ไปยื่นขอต่อใบอนุญาตธุรกิจโรงแรม และขออนุญาตเพิ่มจำนวนห้องพักต่อนายอำเภอเมืองกระบี่ เมื่อสิงหาคม 2565 แต่ผู้ต้องหาอยู่ในตำแหน่งรักษาราชการแทน และเป็นผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือการขอต่อใบอนุญาต
กระทั่งต้นพฤษาคม ที่ผ่านมา น.ส.ฐิฌาพร แจ้งกับผู้เสียหายว่าการต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจะต้องมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาท โดยอ้างว่าจะต้องนำเงินไปดูแลเจ้านายข้างบน
ผู้เสียหายเห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงมาร้องทุกข์ให้ตำรวจ ปปป. ก่อนนำมาสู่การวางแผนเข้าจับผู้ต้องหา
จากการสอบสวน พบว่า น.ส.ฐิฌาพร เคยถูกร้องเรียนการเรียกรับผลประโยชน์มาแล้วหลายครั้ง ครั้งละหลักหมื่นถึงแสนบาท และกำลังจะมีคำสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น แต่ครั้งนี้ได้เรียกรับเป็นครั้งสุดท้าย และยังพบประวัติการเล่นพนันออนไลน์อีกด้วย
พ.ต.อ.ประสงค์ ระบุ ส่วนการต่อใบอนุญาตตามระเบียบแล้ว จะเสียค่าธรรมเนียม 2 หมื่นบาท ซึ่งจะพิจารณาตามขนาดของกิจการ แต่ผู้ต้องหามีความพยายามประวิงเวลา ไม่ต่อใบอนุญาตให้ เพื่อจะเรียกรับเงิน
ต่อมา กรณี สมาชิก อบต. ยักยอกเงินราชการ หลังได้รับแจ้งจากสำนักงาน ป.ป.ท. ว่า ตรวจพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายพื้นที่
โดยโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและฝ่ายบัญชีของ อปท. ใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงรหัสการเบิกถอนเงินจากธนาคาร
ก่อนหน้านี้ มีการดำเนินคดี
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีชำนาญการ เทศบาลตำบล จ.นครสวรรค์ ที่ได้ยักยอกเงิน 215 ครั้ง เป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท
- เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี อบต. จ.พิษณุโลก ยักยอกเงิน 132 ครั้ง เป็นเงินกว่า 44 ล้านบาท
ล่าสุด มีการเปิดปฏิบัติการเพิ่มเติมอีก 5 จังหวัด
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและฝ่ายบัญชีชำนาญการ อบต. จ.นครปฐม ยักยอกเงิน 23 ครั้ง เป็นเงินกว่า 8 ล้าน 3 แสนบาท
- ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต. จ.สระบุรี ยักยอกเงิน 84 ครั้ง เป็นเงินกว่า 4 ล้าน 9 แสนบาท
- ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต. จ.ชัยภูมิ ยักยอกเงิน 60 ครั้ง เสียหายกว่า 5 ล้าน 8 แสนบาท
- นักวิชาการเงินและบัญชี อบต. จ.ศรีสะเกษ ยักยอกเงิน 8 ครั้ง เป็นเงินกว่า 5 แสน 4 หมื่นบาท
- ผู้อำนวยการกองคลัง อบต. จ.นครศรีธรรมราช ยักยอกเงิน 59 ครั้ง เป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท โดยโอนเงินไปให้กับภรรยา และลูกจ้าง ซึ่งถูกดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดด้วย
สำหรับ การตรวจจับทั้ง 7 คดี เบื้องต้นทำให้เกิดความเสียหายกว่า 84 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า ยังมีอีกหลายแห่งที่มีการลักลอบก่อเหตุลักษณะนี้ จากนี้จะร่วมสืบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ใช้เบิกจ่ายเงินของทางราชการจนนำไปสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุได้
พ.ต.ท.ศิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงาน ป.ป.ท. ระบุ สำหรับประวัติการใช้เงินของผู้ต้องหา พบว่าเกี่ยวข้องกับการเล่นพนันออนไลน์ทั้งหมด ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งบัญชีเงินเดือนก็ไม่มีความสอดคล้องกับจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี
ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้ต้องหาที่ได้รหัสผ่านบัญชี จะปิดการแจ้งเตือนการตัดเงินออก ทำให้ผู้ที่ดูแลตรวจสอบในระดับที่สูงกว่าไม่ทราบได้ว่ามีเงินออกจากบัญชี
“บางคน มอบรหัสผ่านให้กับคนที่ดูแลบัญชีด้วยความไว้ใจ บางคนเป็นญาติกันเอง และไม่ทำตามระบบที่วางไว้ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก”
นายกฤษณ์ กระแสเวส รองเลขาธิการป.ป.ท. เผยการตรวจจับครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติในระบบการเบิกจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร และในระบบการเบิกจ่ายของ อบต.จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องรายงานบัญชีที่โอนเงินไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่พบ คือ คนที่จะต้องร่วมตรวจสอบการโอนเงินก็จะมอบหมายให้เพียงคนเดียวทำธุรกรรมไปทั้งหมด