เปิดโปง 'หลอกเทรดหุ้น' เหยื่อติ๊กต๊อก 3 วันสูญเงิน 3.7 ล้าน แฉกลอุบาย
คดี 'หลอกเทรดหุ้น' เปิดโปงขบวนการโกง ผู้เสียหาย แจ้ง ผบช.สอท. หลังถูกหลอกลงทุนผ่าน “ติ๊กต็อก” สูญเงิน 3.7 ล้าน ภายใน 3 วัน ด้านตำรวจ เผยสถิติแจ้งความภัยออนไลน์ต่อวัน ทะลุ 700 ราย
เมื่อเวลา 10.00 น. นายรณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ พานายโจ๊ก (สงวนชื่อ-นามสกุล) ผู้เสียหาย เดินทางเข้าแจ้งความต่อ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) หลังถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลงทุนเทรดหุ้น ผ่านแอปพลิเคชั่น “ติ๊กต็อก” สูญเงินไปกว่า 3.5 ล้านบาท
นายโจ๊ก ระบุว่า ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มิจฉาชีพอ้างเป็นตันแทนจาก “ติ๊กต๊อก” โทรมาแจ้งว่ายอดผู้ติดตาม (follower) สูงตามเกณฑ์ คือ 1,000 คนขึ้นไป พร้อมรายได้เสริม โดยการกด “follow” ตามเพจต่างๆ ตามที่มิจฉาชีพจะส่งข้อมูลให้ หลังการพูดคุยเสร็จสิ้น เมื่อวางสายก็มีการทักแชท (แอปพลิเคชั่นไลน์) ส่งข้อความระบุว่า มาจากศูนย์บริการของติ๊กต็อก พร้อมสอบถามว่าอยากทำงานพิเศษร่วมกันกับติ๊กต็อกหรือไม่ จึงตอบปฏิเสธไป
หลังผ่านไป เกือบ 1 เดือน ตนจึงทักกลับไปเพื่อสอบถามขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งอีกฝ่ายส่งข้อมูลมาพร้อมระบุเพียงแค่ให้กดติดตามเพจที่อีกฝ่ายส่งมาให้ ซึ่งหากเอาชื่อเพจไปเสิร์ชหาข้อมูลทางติ๊กต็อกก็จะขึ้นหน้าเพจ จากนั้นก็ให้กดเครื่องหมายบวก ซึ่งการกดบวกนี้จะได้ค่าตอบแทนคลิปละ 15 บาทโอนเข้าบัญชี
จากนั้น อีกฝ่ายส่งคลิปให้อย่างต่อเนื่อง จนตนถูกดึงเข้ากลุ่ม ซึ่งมีสมาชิก 60 คน โดยไม่ทราบว่าเป็นหน้าม้าหรือไม่ จากนั้นก็จะมีการส่งงานให้กดติดตามเช่นเดิมเข้าไปในกลุ่ม เมื่อผ่านไปสักระยะ ก็จะมีการให้อัพเงินเพิ่มขึ้น และตนก็ถูกดึงเข้ากลุ่มเพื่อการลงทุน ซึ่งเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 100 บาท ตนจึงลงทุนแล้วได้ค่าตอบแทนกลับมา 130 บาท ตามที่อีกฝ่ายระบุไว้
นายโจ๊ก กล่าวอีกว่า หลังกดไลค์ (Like) ในช่องยูทูปเสร็จสิ้น ก็มีการแจ้งเพิ่มวงเงินขึ้นไปอีก จาก 200 บาท 500 บาท ไปจนถึง 5,900 บาท จากนั้นก็จะถูกเชิญเข้าไปทำภารกิจที่อีกฝ่ายอ้างว่า เป็นการเทรด ซึ่งการลงทุนจะเริ่มต้นที่ 5,990 ไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งการลงทุนของตนจบอยู่ที่หลักล้านบาท แล้วตนถอนเงินออกมาไม่ได้ เพราะถูกอ้างว่าต้องชำระภาษีตามกฎหมาย เป็นยอด 60%จะได้ 1 ยอด และยอด 40%จะได้ 2 ยอด ตนชำระไปแล้ว 1 ยอด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ส่วนเบอร์โทรศัพท์ที่มิจฉาชีพโทรมาในครั้งแรกนั้น ตนไม่ทราบว่าเอามาจากไหน เพราะไม่เคยโพสต์เบอร์โทรศัพท์ลงในติ๊กต็อกแต่อย่างใด
นายโจ๊ก ระบุว่า การโอนเงินทุกครั้ง อีกฝ่ายจะให้ทำภารกิจ ส่วนเรื่องที่ต้องทำให้โอนเงินเพิ่มนั้น อีกฝ่ายแจ้งว่าตนมีข้อผิดพลาด อาทิ ไม่ใส่บันทึกสลิปการโอนเงิน ,ไม่ใส่จุดทศนิยมในสลิป ,หรือ โอนเงินไปผิด เช่นตนโอนไป 2 ยอด คือ เงินจำนวน 49,900 และ 79,900 บาท อีกฝ่ายบอกว่า ผิดขั้นตอนต้องโอนเป็นยอดเดียวกันคือประมาณ 130,000 บาท ตนก็ต้องหาเงินมาใหม่เพื่อมาโอนเงิน และต้องการได้เงินที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้คืนมา จนทำให้ขณะนี้ตนสูญเงินไปแล้ว 3,788,215 บาท ภายในเวลา 3 วัน
พล.ต.ท.วรวัฒน์ ระบุว่า เรื่องนี้ ตำรวจไซเบอร์ จะเร่งตรวจสอบเส้นทางการเงินและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป พร้อมฝากเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อ พวกหลอกให้ซื้อขายสินค้าหรือทำภารกิจในออนไลน์ ตอนนี้ยอดแจ้งความอาชญากรรมเทคโนโลยีต่อวันทะลุ 700 ราย ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อกลุ่มหลอกลวงเหล่านี้
ขณะที่ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) ระบุว่า คดีนี้หากสามารถไล่อายัดเงินทันก็สามารถนำเงินคืนมาได้ แต่ยอมรับว่า ยาก เพราะคนร้ายมักรีบโอนเงินส่งต่อไปแปรสภาพเป็นสินทรัพย์อื่นแล้ว สิ่งสำคัญคือป้องกันตนเอง อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อ ไม่มีงานไหนที่ต้องโอนเงินก่อนถึงจะได้เงิน ไม่มีอยู่จริง
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายหากรู้ตัวว่า ถูกหลอก ให้รีบแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีดำเนินการอายัดบัญชีได้ 3 วัน โดยระหว่างนี้ให้รีบแจ้งตำรวจไซเบอร์หรือตำรวจท้องที่เพื่อให้อายัดบัญชีต่ออีก 7 วัน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ก.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือสามารถโทรมาที่สายด่วน 1441 ของตำรวจไซเบอร์เพื่อแจ้วความร้องทุกข์หรือตรวจสอบข้อมูลที่อาจจะถูกผู้เสียหายหลอกได้ตลอด 24 ชั่วโมง